คำว่าถลาง
ชื่อ ถลาง
ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ย่อมมีที่มาเสมอ ว่าจะเป็นการตั้งเพื่อให้เกียรติกับบุคคล ตั้งเพื่อระลึกถึงบ้านเมืองเดิมที่ตนเคยอยู่ ตั้งตามลักษณะปรากฏตามสภาพภูมิศาสตร์ ตามนิทานปรัมปรา เป็นต้น ชื่อสถานที่บางแห่งพอจะทราบความเป็นมาได้ เช่น ตำบลศรีสุนทร ตำบลรัษฏา ถนนโกมารภัจ ภูเขานางพันธุรัตน์ เกาะตะเภา สะพานหิน เป็นต้น แต่บางชื่อขณะนี้จำเป็นตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมาจากอะไร เช่น คำว่าทุ่งคา สามกอง กะทู้ ถลาง ภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้เพราะขาดข้อมูลที่จะอธิบายที่มาของคำเหล่านี้ ดังนั้นท้องถิ่นต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นตนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีต หรือปัจจุบันก็ตาม ทั้งนี้เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นในแง่มุมต่าง ๆ ได้ดี
สำหรับจังหวัดภูเก็ต หรือเกาะภูเก็ตนั้น นับได้ว่าเป็นเมืองที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณ ก่อนกรุงสุโขทัยถึงกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เมืองนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งในสามเมืองของหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ซึ่งเดิมเรียกเกาะถลางหรือเมืองถลางปัจจุบันน่าจะเรียกเกาะถลาง๑มากกว่า
เกาะถลางในสมัยโบราณเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแก่นักเดินเรือทุกชาติที่แล่นเรือผ่านมาย่านนี้เพราะเป็นเกาะที่มีเรือที่ดีสามารถจอดพักหลบพายุได้ดี ดังนั้นเมืองถลางจึมีชนชาติต่าง ๆ เข้ามาเพื่อขายสินค้าและจอดแวะพักเพื่อจะเดินทางต่อไปยังภาคใต้แหลมมลายูนักเดินเรือสมัยแรกๆ น่าจะได้แก่ชาวอินเดียต่อมาชาวเปอร์เชียถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีชาวยุโรปหลายชาติผ่านเข้ามายังเกาะนี้
ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูได้เดินทางเข้ามายังแหลมทองประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว พวกเขา ได้นำศาสนาและภาษาสันสกฤตเขามาเผยแพร่ แต่ระยะแรกนั้นมุ่งที่จะค้าขายเป็นสำคัญ๒ พวกพ่อค้ารุ่นแรก ๆ น่าจะได้แก่พวกที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ชายฝั่งทะเลแถบอินเดียใต้ทั่งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เมืองชายฝั่งเหล่านี้เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างอินเดียกับประเทศแถบตะวันออกกลาง๓ ซึ่งได้แก่เปอร์เชียหรืออิหร่าน, ฟินิเชีย, อียิปต์โบราณ ชนชาติเหล่านี้ได้เดินเรือติดต่อค้าขายกันมาหลายพันปีมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากการพบลูกปัดที่มีลักษณะรูปร่าง ลวดลาย สี และขนาดเหมือนกันเช่นจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ทะเลทรายซีไน (Sinai) เมืองกาซา (Gaza) พบโลงศพแบบอียิปต์โบราณมีลูกปัด๔ ลักษณะเหมือนกับที่ข้าพเจ้า(ผู้เขียน)ได้มาจากชุมชนเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ซึ่งลักษณะเหมือนกับที่ขุดได้มาจากบ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี ลูกปัดดังกล่าวพบได้ทั่วไปในอินเดีย๕ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายกันมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี
การเดินทางมายังประเทศไทยสมัยโบราณนักเดินทางชาวอินเดียใช้เส้นทางที่สำคัญ 3 สาย คือ สายแรกจากบริเวณเมืองอมราวดีปากแม่น้ำกฤษณาในอินเดียใต้แล่นเรือมาขึ้นบกที่เมาะตะมะ เดินทางผ่านเจดีย์สามองค์ สายที่สองเริ่มจากเมืองตามะลิปติสู่เมาะตะมะผ่านเจดีย์สามองค์ สายสุดท้ายเริ่มจากเมืองท่ากานจี หรือ กานจีรัมแคว้นทมิฬนาดู อินเดียใต้ แล่นเรือถึงเมืองมะริด ตะนาวศรี แล้วเดินทางต่อไปยังตะกั่วป่า เกาะถลาง๖ ลงไปแหลมมลายู โดยแวะตามเมืองท่าต่าง ๆ จากการศึกษาจะพบว่า พ่อค้าอินเดียรายใดที่ได้ไปมาค้าขายกับเมืองท่าใด เมื่อถึงฤดูค้าขายก็จะขนสินค้าไปยังเมืองท่าที่ได้เคยค้าขายกันมาก่อน๗ นอกจากพวกพ่อค้าแล้วต่อมาพวกนักปราชญ์ นักบวชก็ได้เดินทางมาเผยแพร่วัฒนธรรมด้วย เป็นต้นว่าทางด้านวรรณกรรมศาสนาและการปกครอง๘ ในสมัยนั้นชาวอินเดียที่นับถือพุทธศาสนาได้ให้การสนับสนุนในการเดินเรือมาค้าขายทางตะวันออกเป็นอันมาก๙
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ชาวอินเดียเดินทางมายังตะวันออก ก็เพื่อหนียุทธภัยสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาแคว้นกลิงคราษฎร์๑๐ และอีกช่วงหนึ่งคือ สมัยพระเจ้าอเล็กซาน เดอร์มหาราชได้ยึดครองอินเดียตอนเหนือ ทำให้อินเดียขาดเส้นทางค้าขายทองคำกับไซบีเรีย อินเดียจึงหาทางมาค้าขายยังแหลมทอง๑๑ นอกจากนี้การเดินทางไปมาค้าขายจำเป็นต้องอาศัยฤดูกาลจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ที่เมืองท่านั้น ๆ เป็นแรมเดือน พ่อค้าบางคนจึงตั้งหลักแหล่ง ณ ที่นั่นก็ได้
บุคคลที่ชาวอินเดียติดต่อค้าขายด้วยนั้นได้แก่ชนพื้นเมืองที่อาศัยมาแต่เดิมคือพวกมอญ เขมร เงาะเซมัง ชาวน้ำ เผ่าพม่า มลายู ไทย และรวมไปถึงชาวอินเดียที่เคยมาอาศัยอยู่ก่อนแล้วด้วย
วัฒนธรรมของชาวอินเดียที่นำมาเผยแพร่นอกจากสิ่งดังกล่าวแล้วอาจรวมไปถึงการตั้งชื่อหรือเรียกชื่อหมู่บ้านตำบลที่พวกตนมาอาศัยยู่นานและมีอิทธิพลต่อเมืองเหล่านั้นหรือไม่ก็ชาวท้องถิ่นได้รับอิทธิพลทางภาษาโดยเฉพาะภาษาสันสกฤต ตัวอย่างชื่อเมืองที่เรียกกันและมีทั้งในประเทศไทยหรือประเทศแถบเอเชียอาคเนย์กับในอินเดีย คือ ราชปุระ ราชบุรี, สิงหบุรี สิงห์บุรี (สิงคโปร์) , สุราษฎร์ สุราษฏร์ธานี, สุรัต, อโยธยา อยุธยา ,มลายู, มาลายาลัม- มลาสยา, มลายู เป็นต้น
ชาวต่างชาติเรียกเมืองถลางว่าอย่างไร?
