พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลาง ( บุญคง ณ บางช้าง) วีรบุรุษที่ถูกลืมและถูกกล่าวหาดังข้อความว่า บัดนี้เมืองถลางก็เสียแก่อ้ายพม่าข้าศึก ด้วยเหตุเจ้าเมืองกรมการประมาทหมิ่น มิได้จัดแจงตระเตรียมเสบียงอาหาร กระสุนดินประสิวไว้สำหรับบ้านเมือง ขุกมีราชการมาจึงเสียท่วงที... เป็นหนังสือของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม (บุญมา) ถึงเจ้าพระยาไทรบุรี เมื่อ วันศุกร์ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม จ.ศ. ๑๑๗๓ ตรีศก พ.ศ. ๒๓๕๔
พระยาถลางบุญคง นามเดิมคือ บุญคง เป็นผู้สืบเชื้อสายราชินีกุล บางช้าง สายห่าง จากหนังสืออธิบายราชินีกุลบางช้างฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า ...วงศ์ท่านยายเจ้าน้อย ชั้นที่ ๓...คุณตาขุนทอง บุตรท่านตาสระ มีบุตรคือ ๑ บุตรชื่อ บุญคง เปนพระยาถลาง ผู้ว่าราชการเมืองถลาง... ท่านยายเจ้าน้อยคือ ท้าวแก้วผลึก (น้อย ) เป็นน้องคนเล็กของพระอัยยิกาของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คุณตาขุนทองเป็นนายตลาดบางช้างสมัยกรุงศรีอยุธยา นายบุญคงมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งชื่อ คุณอิน คือ ท่านผู้หญิงอิน ภรรยาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ( น้อย )
นายบุญคงได้รับราชการจนเป็นที่ พระยาอภัยสงคราม และมีความสนิทสนมกับท่านผู้หญิงอินมาก จนมีคนเข้าใจว่าเป็นพี่เป็นน้องกันจริงๆ
ในปีพ.ศ. ๒๓๓๖ เมื่อพระยาถลางเทียนยกกองทัพเรือไปตีเมืองมะริด ได้สูญหายไปทั้งกองทัพรวมทั้งกองทัพเมืองหลวง คือ เจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหม ( ปลี ) ที่ยกไปช่วยเมืองทวายโดยอ้างว่าขอเป็นเมืองขึ้นไทยตามเดิม แต่เอาทหารไปเพียง ๕๐๐๐ รวมทหารหัวเมืองอย่างเมืองถลาง ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งที่ไม่เคยยกทัพไปตีเมืองใดคงไม่เกินหมื่น เมืองมะริดมีเกาะแก่งมากมายและเป็นเมืองท่าที่สำคัญ กองทัพเรือของพระยาถลางเทียน จึงถูกพม่าตีตรลบ สูญหายไปดังกล่าวแล้ว
ปีพ.ศ. ๒๓๓๗ ทางเมืองหลวงคงหาคนพื้นที่ที่จะมาเป็นพระยาถลางไม่ได้ จึงจำต้องเอาคนกรุงเทพฯลงมาเป็นพระยาถลาง ดังข้อความในพงศาวดารเมืองถลางว่า แล้วโปรดฯให้ท่านพระยาถลาง (บุญคง)ออกมาเป็นพระยาถลาง... พระยาอภัยสงครามเมื่อได้รับคำสั่งจึงอพยพครอบครัวลงมาที่เมืองถลาง เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลาง
