คำว่าภูเก็ต
สภาพของเกาะถลางทางตอนเหนือคือ อำเภอถลางมีพื้นที่ราบสามารถทำนาได้ดี ส่วนทางทิศใต้ของเกาะคืออำเภอเมืองภูเก็ตขณะนี้มีแร่ดีบุกมาก ในสมัยก่อนมีชาวบ้านจากตัวเมืองถลางเดินทางลงไปทางทิศใต้ของเกาะเพื่อหาปลาและขุดแร่ดีบุก มิได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างถาวร ต่อมาแร่ดีบุกเป็นที่ต้องการของทางราชการมากจึงได้ตั้งเมืองภูเก็ตขึ้นเป็นเมือง และขึ้นตรงต่อเมืองถลางตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา มีเจ้าเมืองในตำแหน่ง เมืองภูเก็ต ตำแหน่งนี้จากทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เช่น เมืองพินิจภักดีศรีสงคราม ถือศักดินา ๖๐๐ เมืองรามธานี ๘๐๐ และเมืองภักดีศรีสงคราม ถือศักดินา ๖๐๐ เมืองรามธานี ๘๐๐ และเมืองภักดีสงคราม ๑๐๐๐ ดังนั้นเมืองภูเก็ตขณะนั้นอาจจะมีศักดินา ๖๐๐ - ๑๐๐๐
คำว่าภูเก็ตจากเอกสารที่ได้ค้นมาจะพบในเอกสารเมืองถลางจากภาพถ่ายดังนี้
หนังสือ ขาพเจ้าเมืองภูเกจเปน ทุกราช... พ.ศ. ๒๓๒๙) แผ่นที่ ๑๗
จึงใหเมืองภูเกจลงมา... ใหบอกไปยแกเมืองภูเกจ... แผ่นที่๓๗
สำหรับเอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศและใช้ว่า เมืองภูเก็ต, เกาะภูเก็ตนั้นผู้เขียนได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ชาวต่างชาติได้ใช้คำว่าภูเก็ตเลยแต่ใช้ยังซีลัง จังก์ซาโลน ฯลฯ ทั้งสิ้น
คำว่าภูเก็ต เขาเขียนกันมาอย่างไร
คำว่าภูเก็ต แต่เดิมเขียนว่า ภูเกจ คือใช้ จ สะกด หนังสือราชกิจจานุเบกษา ใช้ จ สะกดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นต้นมา ภูเก็ต หรือ ต สะกดตลอด ส่วนวารสารเทศาภิบาลของกระทรวงมหาดไทย ใช้ จ สะกด เท่าที่มีหลักฐานให้ค้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ก็ยังใช้ จ พ.ศ. ๒๔๗๒ ใช้ ต สะกด เป็นเพราะเหตุใดจึงเปลี่ยนตัวสะกดจาก จ เป็น ต และหน่วยงานใดหรือบุคคลใดเสนอให้เปลี่ยนนั้น ยังหาหลักฐานไม่ได้ แต่เข้าใจว่าจะต้องมีผู้รู้ให้คำแนะนำหรือใช้ก่อน มิเช่นนั้นประกาศต่างๆ เกี่ยวกับภูเก็ตในราชกิจจานุเบกษาคงไม่เปลี่ยนเป็น ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๕) เป็นแน่
จากเอกสารเรื่องการปกครองหัวเมืองชายทะเล ในรัชกาลที่ ๔ และต้นรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวถึงพวกโปรตุเกสแต่ได้เขียนดังนี้
ชาติอังกฤษ วิลันดา พุตเกษ ฝรั่งเสต มริกัน...
