Bookmark and Share Add to Favorites  
ภูมิอากาศจังหวัดภูเก็ต
  ความเร็วลมทั่วโลก
  สภาพอากาศจังหวัดภูเก็ต
  Phuket Weather Today
  10 Day Weather Forcast for Phuket
  สภาพอากาศภาคใต้ฝั่งตัวันตก
  การเปลี่ยนองศา
แผ่นดินไหวและสึนามิ
  กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
  เรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิ
  คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภูเก็ต - You Tube
  แผ่นดินไหวทั่วโลก (USGS)
รวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ต
  PHUKET HERITAGE
  ทำเนียบสายตระกูล ณ ระนอง
สถาบันอุดมศึกษาในภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
  วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต
โรงเรียนในภูเก็ต
  โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา
  โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
  โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร
  โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต
  โรงเรียนราไวย์เรืองวิทย์
  โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต
  โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง
  โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม
บริการวิชาการ
  สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต
  สนง.วัฒนธรรมภูเก็ต
  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.ภูเก็ต
ค้นข้อมูลจากหอสมุด
  Library of Congress
  The British Library
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  มหาวิทยาลัยมหิดล
ค้นเอกสาร
  พระราชบัญญัติ
  ราชกิจจานุเบกษา
สถาบันศาสนา
  @ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  สมบูรณ์อินโฟ
  ตระกูลแซ่หลิน
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
.

ท้าวเทพกระษัตรี (จัน )

 

 

ท้าวเทพกระษัตรี ( จัน )

       

 

        ท้าวเทพกระษัตรี หรือท่านผู้หญิงจัน หรือ คุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองถลาง ผู้มีความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถทั้งการปกครอง การเมือง การบ้าน การสู้รบกับพม่าข้าศึกจนได้รับชัยชนะ เป็นผู้หญิงแกร่งท่านหนึ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า “เปลก็ไกวดาบก็แกว่งแข็งหรือไม่” เพราะท่านมีบุตรธิดาถึง ๗ คน ท้าวเทพกระษัตรีจึงเป็นวีรสตรีไทยคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณ ที่บรรดาลูกหลานไทยให้ความเคารพนับถือท่าน  ที่ได้รักษาเกาะถลางอันเป็นแผ่นดินสยามไว้ให้ลูกหลานได้อยู่ดีมีสุขจนทุกวันนี้

        คุณหญิงจันกำเนิดในครอบครัวขุนนาง จึงมีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ได้พัฒนาชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์บ้านเมืองในสมัยนั้นได้ดี บิดาของคุณหญิงจันคือ พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามหรือจอมรั้งหรือจอมทองคำพระยาถลาง ซึ่งตั้งบ้านที่ทำงานราชการอยู่ที่บ้านเคียน มารดาคือ แม่หม่าเซี้ย คุณหญิงจันมีพี่น้องด้วยกัน ๕ คน คือ คุณหญิงจัน คุณมุกน้องสาว คุณหม้า(หมา) นายอาด และนายเรือง

        คุณหญิงจันถือกำเนิดเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๒๗๘ จ.ศ. ๑๐๙๗ สัปตศก ปีเถาะ วันศุกร์ เดือน ๔ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ ซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๒๗๖ – ๒๓๐๑ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและทรงครองราชย์เป็นปีที่ ๓ ต่อมาหม่าเซี้ยได้ให้กำเนิด คุณมุก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๘๐ จ.ศ. ๑๐๙๙ นพศก ปีมะเส็ง วันพฤหัสบดี เดือน ๓  และให้กำเนิดน้องๆอีกสามคนถัดมา

        แม่หม่าเซี้ยเป็นมุสลิม บิดาคือพระยาไทรบุรีหรือเคดะห์ในปัจจุบัน ได้แต่งงานกับพระยากลันตัน แต่พระยากลันตันถึงแก่อนิจกรรม แม่หม่าเซี้ยจึงกลับไปอยู่ไทรบุรีตามเดิม เกิดขัดใจกับพี่ชายจึงอพยพข้าทาสลงเรือขึ้นมาที่ท่าเรืออู่ตะเภา บ้านดอน แล้วมาตั้งรกรากที่บ้านเคียน เมื่อจอมทองคำเห็นจึงขอแต่งงานและอยู่กินด้วยกันจนมีบุตรธิดา ๕ คน

        คุณหญิงจันสมัยวัยเด็ก ได้เล่าเรียนเขียนอ่านภาษาไทยภาษามาเลย์ การทำนา งานบ้านงานเรือนตามประเพณีจนคล่องแคล่ว ภายในบริเวณบ้านซึ่งเป็นจวนผู้รั้งเจ้าเมืองถลางและเป็นที่ปฏิบัติราชการไปด้วยในตัว ดังนั้นจึงมีขุนนาง พ่อค้าต่างชาติ คนจีน แขกอินเดียเข้าออกเป็นประจำ คุณหญิงจึงได้รู้เห็นได้ฟังเหตุการณ์ ได้เห็นการฝึกทหารที่ต้องเข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย การใช้อาวุธทุกประเภท รวมทั้งอาวุธปืนหลากหลายชนิด ปืนใหญ่ขนาดต่างๆ เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายนักในสมัยนั้น ล้วนแต่สร้างความแข็งแกร่งและความเป็นผู้นำสูง

       คุณหญิงจันเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๖ ปี บิดาจึงเลือกคู่ครองให้ คือ หมื่นศรีภักดี เป็นนายแขวงตะนาย มีศักดินา ๓๐๐ ไร่ แขวงตะนายขึ้นกับเมืองท่าทอง ซึ่งมีหลวงวิสุทธิสงครามเป็นผู้รักษาเมือง หมื่นศรีภักดีผู้นี้เป็นบุตรจอมนายกองหรือพระนายกองหรือนายทหารกองนอก เป็นคนนครศรีธรรมราช มารดาเป็นคนตะกั่วทุ่งชื่อ บุญเกิด ต่อมาบวชชี จึงเรียกขานกันว่าคุณชีบุญเกิด พระนายกองต่อมาได้รับราชการกับผู้สำเร็จราชการหัวเมืองทั้ง ๘ โดยตั้งเมืองอยู่ที่ปากพระ ฝั่งตรงกันข้ามกับเกาะถลาง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาอินทรวงศาลงมาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองทั้ง ๘ หมื่นศรีภักดีจึงรับราชการกับเจ้าพระยาอินทรวงศาด้วย ต่อมาหมื่นศรีภักดีย้ายมาช่วยราชการกับพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามที่เมืองถลาง คุณหญิงจันได้ให้กำเนิดบุตรคนแรกคือ แม่ปราง เมื่อประมาณพ.ศ. ๒๒๙๕ จ.ศ. ๑๑๑๓ ตรีศก ปีวอก และถึงพ.ศ. ๒๒๙๗ จ.ศ. ๑๑๑๕ เบญจศก วันพฤหัสบดี เดือน ๙ ได้ให้กำเนิดบุตรชาย ชื่อ เทียน

        ประมาณพ.ศ. ๒๒๙๘ หมื่นศรีภักดีได้ถึงแก่กรรมกะทันหัน เมื่อคุณหญิงจันอายุเพียง ๒๐ ปี บุตรธิดาทั้งสองก็ยังเล็กมาก

        ฝ่ายหลวงพิมล นามเดิมน่าจะชื่อ ขัน คนทั่วไปจึงเรียกขานว่า หลวงพิมลขัน ผู้รั้งเมืองกระบุรี ซึ่งขึ้นตรงต่อเมืองชุมพร หลวงพิมลเป็นคนสนิทของพระเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อมาพบคุณหญิงจัน เกิดชอบพอกันจึงอยู่กินกันประมาณพ.ศ. ๒๓๑๐ ขณะนั้นพระเจ้านครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้เกือบทั้งหมด ข้างหลวงพิมลขันจึงลงมาช่วยราชการพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามเมืองถลาง คุณหญิงจันกับหลวงพิมลขันมีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คนคือ คุณทอง กำเนิดประมาณพ.ศ. ๒๓๑๑ นายจุ้ยประมาณพ.ศ. ๒๓๑๓ นายเนียม ประมาณพ.ศ. ๒๓๑๕ คุณกิ่ม ประมาณพ.ศ. ๒๓๑๗ และคุณเมืองประมาณพ.ศ. ๒๓๑๙ เวลานั้นคุณหญิงจันอายุได้ ๔๑ ปีแล้ว

        ประมาณปีพ.ศ. ๒๓๑๓ – ๒๓๑๙ การเมืองในเมืองถลาง ได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าเมือง คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดเกล้าฯให้นายคางเซ่งหรือคางเส็งเชื้อจีนมาปกครองเป็นพระยาถลาง ประมาณพ.ศ. ๒๓๑๓- ๒๓๑๖ นายอาดน้องชายคุณหญิงจันในช่วงนั้นน่าจะมีตำแหน่งเป็นปลัดเมืองถลางได้ก่อการฆ่าพระยาถลางคางเส็งถึงแก่กรรม นายอาดจึงเป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามเจ้าเมืองถลางประมาณพ.ศ. ๒๓๑๗ – ๒๓๑๘เพียงสองปี ก็ถูกยิงถึงแก่กรรม ในขณะที่หลวงพิมลขัน อาจจะเป็นปลัดเมือง จึงได้ขึ้นเป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม พระยาถลาง ประมาณพ.ศ. ๒๓๑๙