จากจดหมายเหตุของเจาชูกัว พ.ศ. 1768 เขาได้กล่าวถึงอาณาจักรต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 15 แห่ง ที่ครอบคลุมแหลมมลายูทั้งหมด เช่น Teng-ya-nung-ตรังกานู Chi-lan-tan- กลันตัน, Chia-lo-his-ครหิ-ไชยา Pa-lin-feng- ปาเล็มบัง,Tan-ma-ling- ตามพรลิงค์-นครศรีธรรมราช,Si-lan-ลังกา๑๒ เมืองที่น่าสนใจคือ ซีลัน ซึ่งศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลและยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าเป็นเมืองลังกา บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นเมืองถลางก็ได้ทั้งนี้เพราะเมืองต่าง ๆ ที่กล่าวมาตั้งอยู่แหลมมลายู 12 เมือง สุมาตรา 2 เมือง ชวา 1 เมืองและลังกา ซึ่งอยู่ไกลจากดินแดนดังกล่าว แต่ก้อาจจะเป็นไปได้เพราะถึง พ.ศ. 1773 กษัตริย์แห่งเมืองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ไปส่งทูตไปลังกา (Silan)๑๓ และจากจดหมายการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียนจากลังกาถึงชวาก็ใช้เวลานานประมาณ 90 วัน แต่ส่วนหนึ่งที่ล่าช้าเพราะอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตาม จากบันทึกความทรงจำของจิวตากวนซึ่งได้เดินทางมาอาณาจักรขอมพร้อมกับราชทูต พ.ศ. 1836 เขาได้เล่าถึงตลาดค้าผ้าว่านอกจากผ้าที่ขอมทอใช้เองแล้วยังมีผ้าที่ส่งมาจากต่างประเทศด้วยคือจากเสียม (สยาม) และจัมปาและผ้าที่นิยมกันมากคือผ้าที่มาจากทางทะเลทางทิศตะวันตก๑๔ น่าจะได้แก่อินเดียซึ่งเมืองท่าต่าง ๆ เป็นตลาดค้าผ้าที่สำคัญและอาจจะรวมไปถึงเมืองท่าแถบมะริดตะนาวศรีและเกาะถลางด้วย ทั้งนี้เพราะเกาะถลางนอกจากมีดีบุกอำพันแล้วยังเป็นตลาดค้าผ้าด้วย
จากงานเขียนของกัลป์วาโน (A. Galvano) ซึ่งตีพิมพ์ประมาณ พ.ศ. 2100 ได้กล่าวถึง อัลบูรก (Albuquerque) ว่าเขาได้ส่งคณะสอนศาสนามายังสยามเมื่อ พ.ศ. 2054 เป็นครั้งที่สองจากการเดินทางมาครั้งแรกได้มีการบันทึกการเดินทางเรียกเมืองถลางว่า ยุงซะลัม (Iunsalam)๑๕
เมนเดซ ปีนโต (Mendez Pinto) ได้บันทึกการเดินทางของตนเมื่อ พ.ศ. 2082 ว่าได้ผ่านเรือเมืองถลาง (Juncalan- ยุงซะลัน, Juncalan-ยุงซูลัน, Juncalan-ยุงซะลัน, Iuncalo- ยุงซะโล,Iuncalao-ยุงซะเลา)๑๖
เมื่อ พ.ศ. 2131 ราล์ฟ ฟิช (Ralph Fitch) ได้เดินเรือระหว่างพะโคกับมะละกาว่า เขาได้ผ่านเมืองยุงซะโลน (Iunsalaon)๑๗
ระหว่าง พ.ศ. 2126-2135 ลินสโกเต็น (John Hvighen Ven Linschoten)
ชาวดัทช์ได้บันทึกการเดินทางมายังตะวันออกและหมู่เกาะแถบแหลมมลายู จากฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเรียกเกาะถลางว่ากันสะลัน (Gunsalan)๑๘
บาร์คเกอร์ (Edmund Barker) นายเรือประจำกองเรือของเอร์ เจมส์แลงคัสเตอร์ (Sir James Lancaster) ได้พรรณนาถึงอาณาจักรยุงโซโลม (The Kingdom of Iunsalaom) ไว้น่าสนใสใจมาก เขาผ่านมาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2135 เขาเรียกผู้ปกครองเกาะว่า ราชา(King)๑๙
พ.ศ. 2149 ฮักลุยท์ (Richard Hakluyt) ได้กล่าวถึงเมืองถลางว่า ยุงโซมโลน (Juncalaon)๒๐