ฝ่ายพระตะกั่วทุ่ง ขุนดำ เป็นชาวนครศรีธรรมราช แต่ครั้งยังเป็น หลวงพิพิธสมบัติ เจ้าพระยานครได้ให้ไปเก็บส่วยอากรดีบุกที่เมืองถลาง แล้วได้เป็นพระตะกั่วทุ่ง ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง และได้น้องสาวพระยาถลางบุญคงเป็นภรรยา พระตะกั่วทุ่งต่อมาได้เป็นพระยาโลหภูมิพิสัย บุตรชายคนหนึ่งคือ พระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี (ถิน) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง ( ต้นสายสกุล ณ ตะกั่วทุ่ง )
เมื่อพระตะกั่วทุ่ง ขุนดำขอแบ่งเกาะปูเล้าปาหยี เกาะนมสาว และเขารายาปีหนี ไปขึ้นเมืองตะกั่วทุ่ง พระยาถลางบุญคงก็ให้ไป
ครั้นถึงปีพ.ศ. ๒๓๕๒ ได้ข่าวพม่าจะยกทัพมาตีเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นเมืองถลางตั้งเมืองและค่ายอยู่ที่บ้านดอน ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ไม่เหมาะสำหรับตั้งรับข้าศึก เพราะเป็นที่โล่ง ไม่มีคูคันคลองกั้น และไม่มีทางหนีเมื่อเวลาจวนตัว พระยาถลางจึงเกณฑ์คนเข้าค่าย พร้อมเตรียมเสบียงอาหาร จัดหาอาวุธเพิ่มเติม ถึงแม้พม่าจะร้างราไปกว่า ๒๔ ปี
ฝ่ายพม่าในปีพ.ศ. ๒๓๕๑ จ.ศ. ๑๑๗๐ สัมฤทธิศก ปีมะโรง พระเจ้าอังวะรับสั่งให้ อะเติงวุนคุมกองทัพ ๓๐๐๐๐ ให้ยกไปตีกรุงไทย พร้อมรับสั่งให้กรมการเมืองทวายจัดข้าวสารให้ได้ ๒๐๐๐๐ สัด ( ๑ สัดเท่ากับ ๒๐ ลิตร ) ข้าวเปลือก ๒๐๐๐๐๐ สัด เจ้าเมืองทวายจึงเกณฑ์ราษฎรตำข้าวสารใส่ยุ้งใหม่ รวมทั้งจัดหาข้าวเปลือก ในขณะที่อะเติงวุนตั้งทัพอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ฝ่ายเจ้าเมืองจิตตองกับเจ้าเมืองย่างกุ้งกล่าวว่าเดิมพม่ากำลังจะทำสัญญากับไทย และนัดกันลงนามที่ด่านเจดีย์สามองค์ในเดือน ๔ แต่อะเติงวุนบอกว่าตนได้เตรียมรี้พล พร้อมเสบียงอาหารไว้พร้อมแล้ว จะมาห้ามทัพยกไปตีเมืองไทยได้อย่างไร จึงทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าอังวะหาว่าเจ้าเมืองทั้งสองขัดขวางที่จะยกทัพไปตีไทย รับสั่งลงมาให้ปลดเจ้าเมืองทั้งสองเสีย
อะเติงวุนจึงยกทัพด้วยพล ๒๘๐๐๐ นาย ลงมาตั้งทัพที่เมืองทวาย ในเดือน ๖ ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๗๑ เอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒ แล้วเกณฑ์ให้สร้างเรือที่สามารถบรรจุคนได้ ๒๐/๓๐/๔๐/๕๐ คนต่อลำ รวม ๒๓๗ ลำ ให้เกณฑ์ชาวบ้านขุดร่อนหาแร่ดีบุก ให้ปลูกข้าวไร่ตามไหล่เขา และทำนาในที่ลุ่ม และยังได้สร้างวัง เลือกคนที่สนิทมาเป็นพวกอีกมาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร จนมีคนทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าอังวะ หาว่าเป็นกบฏ เมื่ออะเติงวุนทราบดังนั้น จึงทำหนังสือขึ้นไปว่า ตนมิได้เป็นกบฏ ถ้าหากไปตีไทยไม่ได้ ให้ประหารตนเสีย