        การถึงแก่กรรมของพระยาถลางอาด พระยาพิมลขันอาจมีส่วนรู้เห็นด้วยก็ได้ จึงทำให้ เมืองภูเก็จหรือนายเทียน บุตรเลี้ยงทำหนังสือขึ้นฟ้องร้องไปยังเจ้านครศรีธรรมราช และเข้าใจว่า คุณหญิงจันก็เกิดระหองระแหงกับพระยาถลางพิมลครั้งนี้ด้วย เจ้านครศรีธรรมราชจึงให้คนมาคุมไปสอบสวนที่เมืองนครศรีธรรมราช  แต่อาศัยที่พระยาพิมลเคยร่วมเป็นร่วมตายกับเจ้านครสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพลงมาปราบก๊กเจ้านคร พระยาพิมลขันจึงได้ไปเป็นผู้รักษาเมืองพัทลุงอยู่สามปีแล้วลาออกนอกราชการ ประมาณพ.ศ. ๒๓๒๖ อาศัยอำนาจของเจ้านครศรีธรรมราชหรือการสอบสวนปรากฏว่าพระพิมลขันไม่ผิด พระยาพิมลขันจึงย้ายกลับมาเป็นพระยาถลางอีกครั้งประมาณพ.ศ. ๒๓๒๗ ในบรรดาศักดิ์ พระยาทุกขราช การกลับมาคราวนี้อายุก็มากแล้ว สุขภาพก็ไม่สู้จะดีเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะถึงพ.ศ. ๒๓๒๘                                 

        ในปีพ.ศ. ๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกสำเร็จโทษ เกิดผลัดแผ่นดินใหม่เป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕ ทางเมืองหลวงได้มีการกวาดล้างพระราชวงศ์ตากและบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งไว้ ทางเมืองหลวงจึงส่งข้าหลวงชื่อพระยาธรรมไตรโลกฤาเจ้าราชนิกุลพร้อมด้วยกองทหารลงมาเมืองปากพระ ทำการสอบสวนเจ้าพระยาอินทรวงศา ในข้อหาฉกรรจ์คือเป็นขบถต่อแผ่นดิน กองทหารทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกัน แต่กองทหารของเจ้าพระยาอินทรวงศามีน้อยกว่า จึงพ่ายแพ้ เจ้าพระยาอินทรวงศาลงเรือพร้อมทหารคู่ใจขึ้นเกาะถลางที่เมืองภูเก็ตบ้านท่าเรือบางตำนานว่าเข้าไปทางอู่ตะเภาฝั่งตะวันตกของเกาะ  กองทหารของพระยาธรรมไตรโลกจึงติดตามลงมาล้อมเมืองภูเก็ตบ้านท่าเรือ ขอให้เจ้าพระยาอินทรวงศามอบตัว ฝ่ายเจ้าพระยาอินทรวงศาเห็นว่า ขืนสู้รบทหารต้องล้มตายอีกมาก หากมอบตัวเข้ากรุงไหนเลยศีรษะของตนจะคงตั้งอยู่บนบ่าได้ ด้วยชาติทหารยอดนักรบมีเจ้านายเพียงหนึ่งเดียว จึงฉวยดาบปาดคอตนเองถึงแก่อนิจกรรมต่อหน้านายทหารพระยาธรรมไตรโลก ฝ่ายนายทหารจึงตัดศีรษะเอาไปมอบให้พระยาธรรมไตรโลกที่ปากพระ

        ฝ่ายกรมการเมืองถลางบางคนซึ่งน่าจะเป็นปลัดเมือง คือนายทองพูน ได้ให้ความร่วมมือกับพระยาธรรมไตรโลก ตั้งข้อกล่าวหา คุณหญิงจันซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เมืองถลาง รู้เห็นเป็นใจให้ความร่วมมือกับขบถ พระยาธรรมไตรโลกจึงให้ทหารมาจับเอาคุณหญิงจันไปคุมขังที่ปากพระเพื่อสอบสวน ดังจดหมายของคุณหญิงจันที่ไปถึงพระยาราชกปิตันความตอนหนึ่งว่า “...อนึ่งเมื่อพม่ายกมานั้น พระยาธรรมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าไปไว้ ณ ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้ กลับแล่นขึ้นมา ณ บ้าน...” จดหมายนี้เขียนเล่าความเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙   นอกจากนี้กรมการบางคนดังกล่าวยังร่วมมือกับพระยาธรรมไตรโลก กล่าวหาพระยาราชกปิตัน ( ฟรานซิส ไลต์ ) ว่า พระยาราชกปิตัน ฉ้อเอาเงินพระราชทรัพย์จากเมืองถลางในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงให้กรมการหักเอาไว้โดยอ้างท้องตราจากกรุงเทพฯ และยังได้กล่าวหาขุนท่าพรมร่วมมือกับพระยาราชกปิตันฉ้อฉลเงินหลวงด้วย ขุนท่าพรมจึงถูกจับกุม

        เหตุการณ์สงครามในปีพ.ศ. ๒๓๒๘ ก่อนที่พม่าจะยกทัพมาตีเมืองถลาง ในปีเดียวกันนี้ ชาวถลางรู้ข่าวศึกพม่าก่อนแล้วจากคนที่มาจากตะกั่วป่าตามหนังสือของพระพิชิตสงคราม ที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันที่ปีนัง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๒๘ ว่า “ครั้นมาถึงปากพระ คนขึ้นมาแต่เมืองตะกั่วป่าบอกว่า ชาวเมืองตะกั่วป่ารู้ข่าวพม่ากำเริบวุ่นวายอยู่ จึงกลับลงไปตะกั่วป่า จัดแจงบ้านเมืองแล้วจะกลับมาให้พบท่านพระยาราชกปิตัน”

