Bookmark and Share Add to Favorites  
ภูมิอากาศจังหวัดภูเก็ต
  ความเร็วลมทั่วโลก
  สภาพอากาศจังหวัดภูเก็ต
  Phuket Weather Today
  10 Day Weather Forcast for Phuket
  สภาพอากาศภาคใต้ฝั่งตัวันตก
  การเปลี่ยนองศา
แผ่นดินไหวและสึนามิ
  สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
  เรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิ
  คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภูเก็ต - You Tube
  แผ่นดินไหวทั่วโลก (USGS)
รวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ต
  PHUKET HERITAGE
  ทำเนียบสายตระกูล ณ ระนอง
สถาบันอุดมศึกษาในภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
  วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต
โรงเรียนในภูเก็ต
  โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา
  โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
  โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร
  โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต
  โรงเรียนราไวย์เรืองวิทย์
  โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต
  โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง
  โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม
บริการวิชาการ
  สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต
  สนง.วัฒนธรรมภูเก็ต
  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.ภูเก็ต
ค้นข้อมูลจากหอสมุด
  Library of Congress
  The British Library
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  มหาวิทยาลัยมหิดล
ค้นเอกสาร
  พระราชบัญญัติ
  ราชกิจจานุเบกษา
สถาบันศาสนา
  @ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  สมบูรณ์อินโฟ
  ตระกูลแซ่หลิน
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
.

พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง ( เทียน ประทีป ณ ถลาง )

 

 

       พระยาถลางเทียน หรือพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนสู้รบกับพม่าสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ตซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ

         พระยาถลางเทียน เดิมชื่อ เทียน เป็นบุตรคนที่ ๒ ของคุณหญิงจัน กับหมื่นศรีภักดี 

        เมื่อคุณหญิงจันอายุประมาณ ๑๖ ปีพระยาถลาง ( ทองคำ )ผู้เป็นบิดาจึงเลือกคู่ครองให้ คือ หมื่นศรีภักดี มีศักดินา ๓๐๐ ไร่ เป็นนายแขวงเมืองตะบาน แขวงเมืองตะบานขึ้นกับเมืองท่าทอง ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหลวงวิสุทธิสงครามเป็นผู้รักษาเมือง หมื่นศรีภักดีผู้นี้เป็นบุตรจอมนายกองหรือพระนายกอง ชาวนครศรีธรรมราช มารดาเป็นชาวตะกั่วทุ่งชื่อ บุญเกิด ต่อมาบวชชี คนทั่วไปเรียกขานว่า คุณชีบุญเกิด 

        หลังจากแต่งงานแล้ว หมื่นศรีภักดีจึงย้ายมารับราชการที่เมืองถลาง  คุณหญิงจันกับหมื่นศรีภักดีได้ให้กำเนิดธิดาคือ คุณปราง ประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๕ จ.ศ. ๑๑๑๓ ตรีศก ปีวอก พอถึงพ.ศ. ๒๒๙๗ จ.ศ. ๑๑๑๕ เบญจศก วันพฤหัสบดี เดือน ๙ ปีจอ ได้ให้กำเนิดบุตรชายคือ เทียน ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

        ในปีพ.ศ. ๒๒๙๘ หมื่นศรีภักดีได้ถึงแก่กรรมกะทันหัน เมื่อคุณหญิงจันอายุเพียง ๒๐ ปี ขณะที่ เด็กชายเทียน อายุได้ขวบเศษ  ต่อมาปีพ.ศ. ๒๓๑๐ คุณหญิงจันได้กับหลวงพิมลนามเดิมว่า ขัน เจ้าเมืองกระบุรี แขวงชุมพร และมีบุตรธิดากับหลวงพิมลขัน คือ คุณทอง นายจุ้ย นายเนียม คุณกิ่ม คุณเมือง