อะเติงวุนถือพล ๖๐๐๐ จึงตั้ง งะอุน เจ้าเมืองทวาย เป็นแม่ทัพถือพล ๓๐๐๐ เจยะตุเรียงจอ เป็นปลัดทัพฝ่ายขวา สิงขะตุเรียงเจ้าเมืองมะริด เป็นปลัดทัพฝ่ายซ้ายถือพล ๑๐๐๐ ให้พละยางอ่องงะมะยะตะเล เป็นยกกระบัตรทัพ รวมทหาร ๑๐๐๐๐ นาย ปืนหลัก ๒๐๐ กระบอก ปืนคาบศิลา ๓๕๐๐ กระบอก ปืนหน้าเรือ ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว ๒๐ กระบอก รวมทั้งหมด ๓๗๒๐ กระบอก พร้อมจ่ายดินปืนกระสุนและข้าวสารคนละ ๓ สัด เรือ ๒๓๗ ลำ ให้ยกไปตีเมืองถลาง
เมื่อหัวเมืองปักษ์ใต้ทราบข่าวว่า พม่าเตรียมยกมาตีไทย โดยเฉพาะเมืองถลางและหัวเมืองใกล้เคียง เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งเมืองถลางจึงมีใบบอกไปยังเมืองหลวง ฝ่ายกรุงเทพฯจึงให้พระยาจ่าแสนยากรคุมพล ๕๐๐๐ เดินทางบกลงไปก่อน ให้เจ้าพระยาพลเทพไปรักษาเมืองเพชรบุรี ถ้าหากการทัพคับขันก็ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นทัพหน้า ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นทัพหลวง แล้วจะโปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรยกทัพลงไปอีกทัพหนึ่ง รวมสองทัพเป็นพล ๒๐๐๐๐
ฝ่ายหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อได้ทราบข่าว และได้รับคำสั่งจากเมืองหลวงจึงเกณฑ์คน เมืองนครศรีธรรมราช ๑๐๐๐ เมืองสงขลาและปัตตานี ๑๐๐๐ เมืองไชยา ๑๐๐๐ รวมเข้ากับกองเรือเป็นพล ๓๗๐๐ แล้วให้พระยาพิชัยบุรินทร์ยกไปทางริมทะเลจำนวนพล ๑๐๐๐ กำหนดให้ยกทัพพร้อมกันในวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔
เมื่อหัวเมืองต่างๆได้รับคำสั่งให้เตรียมทัพ ปรากฏว่าเกิดปัญหาขึ้นคือ เมืองพัทลุงเมืองสงขลาไม่มีปืนใหญ่ เหล็กที่จะทำฟากต่อเรือก็ไม่มี เงินที่จะไปซื้อปืนมาเพิ่มเติม ซื้อเหล็กก็ไม่มี จึงหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการไปยืมเงินคหบดีจีนที่คุ้นเคยได้แก่ นายอ้น จีนพัด จีนฉิน จีนกัวโหล จีนอิ่ม จีนซ่ง พระกปิตันพานิช (Norman Macalister) เจ้าเมืองเกาะหมากปีนัง และเซควิสิเตโข เมื่อได้เงินมาแล้วจึงไปติดต่อพระกปิตันที่เมืองเกาะหมาก ซื้อปืนมะเรี่ยมชนิดต่างๆ มีดปลายปืน ดินปืน กระสุนขนาดต่างๆ เหล็กฟาก ตะปูเหล็ก เรือ เป็นต้น สิ่งของบางอย่างพระกปิตันได้ให้ยืม เช่น ปืน และให้สิ่งของอุปโภคบริโภคเช่น เกลือ ยาสูบ เหล้าแดง พริกเทศ กะปิ เป็นต้น อาวุธปืนที่ซื้อมาเป็นปืนหน้าเรือ และปืนสำหรับนายทัพนายกอง ฝ่ายพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชได้ต่อเรือขึ้นใหม่ ขนาดปากกว้าง ๕ ศอก ยาว ๑๐ วา คนกรรเชียง ๖๐ รวม ๒๐ ลำ