จากหนังสือของคุณหญิงจันมีไปถึง พระยาราชกปิตันเจ้าเมืองปีนัง มีข้อความในหนังสือกล่าวว่า “ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลาง ขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้น เห็นธุระของลาโตกอยู่แต่หากลาโตกเมตตาเห็นดูข้าพเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทรมานอยู่ ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งก็เป็นแล้วจะลากลับไปและมี(เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ทัพพม่ายกมาจริง ข้าพเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่อยู่ต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค้าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนักมิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวตักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยือนขุนท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยกกระบัตร ขุนท่าไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะมาให้พบลาโตกนั้นเจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่จึงให้เมืองภูเก็จลงมาลาโตกได้เห็นดูอยู่ก่อน ถ้าเจ้าคุณค่อยคลายป่วยขึ้น ข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก แลขันนั้นไม่แจ้งว่าขันอะไร ให้บอกแก่เมืองภูเก็จให้แจ้งข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้นขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกิน ให้ลาโตกช่วยว่ากัปตันอีศกัสให้ยาฝิ่นเข้ามาสัก ๙ แทน ๑๐ แทน แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ชี่ชื่นขึ้นมาสักที” หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง

ข้างฝ่ายพม่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ยกทัพมาตีไทยทุกทาง ทางฝ่ายใต้ยกมาตีนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง กองทัพพม่ายกมาคราวนี้มีแกงวุนแมงยี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีพม่าเป็นแม่ทัพใหญ่เป็นทัพที่ ๑ ตั้งทัพที่เมืองมะริดแล้วให้ยีวุนคุมกองทัพเรือจำนวนพล ๓,๐๐๐ คน ยกลงมาตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งก่อน แตกแล้วยกมาตีเมืองปากพระแตกแล้ว จึงให้ยกมาตีเมืองถลาง และก็เป็นไปตามแผน เมื่อปากพระแตกซึ่งตอนนั้นคุณหญิงจันถูกคุมขังอยู่ที่นั่น จึงได้หนีลงเรือกลับเมืองถลางดังจดหมายคุณหญิงจันถึงพระยาราชกปิตัน

ฝ่ายเมืองถลางได้เตรียมการที่จะป้องกันเมืองค่อนข้างดี ด้วยได้มีเมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน และตัวคุณหญิงเองที่สั่งซื้ออาวุธยุทธปัจจัยไว้พร้อมดังจดหมายหลายฉบับที่กล่าวถึง ฝ่ายพระยาถลางพิมลขันซึ่งป่วยหนักอยู่ ก็ถึงแก่กรรม เมืองถลางจึงว่างเจ้าเมือง คงมีแต่พระปลัด ยกกระบัตร กรมการเมือง รวมทั้งคุณหญิงจันคุณมุกน้องสาว เมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน เมื่อกองทัพพม่าเข้าตีเมืองตะกั่วทุ่ง กองลาดตระเวนของเมืองถลางทราบข่าวแล้ว เพราะทั้งสองเมืองมีเขตติดต่อกัน คุณหญิงจัน คุณหญิงมุก และกรมการเมืองถลาง ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม ยกกระบัตร ออกหลวงพิพิธภักดีสมบัติ เจ้ากรมพระคลังเมืองถลางและพระปลัดทองพูน เมืองภูเก็จเทียนได้ร่วมประชุมวางแผนการตั้งทัพรับพม่า คงมาจอดที่ท่าตะเภาซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของเมืองถลางทางบ้านดอน และคงยกทัพเข้าตีทางหน้าเมือง เพราะทางด้านหลังเป็นที่กันดารลำบาก คุณหญิงจันจึงให้คนที่อาศัยแถวท่าเรือตะเภา บ้านดอนอพยพเข้าไปอยู่ในค่ายใหญ่ที่บ้านตะเคียน โดยจัดแบ่งเป็น ๒ ค่าย ตั้งอยู่ที่บ้านค่ายแห่งหนึ่งอันเป็นทางเดินติดต่อมาจากท่ามะพร้าว หากข้าศึกยกมาทางนี้จะได้ขวางได้ เพื่อทราบว่าพม่าไม่ได้ยกทัพมาทางนี้จึงแยกกองไปตั้งค่ายอยู่หลังวัดพระนางสร้าง โดยให้นายยอดเป็นผู้คุมกองนี้มีปืนใหญ่ประจำชื่อ แม่นางกลางเมือง กระบอกหนึ่งมีนายทองเพ็งเป็นผู้ช่วย อีกค่ายหนึ่งตั้งที่ทุ่งนางดักมอบให้พระปลัดทองพูนเป็นผู้คุมกอง มีปืนใหญ่ชื่อ พระพิรุณสังหาร กระบอกหนึ่ง ส่วนคุณหญิงจันเป็นผู้บัญชาการรบทั่ว ๆ ไป โดยมีคุณหญิงมุกเป็นผู้ช่วย

ฝ่านกองทัพพม่ายกพลข้ามช่องแคบเข้าจอดเรือที่ท่าตะเภา จัดการตั้งค่ายใหญ่ริมทะเลเป็นสองค่ายคือ ค่ายนาโคกแห่งหนึ่งกับค่ายนาบ้านกลางอีกแห่งหนึ่ง ชักปีกกาถึงกัน ส่วนค่ายของเมืองถลางตั้งเป็นสองค่าย โดยมีคลองบางใหญ่เป็นคูกั้น