        นายเทียนเป็นบุตรชายคนหัวปี จึงต้องเตรียมตัวที่จะสืบทอดการปกครองเมืองถลางแทนบิดาเลี้ยงในอนาคต นายเทียนจึงต้องเรียนเขียนอ่านภาษาไทย และคงจะได้เรียนภาษามาเลย์ และการสื่อสารภาษาจีน ภาษาอังกฤษ การคิดเลข การคิดภาษีดีบุก การตรวจดูคุณภาพแร่ดีบุก ถึงแม้จะมีเสมียนจีนรับผิดชอบอยู่ก็ตาม การต่อสู้ป้องกันตัวการใช้อาวุธชนิดต่างๆ เช่น หอก ดาบ ทวน กระบี่ กริช ทั้งชนิดสั้นและยาว รวมทั้งการใช้อาวุธปืนสั้น ปืนคาบศิลา ทั้งของส่วนตัวสำหรับฝึกยิงและสอนทหารให้ใช้อาวุธเหล่านั้น ต้องรู้จักการยิงปืนใหญ่ขนาดกระสุน ๓/๔/๕ นิ้วและฝึกยิงจนรู้วิถีกระสุน จนชำนาญและสามารถที่จะสอนคนอื่นได้

        ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้ประเทศ และรวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นอันเดียวกันแล้ว จึงทรงตั้งให้นายคางเซ่งหรือคางเส็งเชื้อจีนให้มาเป็นพระยาถลางประมาณพ.ศ. ๒๓๑๓ – ๒๓๑๖ เกิดการแย่งชิงตำแหน่งเจ้าเมืองขึ้นเมื่อนายอาดน้องชายคุณหญิงจันฆ่าพระยาถลางคางเส็งเสีย แล้วตนขึ้นเป็นพระยาถลางอาดได้เพียงสองปีระหว่างพ.ศ. ๒๓๑๗ – ๒๓๑๘ ก็ถูกฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน เข้าใจว่าขณะนั้นหลวงพิมลขันคงเป็นพระปลัด จึงขึ้นเป็นพระยาถลางขัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๙

         เมื่อนายเทียนเติบโตเป็นหนุ่ม จึงรับราชการทำงานกับพระยาถลาง ต่อมาคุณหญิงจันมารดา จึงขอบรรดาศักดิ์จากเจ้านครศรีธรรมราช ให้ไปเป็นผู้รักษาเมืองภูเก็จบ้านท่าเรือ ในบรรดาศักดิ์ที่ เมืองภูเก็จ ( บรรดาศักดิ์ เมือง มีศักดินา ๖๐๐ หรือ ๘๐๐ หรือ ๑๐๐๐ ไร่ แล้วแต่เมืองเล็กหรือใหญ่หรือมีความชอบในแผ่นดิน ) ประมาณพ.ศ. ๒๓๒๐

        การถึงแก่กรรมของพระยาถลางอาด พระยาถลางพิมลอาจมีส่วนรู้เห็นด้วยก็ได้ เมืองภูเก็จเทียนจึงทำเรื่องฟ้องร้องเอาผิดกับพระยาพิมล ไปที่เมืองนครศรีธรรมราช และที่เมืองหลวง เจ้านครจึงให้คนมาจับเอาตัวไปสอบสวนที่เมืองนคร ประมาณพ.ศ. ๒๓๒๓

        ถึงพ.ศ. ๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี พ.ศ. ๒๓๒๕ ในช่วงที่พระยาถลางพิมลต้องโทษไปเมืองนครศรีธรรมราช คงมีพระปลัดทองพูนเป็นผู้รักษาการเจ้าเมืองถลาง ทางเมืองหลวงได้มีการกวาดล้างพระราชวงศ์ตากและขุนนางผู้ใหญ่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้ง และมีความคิดเห็นคนละด้าน ประมาณพ.ศ. ๒๓๒๗ ทางเมืองหลวงจึงส่งพระยาธรรมไตรโลก พระยาฤาเจ้าสุริยวงศ์ราชนิกุล ลงมาสอบสวนเจ้าพระยาอินทวงศาที่ปากพระในข้อหาเป็นกบฏต่อแผ่นดิน เกิดการสู้รบกันที่ปากพระ เจ้าพระยาอินทวงศาหนีลงมาที่เมืองภูเก็จท่าเรือ ทหารของพระยาธรรมไตรโลกติดตามลงมา เจ้าพระยาอินทวงศาฆ่าตัวตาย พระยาธรรมไตรโลกจึงตั้งข้อหาคุณหญิงจันที่ให้ความร่วมมือกับพวกกบฏ จึงจับตัวไปขังไว้ที่ปากพระ