ฝ่ายเมืองถลาง พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลางบุญคง สั่งให้เตรียมพร้อมตั้งแต่ทราบข่าวจากพ่อค้าเดินเรือว่าพม่ายกมาตีเมืองถลางแน่ จึงได้ตรวจตรารั้วกำแพงเมืองซึ่งย้ายเมืองไปที่บ้านดอน สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมสรรพ เสบียงอาหาร และฝึกผู้คน ซึ่งมีประมาณ ๒๐๐๐ เศษ
ฝ่ายกองเรือพม่าปีกขวา มีเจยะตุเรียงจอเป็นแม่ทัพคุมพล ๓๐๐๐ ยกพลถึงเมืองตะกั่วป่า ยกเข้าเมือง แต่ปรากฏว่ากรมการเมืองและราษฎรต่างหนีเข้าป่าไปสิ้น ทิ้งอาวุธไว้คือ ปืนขนาดกระสุน ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว จำนวน ๑๓ กระบอก ปืนหลัก ๒ กระบอก คาบศิลา ๙ กระบอก รวม ๒๔ กระบอก ข้าวเปลือกประมาณ ๒๐๐๐ สัด แล้วให้ทหารขนใส่เรือ จับได้ผู้หญิงชรา ๒ คน
รุ่งขึ้นกองเรือของสิงขะตุเรียงล่องลงมาถึงค่ายบ้านนาเตย ( จากปากพระหรือท่าฉัตรไชย ไป โคกกลอย นาเตย บางคลี ท้ายเหมือง ) คุมพล ๔๐๐๐ กรมการเมืองและผู้คนต่างหนีเข้าป่าไปสิ้น เหลือทิ้งไว้คือ ปืนชนิดต่างๆรวม ๓๘ กระบอก ข้าวเปลือกประมาณ ๓๐๐๐ สัด
แม่ทัพงะอูจึงยกพลลงมาตั้งทัพที่บ้านนาเตย มีพล ๓๐๐๐ แล้วจัดทัพเสียใหม่ ให้เจยะตุเรียงเป็นนายทัพเรือถือพล ๓๐๐๐ กองหนึ่ง ให้สิงขะตุเรียงถือพล ๓๐๐๐ เดินไปทางบกกองหนึ่ง แล้วให้ทหาร ๑๐๐๐ นายอยู่รักษาเรือที่บ้านนาเตย ให้ยกลงไปพร้อมกันที่ปากพระ แล้วยกพลพร้อมกันเข้าตีเมืองถลาง โดยเจยะตุเรียงจอยกกองเรือไปทางฝั่งตะวันตกทางบ้านสาคู สิงขะตุเรียงยกข้ามช่องปากพระเดินบกลงไปเมืองถลาง ฝ่ายงะอูแม่ทัพยกกองเรือไปทางฝั่งตะวันออก
ฝ่ายกองเรือเจยะตุเรียงจอยกมาถึงหาดบ้านสาคู เกิดปะทะกับกองลาดตระเวนเมืองถลาง กองลาดตระเวนจึงถอยกลับลงไปเข้าค่ายเมืองถลางบ้านดอน กองทหารของเจยะตุเรียงจอยกลงไปถึงบ้านตะเคียนแล้วพักพลอยู่ ๗ วัน เมื่อกองทหารของสิงขะตุเรียงเดินทางบกยกมาถึง จึงขยายปีกกองทัพเข้าล้อมค่ายเมืองถลางบ้านดอนไว้ รวม ๑๕ ค่าย แต่ล้อมไว้ไม่ได้หมดทั้งสี่ด้าน เหลือแต่ทางทิศใต้ว่างไว้เพราะจำนวนพลรบไม่เพียงพอ
ในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๑๒ เวลากลางคืนจึงยกเข้าตีค่ายเมืองถลางพร้อมกัน ฝ่ายทหารเมืองถลางได้ยิงปืนใหญ่ออกมาทุกทิศทางถูกทหารพม่าล้มตายไปประมาณ ๕๐๐ คน ที่เหลือได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก แม่ทัพจึงสั่งให้ถอยทัพเข้าค่าย