ค่ายพม่าอยู่ในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่และได้ยิงไปทุกวัน ได้รบพุ่งกันอยู่ราวเดือนเศษ ฝ่ายพม่าเจ็บป่วยล้มตายไป ๓๐๐ - ๔๐๐ คนเศษ กองทัพเมืองถลางจึงยกเข้าโจมตีทัพพม่าที่ปากช่อง พวกทหารพม่าลงเรือแล่นหนีไป  เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง

หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว ทางเมืองถลางมีพระปลัดทองพูนเป็นผู้รักษาว่าราชการเมืองได้ทำใบบอกแจ้งเหตุการณ์ครั้งนี้ไปกราบทูลสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพลงมาทางปักษ์ใต้เพื่อตีทัพพม่าขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองสงขลา โดยให้เมืองภูเก็จเทียนถือไปถวาย หนังสือใบบอกอีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรุงเทพมหานคร

        ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อเสร็จศึกแล้ว จึงเสด็จเข้ากรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อกราบทูลถวายรายงานราชการสงครามหัวเมืองปักษ์ใต้ และผู้ที่จะได้รับบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้ คุณหญิงจัน ภรรยาพระยาถลางคนก่อน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ให้คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ให้พระปลัดทองพูนเป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามกำแหง พระยาถลางเจียดทองเสมอเสนาบดีศักดินา ๑๐๐๐๐ และถือว่าเป็น “พระยาพานทอง”คนแรกของเมืองถลาง คนอื่นๆต่างก็ได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นถ้วนหน้า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ คือเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก รวมทั้งเมืองภูเก็จเทียนที่ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่สงขลา ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยาทุกขราช ผู้ช่วยราชการเมืองถลาง คือตำแหน่งพระยาปลัดเมืองถลาง ในขณะที่คุณหญิงจันอายุได้ ๕๑ ปี

        ภายหลังสงคราม ปรากฏว่าเกิดข้าวยากหมากแพง คุณหญิงจันจึงต้องไปทำแร่ดีบุกที่เมืองตะกั่วป่า แต่ได้ไม่มากนักได้มาเท่าใดก็เอาไปซื้อข้าวสารเสียสิ้น ดังจดหมายเล่าให้พระยาราชกปิตันฟังเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๙ว่า “...ตูข้า ยกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะ (กั่ว) ป่า ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อยเอาซื้อข้าวแพง ได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น...”                