ฝรังพุทเก็จ
สารตราจากเจ้าพระยามหาเสนา ฯ ถึงพระยาบริรักษ์ภูธรเจ้าเมืองพังงา, พระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดีผู้สำเร็จราชการเมือง ภูเกษ ในเรื่องเดียวกันนี้ได้เรียกชื่อเมือง ภูเกษ หลายครั้ง แต่ภาษาที่ใช้เขียนในเอกสารเหล่านี้เป็นภาษาพูด มิได้เป็นภาษาเขียน ดังนั้นการสะกดจึงต้องพิจารณา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า ภูเก็ต ดังนี้
ภู ๑.น. ดิน,แผ่นดิน, โลก
๒. น. เนินที่สูงขึ้นเป็นจอม,เขา. ภูเขา
เก็จ ๑ น. แก้วประดับ
ดังนั้น คำว่า ภูเก็ต จึงน่าจะแปลว่า ภูเขาแก้ว, เกาะแก้ว, เกาะเพชร, เกาะพลอย เมืองแก้ว
ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ได้สันนิษฐานไว้ว่าคำว่า ภูเก็ต ภูเก็ต น่าจะมาจากคำว่า ภู แปลว่า ภู แปลว่า คำว่า เก็จนี้น่าจะมีผู้แปลจากคำว่า มณิคคราม จากภาษาทมิฬซึ่งแปลว่า เมืองแก้วและอาจเป็นไปได้ว่า ต่อมาชาวมลายูออกสียงเพี้ยนเป็น บุกิต (Bukit) เมื่อแรกที่ได้ยินชาวมลายูพูดคำนี้ซึงแปลว่า ภูเขา ก็เลยเปลี่ยนตัวสะกดเป็น ภูเก็ต ไป ส่วนสุนัย ราชภัณฑ์รักษ์ กล่าวว่าคำว่าภูเขาชาวพื้นเมืองออกเสียง เกาะบูเก๊ะ แต่ชาวยุโรปออกเสียงคำพยางค์ท้ายหนักแต่คำนี้ไม่มีตัวสะกด ดังนั้นจึงออกเสียงจาก เก๊ะ เป็น เก๊ต ไป จึงกลายเป็นเกาะ บูเก๊ต ต่อมาเลียงเลือนเป็น บูเก็ต และภูเก็ตตามสำเนียงไทย
ดังได้กล่าวแล้วว่าท่าเรือกำมรา (Kamara) สมัยโบราณที่อินเดียใต้ มีเมืองท่าเรืออีกแห่งหนึ่งชื่อ โปเดาเก (Podouke) ซึ่งบางท่านว่าคือเมือง ภูการ์ (Pukar) ดังนั้นจากคำว่า ภูการ์ เป็นà ภูกัจ à ภูเก็จ
เยรีนีสันนิษฐานว่าชื่อเมืองภูเก็จ (Phuket, Bhukech) เป็นคำที่ใกล้เคียงกับภาษามลายูจากคำว่า บูกิต (Bukit) แปลว่าภูเขา แต่ก็เป็นไปได้ยาก แต่คิดว่าน่าจะมาจากคำว่า บูกี หรือ วูกี (Bugi or Wugy) ซึ่งเป็นชื่อของพวกชาวหมู่เกาะเซเลเบสที่อพยพจากคาบสมุทรมลายูในตริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ พวกบูกิส (Bugis) ตามหลักฐานของไทยเรียกว่าพวกมุหงิด (Mu-ngit) แต่ก็ยังมิใช่คำว่า ภูเก็จ (Bhukech)
ที่ตัวเมืองภูเก็ตมีคลองอยู่คลองหนึ่งคือ คลองบางใหญ่ซึ่งขณะนี้ตื้นเขินมาก คลองสายนี้ผ่านตลาด ผ่านบ้านสามกอง ผ่านบ้านเก็ตโฮ่ (ภาษาพื้นเมืองเรียกเก๊ตโห) ผ่านท่งทอง (ทุ่งทอง) ผ่านบ้านกะทู้ (ในทู-ภาษาพื้นเมือง) ทอดสู่เชิงทิวเขานางพันธุรัตน์ในสมัยก่อนคลองนี้เป็นแม่น้ำสายใหญ่ เรือสามารถผ่านบ้านสามกองซึ่งมีท่าเรือสามกองถึงเมืองภูเก็จเก่าคือบ้านเก็ตโฮ่ (เก็จโห) ต่อมาแม่น้ำสายนี้หรือแม่น้ำภูเก็จก็กลายเป็นคลอง อ่าวหน้าเมืองภูเก็ตตื้นเขิน ดังคำกราบบังคมทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพต่อสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมืองภูเก็ตตั้งอยู่ริมแม่น้ำทุ่งคา (คลองบางใหญ่) หรือตั้งที่ตำบลทุ่งคาริมลำน้ำภูเก็ต ลำน้ำนี้เดิมเป็นทางเดินเรือซึ่งเรือสามารถเข้าไปถึงตัวเมืองได้ เมื่อการทำเหมืองแร่ดีบุกเจริญขึ้น น้ำล้างแร่ได้พัดเอาทรายดินโคลนลงไปถมในลำน้ำทำให้ตื้นเขิน จนใช้เรือไม่สะดวก เมื่อก่อนนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสเมืองภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เรือกลไฟเล็กยังสามารถแล่นเข้าไปจอดได้ถึงท่าเรือ ชาวภูเก็ตที่อายุตั้งแต่สี่สิบปีขึ้นไปคงจะเคยได้เห็นเรือใหญ่สามารถเข้ามาถึงสะพานพระอร่ามฯ บริเวณแถวน้ำกันมาแล้ว แต่คำว่า เก็ตโห ก็ยังมิใช่เพี้ยนมาเป็น ภูเก็ต
เราทราบกันแล้วว่าเกาะถลางในอดีต มีชาวโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายและมีครอบครัวเป็นคนไทย ต่างก็ได้เพาะลูกเพาะหลานไว้ในป่าในดง บิดาก็มิได้เอาธุระด้วย... เมื่อตนหมดธุระต่าง ๆ ก็กลับบ้านเมือง... พวกฝรั่งบางส่วนคงจะมาตั้งห้างรับซื้อแร่ดีบุกอยู่ ณ เมืองภูเก็ต นอกจากรับซื้อดีบุกแล้วอาจจะจอดพักเรือเพื่อซ่อมเรือ หรือหาเสบียงอาหารหรือหลบมรสุม, รอฤดูมรสุมก็ได้แต่ชาวถลางหรือชนพื้นเมืองส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวเมืองถลาง จะมาเมืองภูเก็ตก็เพื่อทำแร่ดีบุกหรือประมงเท่านั้น และชาวยุโรปที่มาตั้งบ้านพักอยู่ ณ ที่นั้นคงจะเป็นชาวโปรตุเกส (Portugals) ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ฝรั่งพุทเกษ ฝรั่งพวกนี้สมัยก่อนแต่งตัวรุ่มร่าม จนมีคำพื้นเมืองเรียกล้อบุคคลที่แต่งตัวรุ่มร่ามใช้สีฉูดฉาดว่า บาเก้ต
ต่อมาหมู่บ้าน พุทเกษ เรียกสั้นเข้าเป็น พุเกษ > พูเกจ > ภูเก็จ
เมืองภูเก็ต จริงๆแล้วอยู่ที่ไหน
ดังได้กล่าวแล้วว่าชาติที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายในเกาะถลางมีหลายชนชาติ แต่ชาติโปรตุเกสตั้งทำมาหากินนานและใหญ่โตกว่าชนชาติอื่น สถานที่ตั้งเมืองของพวกเขาก็คือ ปากน้ำชายฝั่งคลองท่าเรือ ตำบลท่าเรือฝั่งตะวันออกของเกาะถลางในปัจจุบัน บริเวณนี้ยังมีร่องรอยการถลุงแร่บริเวณบ้านพระยาวิชิตสงคราม ซึ่งท่านเพิ่งสร้างครั้งหลัง แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณคลองท่าเรือมีที่จอดเรือสำเภาขนาดใหญ่ได้ ปากคลองกว้างขวาง สามารถหลบพายุ จัดหาน้ำจืดได้สะดวก และอยู่ใกล้เมืองถลาง ดังนั้นพวกเขาจึงได้สร้างอาคารตึกเป็นหลังๆ เป็นแถวตลอดสองข้างถนน ถนนกว้างและปูด้วยอิฐ มีห้างร้านขายของต่างๆ ผู้คนพลุกพล่าน บรรดากลาสีเรือ กัปตันเรือ ได้มาพักอาศัยเป็นเดือนจนหมดมรสุม เมืองนี้จึงเป็นท่าเรือสำคัญที่จะขนถ่ายสินค้าคือดีบุกที่ถลุงแล้ว ตลอดจนสินค้าอื่นๆ สินค้าขาออกและขาเข้าจึงมีมาก นอกจากท่าเรือตะเภาที่ทะเลพังบ้านดอน ชาวโปรตุเกสจึงยึดครองเป็นอาณานิคมของตนแบบกลายๆ ชาวเมืองถลางจึงเรียกหมู่บ้านย่านนี้ว่า พุทเกษ เจ้าเมืองถลาง จึงต้องให้ขุนนางมาจัดเก็บส่วยสาอากรดีบุกและสินค้าอื่นๆ เมื่อเมืองเจริญขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงต้องตั้งเจ้าเมืองขึ้นมาปกครองในระดับบรรดาศักดิ์ เมือง โดยขึ้นตรงต่อเมืองถลาง ดังหนังสือของคุณหญิงจันที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันตอนหนึ่งว่า ...