ฝ่ายงะอูแม่ทัพ เมื่อสั่งการแล้ว จึงให้กองเรือของตนเคลื่อนพลไปทางฝั่งตะวันออกของเกาะถลาง ถึงแหลมยามูได้เกิดการปะทะกับกองเรือของพระยาท้ายน้ำซึ่งแตกพ่ายหนีไป แม่ทัพงะอูจึงยกเข้าตีเมืองภูเก็ตท่าเรือจนแตก แล้วตั้งบัญชาการทัพที่เมืองภูเก็ตท่าเรือ ฝ่ายพระยาพิไชยบุรินทร์ยกทัพ ๑๐๐๐ มาถึงเมืองพังงา ไม่มีเรือที่จะข้ามไปเมืองถลาง จึงติดอยู่แค่นั้น
เมื่องะอูทราบว่าเจยะตุเรียงจอถอยทัพเข้าค่ายไม่สู้เต็มที่ จึงสั่งให้สิงขะตุเรียงไปจับเจยะตุเรียงจอมาฆ่าเสีย แต่เจยะตุเรียงจอขอแก้ตัว หากเข้าตีค่ายถลางไม่แตกตนก็จะขอตาย งะอูจึงยอมปล่อยเจยะตุเรียงจอให้ไปแก้ตัวใหม่ แต่ให้บังเอิญแม่ทัพงะอูถึงแก่กรรมกะทันหันที่เมืองภูเก็ตท่าเรือนั่นเอง ทำให้ไม่มีผู้สั่งการเป็นแม่ทัพ กองทัพปีกขวาซ้ายคือ เจยะตุเรียงจอกับสิงขะตุเรียงจึงถอยทัพลงเรือขึ้นไปรอคำสั่งใหม่ที่ปากจั่นเมืองระนองตั้งทัพอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง
ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๕๒ ฝ่ายอะเติงวุนเมื่อทราบดังนั้น จึงตั้งให้งะขานเป็นแม่ทัพลงไปจับเจยะตุเรียงจอปลัดขวาและสิงขะตุเรียงปลัดซ้ายฆ่าเสีย แล้วตั้งแยจักตะกุนเป็นปลัดขวา แยละสุระจอเป็นปลัดซ้าย เมื่อแม่ทัพคนใหม่มาถึงปากจั่นจึงประชุมนายทหารทั้งหมด ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งหลายจึงว่าแก่งะขานแม่ทัพว่า ขอให้งดการฆ่านายทัพทั้งสองไว้ก่อน ให้ยกทัพไปรบแก้ตัวใหม่ หากพ่ายแพ้กลับมาก็ให้ฆ่าเสีย แม่ทัพงะขานยอมให้ไปแก้ตัว แล้วมอบพลทหารจำนวน ๔๐๐๐ให้เจยะตุเรียงจอ เป็นปลัดขวา ให้ทหาร ๓๐๐๐ แก่สิงขะตุเรียงเป็นปลัดซ้ายยกลงไปตีเมืองถลาง
ในขณะเดียวกันอะเติงวุนมีหนังสือถึงงะขานบอกว่าได้ให้ ตุเรียงสาละกะยอเป็นแม่ทัพถือพล ๘๐๐๐ ยกไปตีเมืองชุมพรก่อน แล้วให้ยกลงไปสมทบตีเมืองถลาง
ฝ่ายเมืองถลางเมื่อทราบข่าว จากพ่อค้าเดินเรือสำเภาว่า พม่ายังคงตั้งทัพอยู่ที่ปากจั่นไม่ทราบว่าจะไปตีเมืองใด พระยาถลางบุญคงจึงต้องเตรียมผู้คนเสบียงอาหาร อาวุธยุทธปัจจัยไว้พร้อม และรอกองทัพจากเมืองหลวงและหัวเมืองให้มาช่วยสนับสนุนรักษาเมืองถลาง
กองทหารพม่าจำนวน ๗๐๐๐ นายมีเจยะตุเรียงจอกับสิงขะตุเรียงเป็นนายทัพ จึงยกลงมาล้อมเมืองถลางไว้ แต่ไม่สามารถเข้าตีได้สะดวกเพราะทางค่ายเมืองถลาง ยิงปืนใหญ่เข้าใส่ทุกวัน
ฝ่ายตุเรียงสาละกะยอแม่ทัพยกไปตีเมืองชุมพร ปรากฏว่าทหารหนีทัพเจ็บป่วยตายเสียเป็นจำนวนมากจากพลรบ ๘๐๐๐ เหลือเพียง ๖๐๐๐ นาย เมื่อได้เมืองชุมพรแล้วจึงยกลงไปเมืองเมืองถลาง ทหารเกิดเจ็บป่วยล้มตายและหนีทัพเสียอีก เหลือทหารเพียง ๕๐๐๐ ยกเข้าถึงเมืองถลาง รวมพลทหารฝ่ายพม่าที่ล้อมเมืองถลางอยู่นั้น ๑๒๐๐๐ นาย แล้วยกเข้าตีพร้อมกัน