ในพ.ศ. ๒๓๓๐ คุณหญิงจันตั้งใจจะไปกรุงเทพฯ โดยจะไปทางเมืองตรังและจะพักที่เกาะตะลิมบงแล้วให้พระยาทุกขราช (เทียน) กับ “พ่อจุ้ย”บุตรชายทั้งสองคน ไปเยี่ยมพระยาราชกปิตันที่เมืองปีนัง ส่วนตัวคุณหญิงจันนั้นจะเลยเข้ากรุงเทพฯ แต่ให้บังเอิญมีข้าหลวงถือหนังสือจากกรุงเทพฯ เข้ามาชำระค่าดีบุกที่ค้างอยู่แต่สมัยพระยาถลางพิมลขันสามีของคุณหญิงยังเป็นเจ้าเมือง จากหนังสือฉบับที่สองกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าไปครั้งนี้จะได้กลับมาเร็ว”  และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “ข้าฯ จะว่ากล่าวคิดอ่านออกมาให้พระยาทุกขราชทำการ ณ เมืองถลางดูสักครั้ง”  ขณะนั้นพระยาทุกขราชเป็นพระยาปลัดและคงจะไม่ถูกกับพระยาถลางทองพูนดังข้อความตอนหนึ่งของพระยาทุกขราชว่า  “…แล อนึ่ง ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าฯกับเจ้าพระยาถลาง ก็วิวาทกันหาปรกติกันไม่...” ในหนังสือฉบับเดียวกันนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...แล ณ เดือน ๓ ข้างแรมข้าฯกับเจ้าคุณมารดาจะเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ กรุงเทพฯ และจะไปทางเกาะตะลิโบ้งให้โตกพระยาท่านช่วยเห็นดู จัดเรือใหญ่ให้มารับสักลำ” จดหมายนี้เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙ การเข้าไปกรุงเทพฯของคุณหญิง นอกจากจะหาช่องทางให้พระยาทุกขราชเทียนบุตรชายเป็นพระยาถลางแล้ว ยังมีเรื่องที่จะต้องชี้แจงให้ผู้ใหญ่ทราบคือ เรื่องที่คุณหญิงถูกจับกุมไปขังไว้ที่ปากพระ เรื่องข้อกล่าวหาพระยาราชกปิตันฉ้อทรัพย์หลวงที่เมืองถลาง และเข้าใจว่าได้นำบุตรสาวคือคุณทอง บุตรชายคือ นายเนียม รวมทั้งท้าวศรีสุนทรน้องสาวไปด้วย คุณทองได้ถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เป็นเจ้าจอมมารดาทอง คือมีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงอุบล ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำปีกุน จ.ศ. ๑๑๕๓ ตรีศก ตรงกับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๓๔ เป็นพระราชโอรสธิดาองค์ที่ ๓๑ ในจำนวน ๔๒ พระองค์ สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๓  ส่วนนายเนียมได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม เรื่องพระยาธรรมไตรโลกข้าหลวงที่อ้างท้องตราจากเมืองหลวงกล่าวหาพระยาราชกปิตันนั้น อาจจะเป็นท้องตราจริงก็ได้ ด้วยมีการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บรรดาหัวเมืองต่างไปเข้าเฝ้าเอาสิ่งของไปถวายเป็นราชบรรณาการ ดังที่พระยาราชกปิตันเคยกระทำในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ในแผ่นดินนี้ยังไม่ได้กระทำ ทางเมืองหลวงหาทางปราม แต่พระยาราชกปิตันเป็นฝรั่งจึงไม่เข้าใจการจิ้มก้อง เลยพาลโกรธพระยาธรรมไตรโลกและขุนนางกรมการเมืองถลางบางคน เมื่อทางเมืองหลวงเห็นว่า พระยาราชกปิตันเป็นพ่อค้าอาวุธสมัยใหม่ทุกชนิด เกรงจะเอาไปขายให้พม่า จึงต้องมีท้องตราถึงเมืองถลางดังข้อความว่า “หนังสือ ข้าพเจ้าพระยาทุกราช ผู้เป็นพระยาปลัด ขอบอกมายังโตกท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยมีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ณ เมืองถลางว่า กรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฤาเจ้าราชกูลออกมาแต่ก่อนคิดอ่านหักเอาเงินของโตกพระยาท่านไว้ว่าโตกพระยาท่านติดเงิน แต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้านั้น นอกท้องตรา ซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลถือมา ทำให้โตกพระยาท่านโกรธขึงนั้น ทรงพระกรุณาเอาโทษแต่พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลข้าหลวง แลกรมการ ณ เมืองถลาง ซึ่งได้คิดอ่านพร้อมกันฉ้อเอาเงินโตกพระยาท่านนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตก คิดถึงจะใคร่ได้พบโตกพระยาท่านปรึกษาราชกิจบ้านเมือง...”   ถ้าหากเหตุการณ์เป็นดั่งนี้ พระยาธรรมไตรโลกและกรมการเมืองถลางบางคนกลายเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติไป พระยาธรรมไตรโลกจึงถูกสอบสวนทำโทษ “กรมการเมืองถลางบางคน” ก็คือ พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม พระยาถลางทองพูนหรือพระยาถลางเจียดทอง ที่ต้องถูกคุมตัวเข้าไปกรุงเทพฯเพื่อสอบสวนและเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ ประมาณพ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๓๔ งานของคุณหญิงจันที่ไปกรุงเทพฯจึงสำเร็จสมความมุ่งหมาย คือ พระยาทุกขราชเทียนได้เป็นพระยาถลาง ได้แก้ข้อกล่าวหาของตนให้หลุดพ้น ได้ช่วยพระยาราชกปิตันให้พ้นข้อหาเช่นเดียวกัน

ครอบครัวคุณหญิงจัน นอกจาก นายเทียน ได้เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามกำแหง พระยาถลางแล้ว นายจุ้ย ได้เป็น ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม ยกกระบัตร พระปลัดเมืองถลางคือ นายเรือง น้องชายคุณหญิงจัน ส่วนแม่ปรางบุตรสาวคนโตได้กับ นายจวน ไม่ทราบบรรดาศักดิ์ น่าจะเป็นระดับ “พระ”หรือ”หลวง” เพราะแม่ปรางเรียก “เจ้าคุณ” ข้อความจดหมายที่กล่าวถึงนายจวนและแม่ปราง คือ  จดหมายของแม่ปรางว่า “ข้าฯ แม่ปรางขอปรนนิบัติมายังพระคุณพระยาราชกปิตัน...ด้วยเงินที่ติดค้างอยู่แก่ข้าฯ แลครั้นข้าฯจะเอาลงมาให้ พ่อจวญเจ้าคุณตายลงนั้น ข้าฯยังแต่สักการศพอยู่ ถ้าพระคุณท่านกลับมาเมื่อใด ข้าฯจะจัดไว้ให้ ข้าฯจะเอาพระคุณท่านเป็นที่พึ่งสืบไป แลบัดนี้สิ้นบุญเจ้าคุณแล้ว ข้าฯไม่มีที่จะเห็นหน้าใคร เห็นแต่หน้าพระคุณท่าน เสมือนตัวเจ้าคุณ...”   จดหมายฉบับนี้น่าจะเขียนก่อนพ.ศ. ๒๓๓๕ เพราะจดหมายลงวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๕ จากพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม(เทียน) ที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันกล่าวว่า “...โตกท่านได้เอ็นดูแก่คุณมารดาด้วยเถิด ด้วยทุกวันนี้ ก็แก่ลงกว่าแต่ก่อนแล้ว ก็ขัดสนไม่สบายเหมือนแต่ก่อน แล้วแม่ปรางก็ตายเสียแล้ว โตกท่านช่วยจัดผ้าขาวให้มาทำบุญด้วย จะจัดดีบุกให้ มิให้ตกค้างขัดสน...”  แสดงว่าแม่ปรางถึงแก่กรรมประมาณกลางเดือนเมษายน อายุประมาณ ๔๐ ปี ส่วนนายจวนในจดหมายของพระยาเพชรคีรีศรีสงครามได้กล่าวถึงดังนี้ “...พ่อจวนลงไปอยู่ที่คอกช้าง...”  พ.ศ. ๒๓๓๕ บ้านคอกช้างก็คือบ้านกู้กู ตำบลรัษฎาในปัจจุบัน สมัยนั้นน่าจะเป็นเมืองท่าเรืออีกแห่งหนึ่ง ที่สามารถต่อเรือสำเภาได้สะดวก ดังจดหมายอีกฉบับของเจ้าพระยาสุรินทรราชาว่า “...พ่อจวนราชการทำเรือรบแลส่งพระราชทรัพย์เข้าไปกรุงเป็นอันมาก...” พ.ศ. ๒๓๓๕ แสดงว่าพ่อจวนกับแม่ปรางถึงแก่กรรมเวลาใกล้เคียงกันมาก ส่วนแม่กิ่ม แม่เมืองคงมีครอบครัวอยู่ ณ เมืองถลาง ที่น่าสังเกตก็คือคุณหญิงจันตั้งชื่อบุตรเป็นชื่อจีนสองคนคือ คุณจุ้ยกับคุณกิ่ม