ใน พ.ศ. 2149 โบคาร์โร (Antonio Bocarro) ได้กล่าวถึงเมืองถลาง (Juncalao) เมื่อเขาเดินทางผ่านเกาะนี้ 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2149 และ พ.ศ. 2158๒๑
ใน พ.ศ. 2182 เมนเดลสโล (Jean-Albert de Mandelslo) ได้กล่าวถึงเมืองถลาง (Juncalaon) เมื่อเขาเดินทางผ่าน แต่เขาเข้าใจผิดคิดว่าอยู่อาณาจักรมะละกา๒๒
จากบันทึกของพวกพ่อค้าชาวดัทช์ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2204 ได้เรียกเกาะถลางว่า อูเดียงซาลัง๒๓ (แจนซีโลน, จังค์ซีลอน)
พ.ศ. 2205-2206 เดอ บัวส์ (De Bourges) ได้กล่าวถึงชื่อเมืองถลางว่ายังซะลัม(Iansalam) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งใน 11 เมืองของราชอาณาจักรสยาม๒๔
จากสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสยามกับฮอลันดา ซึ่งกระทำเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2207 ได้กล่าวถึงเมืองถลางว่า โอทจังซาลัง๒๕
เมื่อ พ.ศ. 2215 สังฆราชแห่งเบริชซึ่งประจำอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ได้เรียกบาทหลวงเปเรซ (Perez) กลับจากเมืองถลางยุงซะลัม, ยงซะลัม (Junsalam, Jonsalam)๒๖
พ.ศ. 2220 อังกฤษซึ่งตั้งห้างค้าขายอยู่ ณ เมืองสุรัตได้เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นกับขุนนางไทยกรณีแร่ดีบุกหายที่เมืองถลาง๒๗
ระหว่าง พ.ศ. 2224-2228 เกอร์เวส Nicolas Gervaise) แห่งคณะสงฆ์คาทอลิกที่กรุงศรีอยุธยาได้กล่าวไว้ว้าเกาะถลาง (Jonsalam) เป็นที่จอดพักเรือได้ดีในฤดูมรสุม ถึงแม้ว่าท่าเรือจะไม่ลึกพอที่เรือใหญ่จะเข้าจอดได้ พวกฮอลันดากำลังจ้องมองที่จะยึดเกาะนี้อยู่ เพราะมีการพบทองคำ อำพันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีดีบุกมากพระเจ้าแผ่นดินสยามโปรดให้แชร์บอนโน (Rone Charbonneau) ชาวฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าเมืองถลาง๒๘
บาทหลวงเดอชัวซีย์ (Abbo de Choisy) ผู้ช่วยทูตได้บันทึกรายวันการเดินทางมาสู่ประเทศสยาม เขาได้กล่าวถึงเมืองถลางยองค์ เซลัง (Joncelang) ว่าเป็นท่าเรือที่อุ่นหนาฝาคั่งและเป็นที่จอดเรือหลบภัยธรรมชาติได้เป็นอย่างดี อีกตอนหนึ่งเขาได้กล่าวถึงเมืองที่สำคัญ ๆ ของสยาม 8 เมืองรวมทั้งเมืองโยสลัม (Jongeclong) ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือด้านทะเลฝั่งตะวันตกที่มีดีบุกและอำพันมาก๒๙ ในปีเดียวกันนี้ คอนสแตนตินฟอลคอนได้มีจดหมายถึงสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ได้กล่าวถึงเมืองชันสะลัม (Junsalam) และเมืองขึ้นแก่ชันสะลัม๓๐ (Junsalam and its dependencies- ยุงซะเล็ม) ส่วนตัวราชทูต เชวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ใช้ว่า ยองเซลัง (Joncelang) แต่แผนที่ประเทศสยามของเขา ๆ กลับใช้ว่า ยุงซะโลน (Iunsalaon)