พม่าล้อมเมืองถลางอยู่ประมาณ ๒๗ วัน เมืองถลางยังไม่มีวี่แววว่า ทัพหัวเมืองและเมืองหลวงยกเข้ามาช่วยแต่ประการใด ฝ่ายกองทัพพม่า จึงยกเข้าตีพร้อมกัน ด้วยจำนวนทหารที่มีประมาณ ๒๐๐๐ เศษ ยากที่จะต่อสู้กับข้าศึกได้ที่ยกกันมาถึง ๑๒๐๐๐คน ชาวถลางได้ต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอนและไม่มีทางที่จะหนีรอดไปได้เพราะพม่าล้อมอยู่ทุกทิศทาง จนวินาทีสุดท้าย เมืองถลางก็แตกเมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๕๒ จ.ศ.๑๑๗๑(ปีใหม่เริ่มเดือนเมษายน) เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ พม่าเผาเมืองเสียราบเรียบ ได้ปืนใหญ่ขนาดกระสุน ๓ ๔ นิ้ว จำนวน ๘๔ กระบอก ปืนหลัก ๒๐ กระบอก ปืนคาบศิลา ๕๐ กระบอก รวม ๑๕๔ กระบอก ดีบุกที่ถลุงแล้ว ๓๐๐๐ ปึก จับชาวบ้านได้ ๓๐๐ เศษส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนคนหนุ่มถูกฆ่าทิ้ง ชาวถลางสู้ศึกคาค่ายครั้งนี้ล้มตายกว่าพันคน พระยาถลางบุญคงสู้ข้าศึกจนถูกจับคาค่ายเช่นเดียวกัน พม่าจึงส่งสิ่งของและคนไปยังเมืองทวาย อะเติงวุนทำหนังสือส่งพระยาถลางบุญคงไปเมืองหลวงอังวะ
การสงครามคราวนี้ พวกฝรั่งที่เดินทางผ่านมาพบเห็นและถูกพม่าจับกุมก็มีดังจดหมายของมองซิเออร์ ราโบ มีไปถึง มองซิเออร์เรกเตนวาลด์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๕๓(ปฏิทินไทยยังอยู่ในพ.ศ. ๒๓๕๒) ได้เล่าถึงเมืองภูเก็ตท่าเรือที่ถูกพม่าเผาเมืองและป้อม พม่าได้ล้อมและจับผู้คนเป็นเชลยไว้มาก แต่ที่หนีเข้าไปในป่าก็มี ราโบได้มาถึงภูเก็ตก่อนที่พม่าจะเข้าตีเพียงวันเดียว และได้เห็นพม่ายกพลขึ้นบก ราโบจึงรีบหนีเข้าไปในค่ายของไทย เมื่อค่ายแตกราโบถูกจับทรมาน แต่มีนายทหารพม่าซึ่งสามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้ ได้ช่วยเหลือให้ตนพ้นภัย
ชาวเมืองถลางที่ล้มตาย หนีรอดไปได้ และถูกจับเป็นเชลยและพระยาถลางบุญคง จึงเป็นวีรบุรุษเมืองถลางอย่างแท้จริง แต่ไม่มีอนุสรณ์สถาน หรือสดุดีวีรกรรม ให้แก่พวกเขาจนบัดนี้ มิหนำซ้ำกลับปรักปรำหาว่าเกณฑ์คนเข้าค่ายไม่ทัน แต่ความพร้อมของทหารหัวเมือง ซึ่งได้แก่เจ้าเมืองและกรมการเมืองไม่มี ความพร้อมของการสั่งการและเตรียมการ ตลอดจนการข่าวของเมืองหลวงอ่อนแอไม่เด็ดขาด ทั้งๆที่รู้ว่าเมืองถลางเป็นเกาะมหาสมบัติเป็นขุมทรัพย์ที่ชาวต่างชาติต้องการได้ไว้ รวมทั้งพม่าด้วย
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
Title : Praya Phetkirisipichaisongkram ( Boonkong na Bangchang )
: Somboon Kantakian