 อีกประการหนึ่งที่บุตรชายบอกว่าคุณหญิงจันแก่แล้ว ไม่ค่อยสบายเหมือนก่อน ขณะนั้นคุณหญิงจันอายุได้ ๕๗ ปี คุณหญิงจันถึงแก่อนิจกรรม ตามบันทึกของนายเอียน มอร์สันว่า พ.ศ. ๒๓๓๕ ตรงกับปีชวด  

จากวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี ได้มีผู้แต่งสรรเสริญไว้มาก รวมทั้งบทละคร  เช่น

 

            @    เมืองถลางปางพม่าล้อม          ลุยรัณ

            รอดเพราะคุณหญิงจันทร์               รับสู้

            ผัวพญาผิอาสัญ                           เสียก่อน ก็ดี

            เหลือแต่ผู้หญิงยังกู้                      เกียรติไว้ชัยเฉลิม

 

                               ฯลฯ

 

 @   เปลก็ไกวดาบก็แกว่งแข็งหรือไม่     ไม่อวดหยิ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว

ไหนไถถากไหนกรากกรำไหนทำครัว      ใช่รู้จักแต่จะยั่วผัวเมื่อไร

@  แรงเหมือนมดอดเหมือนกากล้าเหมือนหญิง นี่จะจริงเหมือนว่าหรือหาไม่

เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร       เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้ฯ

                                         ฯลฯ

          พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

 

 

 

นอกจากจะได้วีรกรรมที่ชาวภูเก็ต และชาวไทยจะได้ยกย่องเทิดทูนแล้วยังได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์อันเป็นเกียรติประวัติ ที่บุคคลรุ่นหลังควรยึดเป็นเยี่ยงอย่าง  นับเป็นสตรีตัวอย่างที่เป็นสตรีนักปกครองนักบริหาร และมีความกล้าหาญ ยากที่จะหาได้ และเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ชนรุ่นหลังสืบไป ชาวเมืองภูเก็ตร่วมกับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรไว้ โดยให้ช่างจากกรมศิลปากรปั้นหล่อประดิษฐานบนแท่นเมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ขนาดโตกว่าคนธรรมดา ๒ เท่า ลักษณะการแต่งกายแบบไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือโจงกระเบน ผมทรงดอกกระทุ่ม สวมเสื้อแขนยาวมีสไบเฉียง มือถือดาบยืนคู่กัน และมีคำจารึกไว้ว่า

 

              ท้าวเทพกระษัตรี (จัน) ท้าวศรีสุนทร (มุก)

                    ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองไว้เป็นสามารถ

เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘

                              มิให้ข้าศึกตีหักเอาบ้านเมือง

                         เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชาวเมืองถลาง

                      ตลอดจนชาวไทยทั่วไปยกย่องสรรเสริญ

                         จึงสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์

                                   เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

         เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์

 

                               มนสิการแม่ถ้าน           จันมุก

                          ป้องปกเหล่าท่วยสุข          ทั่วหน้า

                          ไพรีบ่อาจรุก                       รีบเร่ง  ราไป

                          หลานท่านเหลนฤาลื้อ         บ่เว้นสักการ

 

    

                                                                                                   *****

                                 

 

                    :    สมบูรณ์ แก่นตะเคียน     ๔ มกราคม ๒๕๕๒

 

Title           :  Thao Thep Krasatri  ( Chan )

 

                 :  Somboon Kantakian

 

 Credits      :  Somboon Kantakian

 

 

 

 