ครั้นข้าเจ้าจะมาให้พบลาโตกนั้น เจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่ จึงให้ เมืองภูเกจ ลงมา...แลขันนั้น ไม่แจ้งว่าขันอะไร ให้บอกไปแก่ เมืองภูเกจให้แจ้งข้าเจ้า จะเอาลงมาให้ ... บรรดาศักดิ์ตำแหน่งเจ้าเมืองภูเกจดัง
กล่าว คือ เมืองภูเกจ
ดังนั้นคำว่า พุทเกษ จึงมีที่มาตามลำดับคือ
จาก โปรตุเกส > โปเกส > โพเกษ > พุทเกษ > พูเกษ
> ภูเกษ > ภูเกจ > ภูเก็จ > ภูเก็ต
จากบรรดาศักดิ์ เมืองภูเก็ต ต่อมาเขยิบขึ้นเป็น หลวงภูเก็ต พระภูเก็ต และ พระยาภูเก็ต ในที่สุด
คำว่า ภูเก็ต ปรากฏจากเอกสารเมืองถลาง พ.ศ. ๒๓๒๘ แต่ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ช่วงระยะเวลาสองร้อยปีเศษย่อมพัฒนาทั้งตัวเองและภาษาคำพูดได้
การเขียนชื่อภูเก็ตก่อนนี้เขียนกัน ๒อย่างคือ ภูเก็จกับภูเก็ต ทั้งนี้รวมคำอื่นๆ ด้วย จากคำแจ้งความของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า ขณะนั้นการถอดคำภาษาไทยเป็นอักษรโรมัน และวิธีทับศัพท์ยังลักลั่นกันอยู่สุดแต่ใครจะเขียนอย่างไรก็ได้ ต่อมาทางราชบัณฑิตยสถานจึงได้วางมาตรฐานในการเขียนให้เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศโดยกำหนดดังนี้
พยัญชนะ ตัวต้น ตัวสะกด
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
จ ฉ ช ฌ Ch t
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ต ฏ t t
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ถ ฐ ท ฑ ธ ฒ th t
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ผ พ ภ Ph P
ดังนั้นคำที่ใช้สำหรับจังหวัดภูเก็ตที่เป็นทางราชการจะเป็นดังนี้
ภูเก็ต - Phuket
กะทู้ - Kathu
ถลาง - Thalang
สรุป
ที่มาของคำว่า ภูเก็ต ได้มีผู้สันนิษฐานกันต่าง ๆ คือมาจากภาษามลายู จากคำว่า บูกิต (Bukit) หรือ บูเก๊ะ ซึ่งแปลว่าภูเขา ต่อมาคำนี้เลือกเป็นภูเก็ต บ้างว่ามาจากคำว่า บูกิ๊ส (Bugis) ซึ่งเป็นชื่อของชาวเกาะเซเลเบสที่อพยพไปจากแหลมมลายู บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ภู ซึ่งแปลว่าเมือง กับคำว่า เก็จ แปลว่า แก้ว แปลว่า เมืองแก้ว
สำหรับผู้เขียนคิดว่าน่าจะมาจากคำว่า ภูการ์ (Pukar) ซึ่งเป็นชื่อเมืองท่าในอินเดียใต้ ในสมัยเดียวกับเมืองกมรา(กำมะรา) แต่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ คำว่า ภูเกจ ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกชาวโปรตุเกสดังได้อธิบายมาแล้ว
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|