        ฝ่ายกรมการเมืองถลางบางคนซึ่งน่าจะเป็นปลัดเมือง คือนายทองพูน ได้ให้ความร่วมมือกับพระยาธรรมไตรโลก ตั้งข้อกล่าวหา คุณหญิงจันซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เมืองถลาง รู้เห็นเป็นใจให้ความร่วมมือกับกบฏ พระยาธรรมไตรโลกจึงให้ทหารมาจับเอาไปคุมขังที่ปากพระเพื่อสอบสวน ดังจดหมายของคุณหญิงจันที่ไปถึงพระยาราชกปิตันความตอนหนึ่งว่า “...อนึ่งเมื่อพม่ายกมานั้น พระยาธรรมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าไปไว้ ณ ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้ กลับแล่นขึ้นมา ณ บ้าน...” จดหมายนี้เขียนเล่าความเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙   นอกจากนี้กรมการบางคนดังกล่าวยังร่วมมือกับพระยาธรรมไตรโลก กล่าวหาพระยาราชกปิตัน ( ฟรานซิส ไลต์ ) ว่า พระยาราชกปิตัน ฉ้อเอาเงินพระราชทรัพย์จากเมืองถลางในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงให้กรมการหักเอาไว้โดยอ้างท้องตราจากกรุงเทพฯ และยังได้กล่าวหาขุนท่าพรมร่วมมือกับพระยาราชกปิตันฉ้อฉลเงินหลวงด้วย จึงถูกจับกุม

        เหตุการณ์สงครามในปีพ.ศ. ๒๓๒๘ ก่อนที่พม่าจะยกทัพมาตีเมืองถลาง ในปีเดียวกันนี้ ชาวถลางรู้ข่าวศึกพม่าก่อนแล้วจากคนที่มาจากตะกั่วป่าตามหนังสือของพระพิชิตสงคราม ที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันที่ปีนัง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๒๘ ว่า “ครั้นมาถึงปากพระ คนขึ้นมาแต่เมืองตะกั่วป่าบอกว่า ชาวเมืองตะกั่วป่ารู้ข่าวพม่ากำเริบวุ่นวายอยู่ จึงกลับลงไปตะกั่วป่า จัดแจงบ้านเมืองแล้วจะกลับมาให้พบท่านพระยาราชกปิตัน”

จากหนังสือของคุณหญิงจันมีไปถึง พระยาราชกปิตันเจ้าเมืองปีนัง มีข้อความในหนังสือกล่าวว่า “ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลาง ขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้น เห็นธุระของลาโตกอยู่แต่หากลาโตกเมตตาเห็นดูข้าพเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทรมานอยู่ ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งก็เป็นแล้วจะลากลับไปและมี(เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ทัพพม่ายกมาจริง ข้าพเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่อยู่ต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค้าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนักมิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวตักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยือนขุนท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยกกระบัตร ขุนท่าไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะมาให้พบลาโตกนั้นเจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่จึงให้เมืองภูเก็จลงมาลาโตกได้เห็นดูอยู่ก่อน ถ้าเจ้าคุณค่อยคลายป่วยขึ้น ข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก แลขันนั้นไม่แจ้งว่าขันอะไร ให้บอกแก่เมืองภูเก็จให้แจ้งข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้นขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกิน ให้ลาโตกช่วยว่ากัปตันอีศกัสให้ยาฝิ่นเข้ามาสัก ๙ แทน ๑๐ แทน แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ขี่ชื่นขึ้นมาสักที” หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง

ข้างฝ่ายพม่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ยกทัพมาตีไทยทุกทาง ทางฝ่ายใต้ยกมาตีนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง กองทัพพม่ายกมาคราวนี้มีแกงวุนแมงยี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีพม่าเป็นแม่ทัพใหญ่เป็นทัพที่ ๑ ตั้งทัพที่เมืองมะริดแล้วให้ยีวุนคุมกองทัพเรือจำนวนพล ๓,๐๐๐ คน ยกลงมาตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งก่อน แตกแล้วยกมาตีเมืองปากพระแตกแล้ว จึงให้ยกมาตีเมืองถลาง และก็เป็นไปตามแผน เมื่อปากพระแตกซึ่งตอนนั้นคุณหญิงจันถูกคุมขังอยู่ที่นั่น จึงได้หนีลงเรือกลับเมืองถลางดังจดหมายคุณหญิงจันถึงพระยาราชกปิตัน