หมายเหตุ

   ประวัติท้าวเทพกระษัตรีฉบับนี้ใช้ หนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๒ พงษาวดาร เมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองพังงา เมืองภูเก็จ เป็นหลัก ส่วนหนังสือเรื่องประวัติวงศ์ตระกูล ท้าวเทพสตรี (จันทน์ ) ท้าวศรีสุนทร ( มุกด์ ) หรือ ประวัติตระกูล ณ ถลาง เรียบเรียงโดย ขุนนรภัยพิจารณ์ ( ไวย ณ ถลาง ) มีรายละเอียดพลความเพื่อสรรเสริญบรรพชนลักษณะเป็นตำนาน  ส่วนเรื่อง “ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร โดย สุนัย ราชภัณฑารักษ์” ในหนังสือ ๒๓๒๘ – ๒๕๒๘ หนังสืออนุสรณ์ ๒๐๐ ปี วีรสตรีเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ๒๕๒๘ ได้วิเคราะห์เชิงลึกมีเชิงอรรถอ้างอิง น่าสนใจมาก

 

 พระยาธรรมไตรโลก ตามกฎหมายตราสามดวง พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง เป็น  พระธรรมไตรโลกสมุหะพระกลาโหม

 

   บรรดาศักดิ์ที่ใช้เรียกขานกัน มักไม่ตรงกับบรรดาศักดิ์จริงที่ได้รับ เช่น เจ้าพระยาสุรินทรราชา พระยาสุรินทรราชา เจ้าพระยาถลาง พระยาถลาง เป็นต้น

 

  จียดทอง เจียดเงิน  คำว่า “เจียด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า “ ภาชนะชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายตะลุ่ม มีฝาคล้ายรูปฝาชี เป็นเครื่องยศขุนนางโบราณ สำหรับใส่ของเช่น ผ้า มักทำด้วยเงิน” หน้า ๓๒๖ อาจจะมีผ้าคลุมด้วย

 

   คำว่า จัน ได้มีการเขียน แตกต่างกันไป คือ จัน จันทร์ จันทน์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า จัน เป็นชื่อต้นไม้ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ผลสุกสีเหลือง หอม กินได้ จันทน์ เป็นไม้ชนิดที่มีดอก เนื้อไม้ ผล หอม เอามาทำยาและปรุงเครื่องหอม  จันทร์ คือ พระจันทร์หรือดวงเดือน

 

*****

 

 Note

 rev. 13082555

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
หน่วยงานของรัฐ
  สกสค. ภูเก็ต
  ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
  อบจ. ภูเก็ต
  สนง.เขตการศึกษาภูเก็ต
  เทศบาลนครภูเก็ต
  เทศบาลเมืองกะทู้
  เทศบาลเมืองป่าตอง
  เทศบาลตำบลวิชิต
  เทศบาลตำบลรัษฎา
  เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี
  เทศบาลตำบลฉลอง
  เทศบาลตำบลศรีสุนทร
  อบต.สาคู
  อบต.เกาะแก้ว
  ขนส่งจังหวัดภูเก็ต
โรงพยาบาล
  โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต
  โรงพยาบาลถลาง
  โรงพยาบาลสิริโรจน์
  โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
  โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต
เที่ยวภูเก็ต
  ภูเก็ตท่องเที่ยว
  แอร์เอเชีย
  บางกอกแอร์
  การบินไทย
  นกแอร์
  โอเรียนท์ไทย
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ตลาดหลักทรัพย์-หุ้น
  ตลาดหุ้น
หนังสือพิมพ์
  มติชน
  ข่าวสด
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  voice tv
  สำนักข่าวอิศรา
  ผู้จัดการ
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  บ้านเมือง
  โพสต์ทูเดย์
  สยามสปอร์ต
  เจาะลึกระบบสุขภาพ
  THE STANDARD
  the MATTER
  มุสลิมไทยโพสต์
  สยามธุรกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
  ไทยทริบูน Thai Tribune
  Bangkok Post
  ข่าวช่อง3
  เรียงเบอร์
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
  ข่าวภูเก็ต
  theThaiger
  Phuket Wan
  ข่าวภูเก็ตออนไลน์
  เสียงใต้รายวัน
หางานทำที่ภูเก็ต
  ศูนย์รวมงานจังหวัดภูเก็ต
  สมัครงานที่ภูเก็ต
  หางานทำที่จังหวัดภูเก็ต
หนังสือพิมพ์เพื่อนบ้าน
  ซินหัวไทย
  BBC news / ไทย
  NIKKEI ASIA
  Vientianemai
  Pasaxon
  The Phnom Penh Post
  The Myanmar Times
  Myammar - now
  The Irrawaddy
  Thanh Nien News
  Hanoitimes
  malaysiakini
  The StraitsTimes
  New Straits Times
  Tha Jakatar Post
  The Jakarta Globe
  Inside Indonesia
  The Manila Times
  Phillippine Daily Inquirer
  Phillippine Times
มูลนิธิ สมาคม
  มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต
  มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต
เรื่องน่าสนใจ
  สถิติโลก
  เวลาทั่วโลก
  รหัสไปรษณีย์ไทย
  การหาระยะทางจากเมืองสู่เมือง