ฝ่ายเมืองถลางได้เตรียมการ ที่จะป้องกันเมืองค่อนข้างดี ด้วยได้มีเมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน และตัวคุณหญิงเองที่สั่งซื้ออาวุธยุทธปัจจัยไว้พร้อมดังจดหมายหลายฉบับที่กล่าวถึง ฝ่ายพระยาถลางพิมลขันธ์ซึ่งป่วยหนักอยู่ ก็ถึงแก่กรรม เมืองถลางจึงว่างเจ้าเมือง คงมีแต่พระปลัด ยกกระบัตร กรมการเมือง รวมทั้งคุณหญิงจันคุณมุกน้องสาว เมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน เมื่อกองทัพพม่าเข้าตีเมืองตะกั่วทุ่ง กองลาดตระเวนของเมืองถลางทราบข่าวแล้ว เพราะทั้งสองเมืองมีเขตติดต่อกัน คุณหญิงจัน คุณหญิงมุก และกรมการเมืองถลาง ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม ยกกระบัตร ออกหลวงพิพิธภักดีสมบัติ เจ้ากรมพระคลังเมืองถลางและพระปลัดทองพูน เมืองภูเก็จเทียนได้ร่วมประชุมวางแผนการตั้งทัพรับพม่า คงมาจอดที่ท่าตะเภาซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของเมืองถลางทางบ้านดอน และคงยกทัพเข้าตีทางหน้าเมือง เพราะทางด้านหลังเป็นที่กันดารลำบาก คุณหญิงจันจึงให้คนที่อาศัยแถวท่าเรือตะเภา บ้านดอนอพยพเข้าไปอยู่ในค่ายใหญ่ที่บ้านตะเคียน โดยจัดแบ่งเป็น ๒ ค่าย ตั้งอยู่ที่บ้านค่ายแห่งหนึ่งอันเป็นทางเดินติดต่อมาจากท่ามะพร้าว หากข้าศึกยกมาทางนี้จะได้ขวางได้ เพื่อทราบว่าพม่าไม่ได้ยกทัพมาทางนี้จึงแยกกองไปตั้งค่ายอยู่หลังวัดพระนางสร้าง โดยให้นายยอดเป็นผู้คุมกองนี้มีปืนใหญ่ประจำชื่อ แม่นางกลางเมือง กระบอกหนึ่งมีนายทองเพ็งเป็นผู้ช่วย อีกค่ายหนึ่งตั้งที่ทุ่งนางดักมอบให้พระปลัดทองพูนเป็นผู้คุมกอง มีปืนใหญ่ชื่อ พระพิรุณสังหาร กระบอกหนึ่ง ส่วนคุณหญิงจันเป็นผู้บัญชาการรบทั่ว ๆ ไป โดยมีคุณหญิงมุกเป็นผู้ช่วย

ฝ่านกองทัพพม่ายกพลข้ามช่องแคบเข้าจอดเรือที่ท่าตะเภา จัดการตั้งค่ายใหญ่ริมทะเลเป็นสองค่ายคือ ค่ายนาโคกแห่งหนึ่งกับค่ายนาบ้านกลางอีกแห่งหนึ่ง ชักปีกกาถึงกัน ส่วนค่ายของเมืองถลางตั้งเป็นสองค่าย โดยมีคลองบางใหญ่เป็นคูกั้น

ค่ายพม่าอยู่ในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่และได้ยิงไปทุกวัน ได้รบพุ่งกันอยู่ราวเดือนเศษ ฝ่ายพม่าเจ็บป่วยล้มตายไป ๓๐๐ - ๔๐๐ คนเศษ กองทัพเมืองถลางจึงยกเข้าโจมตีทัพพม่าที่ปากช่อง พวกทหารพม่าลงเรือแล่นหนีไป  เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง

หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว ทางเมืองถลางมีพระปลัดทองพูนเป็นผู้รักษาว่าราชการเมืองได้ทำใบบอกแจ้งเหตุการณ์ครั้งนี้ไปกราบทูลสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพลงมาทางปักษ์ใต้เพื่อตีทัพพม่าขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองสงขลา โดยให้เมืองภูเก็จเทียนถือไปถวาย หนังสือใบบอกอีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรุงเทพมหานคร จากจดหมายเมืองภูเก็จเทียนที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันตอนหนึ่งกล่าวว่า “หนังสือข้าพเจ้าเมืองภูเก็จผู้เป็นพระยาทุกราช ให้มายังพระยาราชกปิตัน ...ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ เมืองสงขลาครั้งนี้...รับสั่งแก่ข้าเจ้าว่า ให้ข้าฯเป็นพระยาทุกราช ออกไปก่อนเถิด เข้ามาครั้งหลัง จึงจะให้เป็นพระยาถลางออกไปนั้น ในของหลวงวังหน้าเห็นดูข้าฯเป็นอันมาก...”

        ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อเสร็จศึกแล้ว จึงเสด็จเข้ากรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อกราบทูลถวายรายงานราชการสงครามหัวเมืองปักษ์ใต้ และผู้ที่จะได้รับบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้ คุณหญิงจัน ภรรยาพระยาถลางคนก่อน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ให้คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ให้พระปลัดทองพูนเป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามกำแหง พระยาถลางเจียดทองเสมอเสนาบดีศักดินา ๑๐๐๐๐ และถือว่าเป็น “พระยาพานทอง”คนแรกของเมืองถลาง คนอื่นๆต่างก็ได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นถ้วนหน้า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ คือเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก รวมทั้งเมืองภูเก็จเทียนที่ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่สงขลา ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยาทุกขราช ผู้ช่วยราชการเมืองถลาง คือตำแหน่งพระยาปลัดเมืองถลาง เมื่ออายุได้ ๓๑ ปี

        ในปีพ.ศ. ๒๓๓๐ ท้าวเทพกระษัตรีเดินทางไปเมืองหลวงทางเมืองตรัง เพื่อ “ข้าฯจะว่ากล่าวคิดอ่านออกมาให้พระยาทุกราชทำการ ณ เมืองถลางดูสักครั้ง...”  นอกจากหาทางให้พระยาทุกขราชเทียนเป็นพระยาถลางแล้ว ยังต้องไปแก้ข้อกล่าวหาที่ให้ความร่วมมือเจ้าพระยาอินทวงศา และแก้กล่าวหาให้พระยาราชกปิตันที่ถูกตั้งข้อหาจากพระยาธรรมไตรโลก และพระยาถลางคนปัจจุบันว่าฉ้อเงินหลวงที่เมืองถลาง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังจดหมายพระยาทุกขราชเทียนมีไปถึงพระยาราชกปิตันว่า  “หนังสือข้าพเจ้าพระยาทุกราช ผู้เป็นพระยาปลัด ขอบอกมายังโตกท่านพระยาราชกปิตัน ด้ายมีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ณ เมืองถลาง ว่า กรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฤาเจ้าราชกูลออกมาแต่ก่อน คิดอ่านหักเอาเงินของโตกพระยาท่านไว้ว่า โตกพระยาท่านติดเงินแต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้านั้น นอกท้องตรา ซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลถือมา ทำให้โตกพระยาท่านโกรธขึงนั้น ทรงพระกรุณาเอาโทษแต่พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลข้าหลวง แลกรมการ ณ เมืองถลาง ซึ่งได้คิดอ่านพร้อมกัน ฉ้อเอาเงินโตกพระยาท่านนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตก คิดถึงจะใคร่ได้พบโตกพระท่าน ปรึกษาราชกิจบ้านเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมีตราให้จมื่นชำนาญภัยชนถืออกมาถึงโตกพระยาท่าน...”  

        พระยาทุกขราชคงทราบ และเห็นการกระทำของพระยาธรรมไตรโลกซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ลงมาทำการครั้งนี้ พระยาถลางทองพูนแต่ครั้งเป็นพระปลัดรักษาการเจ้าเมือง ก็ยากที่จะปฏิเสธผู้ใหญ่จากเมืองหลวงและเป็นพระญาติวงศ์ดังกล่าว จึงถูกภาวะจำยอมปฏิบัติตาม ทำให้ตัวเองต้องมัวหมองไปด้วย หากเป็นเวลาปกติไม่มีขุนนางคนใดกล้าทำ กลายเป็นแพะที่จะต้องรับบาป และต้องโกรธกับญาติพี่น้องด้วย ดังข้อความของพระยาทุกราชว่า “ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าฯกับเจ้าพระยาถลาง ก็วิวาทกัน หาปรกติกันไม่...”

         ประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๒ พระยาถลางทองพูนจึงถูกควบคุมตัวเอาไปสอบสวนที่เมืองหลวง และถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองหลวง

        พระยาทุกราชเทียน จึงได้เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลางตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๓

        ในปีชวด จ.ศ. ๑๑๕๔ จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๓๕ พระเจ้าอังวะรับสั่งให้เปลี่ยนเจ้าเมืองทวาย และกรมการเมืองทวายทั้งหมด เพื่อให้เจ้าเมืองคนเก่าเข้าไปรับราชการที่เมืองหลวง เมื่อเจ้าเมืองคนใหม่เดินทางถึงเมืองทวาย เจ้าเมืองคนเก่าคือแมงกาซา จัดงานเลี้ยงต้อนรับแล้วฆ่าเสียสิ้น ทางเมืองหลวงจึงจับบิดาและครอบครัวเอาไว้เป็นประกัน ให้แมงกาซาขึ้นไปเมืองหลวง แมงกาซาจึงทำศุภอักษรถึงกรุงเทพฯ เพื่อขอเป็นเมืองขึ้นดังเก่าและขอให้ยกทหารไปช่วยป้องกันเมืองด้วย ฝ่ายไทยมิได้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ กลับยินดีรับ จึงรับสั่งให้เจ้าพระยามหาเสนา ( ปลี ) ที่สมุหะพระกลาโหม ยกทัพไปทวายด้วยรี้พลเพียง ๕๐๐๐ เท่านั้น และให้เกณฑ์หัวเมืองต่างๆสมทบไปด้วย ทั้งกองทัพคงไม่เกินหมื่น

        ฝ่ายพระยาถลางเทียนจึงเกณฑ์คนเข้ากองทัพ การฝึกทหารเตรียมเรือรบคงยังไม่พร้อมด้วยฉุกละหุก อีกประการหนึ่งกองทัพเมืองถลางยังไม่เคยยกออกไปตีเมืองใด โดยเฉพาะคำสั่งให้ไปตีเมืองมะริด ซึ่งเต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมาย เสบียงอาหารก็ยังไม่พอ จึงมีหนังสือไปยังพระยาราชกปิตัน ดังข้อความว่า “หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง ท่านพระยาถลางมายังท่านโต๊ะพระยาราชกปิตัน เจ้าเมือง ณ เกาะปุเล้าปีนัง ด้วยมีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาให้ตูข้ายกทัพไปตีเมืองมะริด แลบัดนี้ตูข้าให้ขุนชำนาญนายหมุนมาถึงท่าน จะขอให้ช่วยของซึ่งขัดสน จะเอาไปเป็นเสบียงทัพให้ท่านให้มาแก่กำปั่นให้ทัน ณ เดือน ๑๒ ข้างแรม อนึ่งขุนชำนาญขัดสน จะขอปันเอาเป็นสินค้า ค่าภาราหนึ่ง สองภาราก็ดี ให้ท่านให้ แล้วให้มีหนังสือมา จะเรียกเอาค่ามาให้...” หนังสือเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด จ.ศ. ๑๑๕๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๓๓๕ ในขณะที่ท้าวเทพกระษัตรีกำลังป่วยอยู่ และคงถึงแก่กรรมภายหลังจากที่พระยาถลางเทียนบุตรชาย ยกทัพเรือออกจากเมืองถลางไป นายเอียน มอร์สัน กล่าวว่าท้าวเทพกระษัตรีถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. ๒๓๓๕

        เมื่อถึงเวลากำหนดกองทัพเมืองหลวง และหัวเมืองที่ได้รับคำสั่งจึงยกทัพเดินทางไปตามเป้าหมายประมาณเดือนอ้ายเดือนยี่พ.ศ. ๒๓๓๕ ฝ่ายพระยาถลางเทียนจึงยกทัพเรือ จำนวนทหารเท่าใดไม่ปรากฏ แต่คงจะรวมกับกองทัพเมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า เมืองกระ คงไม่เกิน ๓๐๐๐ ทางเมืองหลวง เจ้าพระยามหาเสนา(ปลี)จึงยกทัพไปตั้งที่หน้าเมืองทวาย เจ้าเมืองทวายก็มิได้ออกมารับ ส่วนกองทัพเรือของพระยาถลางเทียนยกไปตีเมืองมะริดตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. ๒๓๓๕ จนถึงพ.ศ. ๒๓๓๖ ( เริ่มเดือนเมษายน ) ก็ยังมิได้ข่าวคราว คงถูกกองทัพเจ้าเมืองมะริดและกองทัพพม่าตีแตกทัพ จนสูญหายไป เช่นเดียวกับกองทัพของเจ้าพระยามหาเสนาที่ถูกกองทัพพม่าตีแตกถอยร่น เข้าป่าหายสาบสูญไปทั้งกองทัพ พระยาถลางเทียนและเจ้าพระยามหาเสนาอาจสู้จนตัวตายหรืออาจถูกจับกุมเป็นเชลยก็ได้ ทั้งสองท่านและทหารไทยทั้งกองทัพจึงเป็นทหารกล้าอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

        เมื่อพระยาถลางเทียนหายไปในกองทัพในปีพ.ศ. ๒๓๓๖ ทางกรุงเทพฯจึงส่งพระยาอภัยสงครามหรือนายบุญคง ชาวกรุงเทพฯ สายสกุล ณ บางช้าง ผู้เป็นเรียงพี่เรียงน้องกับท่านผู้หญิงอินภรรยาเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งขณะนั้นพำนักที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยาอภัยสงครามจึงอพยพครอบครัวลงมาตั้งที่เมืองถลางในปีพ.ศ. ๒๓๓๗ เป็นพระยาถลางบุญคง   

        พระยาถลาง (เทียน ) มีบุตรธิดาหลายคนสืบเชื้อสายลงมาจนถึง หลวงราชอาณัติ ( กล่อม ) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตะกั่วป่า ได้ถวายหนังสือขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานนามสกุล ในฐานะที่หลวงอาณัติมีปู่ทวด ชื่อ พระยาถลาง เทียน จึงพระราชทานนามสกุลให้ว่า “ประทีป ณ ถลาง Pradip na Thalang” เป็นลำดับที่ ๓๙๔๕

 

 

           :    สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒

 

Title        :    Praya Phetkirisriphichaisongkramramkamhaeng ( Thian Pradip na Thalang  )

                

          :   Somboon Kantakian

 

Note

revised : 14082555

            

          

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
หน่วยงานของรัฐ
  สกสค. ภูเก็ต
  ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
  อบจ. ภูเก็ต
  สนง.เขตการศึกษาภูเก็ต
  เทศบาลนครภูเก็ต
  เทศบาลเมืองกะทู้
  เทศบาลเมืองป่าตอง
  เทศบาลตำบลวิชิต
  เทศบาลตำบลรัษฎา
  เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี
  เทศบาลตำบลฉลอง
  เทศบาลตำบลศรีสุนทร
  อบต.สาคู
  อบต.เกาะแก้ว
  ขนส่งจังหวัดภูเก็ต
โรงพยาบาล
  โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต
  โรงพยาบาลถลาง
  โรงพยาบาลสิริโรจน์
  โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
  โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต
เที่ยวภูเก็ต
  ภูเก็ตท่องเที่ยว
  แอร์เอเชีย
  บางกอกแอร์
  การบินไทย
  นกแอร์
  โอเรียนท์ไทย
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ตลาดหลักทรัพย์-หุ้น
  ตลาดหุ้น
หนังสือพิมพ์
  มติชน
  ข่าวสด
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  voice tv
  สำนักข่าวอิศรา
  ผู้จัดการ
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  บ้านเมือง
  โพสต์ทูเดย์
  สยามสปอร์ต
  เจาะลึกระบบสุขภาพ
  THE STANDARD
  the MATTER
  มุสลิมไทยโพสต์
  สยามธุรกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
  ไทยทริบูน Thai Tribune
  Bangkok Post
  ข่าวช่อง3
  เรียงเบอร์
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
  ข่าวภูเก็ต
  theThaiger
  Phuket Wan
  ข่าวภูเก็ตออนไลน์
  เสียงใต้รายวัน
หางานทำที่ภูเก็ต
  ศูนย์รวมงานจังหวัดภูเก็ต
  สมัครงานที่ภูเก็ต
  หางานทำที่จังหวัดภูเก็ต
หนังสือพิมพ์เพื่อนบ้าน
  ซินหัวไทย
  BBC news / ไทย
  NIKKEI ASIA
  Vientianemai
  Pasaxon
  The Phnom Penh Post
  The Myanmar Times
  Myammar
  The Irrawaddy
  Thanh Nien News
  Hanoitimes
  malaysiakini
  The StraitsTimes
  New Straits Times
  Tha Jakatar Post
  The Jakarta Globe
  Inside Indonesia
  The Manila Times
  Phillippine Daily Inquirer
  Phillippine Times
มูลนิธิ สมาคม
  มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต
  มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต
เรื่องน่าสนใจ
  สถิติโลก
  เวลาทั่วโลก
  รหัสไปรษณีย์ไทย
  การหาระยะทางจากเมืองสู่เมือง