คณะราชทูตแห่งเปอร์เชียได้เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสยามเมื่อ พ.ศ. 2228 อาลักษณ์ได้บันทึกการเดินทางไว้ว่าเรือผ่านเมืองตะนาวศรีแล้วมาถึงเมืองยะลัง (Jalang) (ซึ่งน่าจะเป็นเมืองถลาง) พระเจ้ากรุงสยามทรงส่งช้างหลายเชือกมาให้เป็นพาหนะรอนแรมมาอีก 15 วันจึงถึงเมืองเพชรบุรี แล้วจึงลงเรือเดินทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา๓๑
ถึง พ.ศ. 2230 ลาลูแบร์ (Simon la Loubere) กล่าวถึงเมืองยองซะลัม (Jonsalam) ตั้งอยู่บนเกาะในอ่าวเบงกอล๓๒ แต่แผนที่การเดินทางของเขากลับเขียนว่า Isle of Iunsalam
ระหว่าง พ.ศ. 2243-2262 แฮมิลตัน (Captain Alexander Hamilton) ได้แล่นเรือเพื่อค้าขายตลอดแหลมมลายูเขาได้บันทึกถึงชื่อเกาะกลางว่าทางเหนือสุดของเกาะยงค์ซีโลน (Jonk Ceyloan) กับผืนแผ่นดินใหญ่ห่างกันหนึ่งไมล์๓๓
ดร.โคนิค (Dr. Koenig) นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์คได้เดินทางมาสำรวจพืชและสัตว์ตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะยาง เกาะอดัง แต่เขาเข้าใจผิดคิดว่าเกาะอดังคือเกาะถลาง เขาเรียก ปุเลา สลาง (Pullu Salang)๓๔ เขาเดินทางมาเมื่อ พ.ศ. 2322
พ.ศ. 2327 กับตันฟอร์เรสต์ (Captain James Forrest) เรียกเกาะนี้ว่า ยังลีลัน (Jan Sylan)๓๕
พ.ศ. 2352 จากจดหมายของราโบได้เล่าเรื่องสงครามระหว่างเมืองถลางกับพม่าให้นายเรกเตนวาลด์เขาใช้ว่า ยังก์ซซีลัง (Jong Selang)๓๖
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2364 นายยอห์น ครอฝอร์ด (John Crawfurd) เขากล่าวว่า เราผ่านฝั่งเกาะถลาง (Island of Junk Ceylon) ซึ่งชาวถลางเรียกว่า ถลาง (Talang)๓๗ และเมื่อ พ. ศ 2367 ร้อยเอกเจมส์ โลว์ได้เดินทางผ่านเกาะนี้ เขาได้แวะและได้พรรณนาเรื่องราวไว้มากแต่ส่วนใหญ่อาศัยข้อมูลของนายฟอร์เรสต์เขาเรียกเกาะถลางว่า ยังซีลัน (Junk ceyion)๓๘ ส่วนสนธิสัญญาการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษซึ่งจัดทำโดย กัปตันเฮนรี่เบอร์นี่ เมื่อพ.ศ. ๒๓๖๙ ใช้ว่า ยังก์ซีลัน (Junk Ceylon)๓๙
และจากแผนที่ของ ยอร์ช วินเซอร์ เอิร์ล ในหนังสือการเดินทางเรือท่องเที่ยวผจญภัยในทะเลตะวันออกแถบคาบสมุทรอินเดีย ค.ศ. 1832-33-34 เขาใช้ว่า Salang or Junkseylon แผนที่นี้ทำเมื่อ พ.ศ. 2374
ประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือหนังสือของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ทั้งเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเมืองถลางและแผนที่ประเทศไทย ประกอบหนังสือดังกล่าว ท่านใช้ Xalang Salang (ฉลางหรือสลาง)๔๐ แผนที่และหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2397 ส่วนหมอบรัดเลย์ท่านเก็บไว้ 2 คำ คือ ฉลาง, ถลาง-เป็นชื่อหัวเมืองแห่งหนึ่งอยู่ฝ่ายใต้ขึ้นอยู่กรุงเทพมหานคร๔๑
จะเห็นว่าชื่อเมืองถลางตั้งแต่ปรากฏครั้งแรกในเอกสารของชาวยุโรปตั้งแต่พ.ศ.2054 ถึง พ.ศ. 2397 รวมสามร้อยปีเศษ มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักฐานหรือเอกสารจากชาวตะวันออกที่กล่าวถึงเมืองนี้มีน้อยมาก
คนไทยเรียกเมืองถลางว่าอย่างไร?
คราวนี้ลองมาพิจารณาดูว่าคนไทยสมัยก่อนเรียกเมืองถลางว่าอย่างไรบ้าง ?
จากหนังสือสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2228 ว่า
ข้อหนึ่งสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้กุมปันหญีฝรั่งเษดไปตั้งซื้อขายในเมืองถลางบางคลีก็ดีแลในจังหวัดที่นั้น...ประการหนึ่งดีบุกส่วยษาอากร ณ เมืองถลาง แลจังหวัดนั้น... ก็ให้ชาวคลังเรียกเอาตามธรรมเนียม... ๔๒
จากจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า พระโองการให้ตั้งการพระเมรุมีศึกพม่าแทรกกลาง มาล้อมประชิดเมืองถลาง สมเด็จพระปิตุจฉา กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปปราบพม่าที่ล้อมถลางไว้... ๔๓ และจากจารึกวัดพระเชตุพนฯ กล่าวถึงสมณศักดิ์หัวเมืองว่า พระครูวิเชียรปัญญา เมือง ฉลาง
เอกสารเมืองถลางซึ่งศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ได้นำมาจากลอนดอนซึ่งลงในวารสารแถลงงานประวัติศาสตร์ ฯ๔๔ เป็นจดหมายที่บุคคลต่าง ๆ แห่งเมืองถลางมีไปถึงพระยาราชกปิตัน หรือฟรานซิส ไลต์ แห่งเกาะหมาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2320-2335 จะได้คัดคำว่าถลางที่ปรากฏจากภาพถ่ายเอกสารดังนี้
แผ่นที่ 1
เจ้า พญา ถลาง....เมืองถลาง...
แผ่นที่ 17
จึงจ่ใหเปน พญาถลางออกไปย...กับเจ้า พญาถลาง...
แผ่นที่ 24
ตูข้าออก พญาถลางนอกราชการ...
แผ่นที่ 26
....เมืองถล้างดูสักครัง...
แผ่นที่ 29
...เมืองถลางบางคลี...ด้วยพ่ม้ายกกองทัพมาตีเมืองถ่าง
ครังนี...
แผ่นที่ 37
พญาถล้าง ๆ ป้วยหนักอยู ... ถลาง ...
แผ่นที่ 42
...ณ่เมืองถ่ล้างจ่ใคเมีองถ่ล้าง...
แผ่นที่ 47
...มาตียเมียงถ่ล้างจ่ใคถ่ลางปรการไดย...
เอกสารสำคัญอีกสมัยหนึ่งคือ พ.ศ. 2352 ซึ่งมีทั้งจดหมายเหตุและนิราศ จะขอยกตัวอย่างดังนี้
...เจ้าคุณผู้ช่วยราชการให้ไปจับอ้ายพม่า ณ เกาะเมือง ถลาง..อ้ายอากาเย กองปลัดทัพซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองถลาง...เรืออ้ายพม่า ซัดขึ้นแตก ณ อ่าวสาคูเกาะเมืองถลาง....๔๕
หนังสือหมื่นศักดิ์พลเสพย์ถึงพระยานครศรีธรรมราช เรื่องจะตั้งเมืองถลางขึ้นใหม่ ในละออง ฯ เสด็จ ไปเฝ้าล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ กราบทูลว่า ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้มีหนังสือออกไปถึงเมืองนครว่าจะรับตั้งเมืองถลางได้ฦามิได้...๔๖
นิราศถลางของหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) แต่ง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ใช้ว่านิราศถลาง ตัวเรื่องใช้คำว่า ถลาง ทุกแห่ง แต่จากคำนำหนังสือนิราศฉบับพิมพ์ครั้งนี้ อธิบดีกรมศิลปากรได้เขียนไว้ว่า หนังสือเรื่องนิราศถลางนี้ เมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468 ใช้ชื่อว่า นิราศฉลาง...๔๗ เข้าใจว่าแต่เดิมใช้ว่า ฉลาง เพิ่งมาเปลี่ยนตามคำนำดังกล่าวแล้ว อนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้อาจารย์เสยย์ เกิดเจริญ ศึกษานิเทศก์กรมการฝึกหัดครู ได้สำเนาต้นฉบับ นิราศฉลาง จากสมุดข่อยจากวัดลาย ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย นิราศฉลางฉบับนายมีนี้ใช้ว่า... ฉลาง ทุกแห่งตัวอย่าง ...ถึงฉลางกลางวันไม่ทันค่ำ...ชาวฉลางนุ่งห่มดูคมสัน... ชาวฉลางช่างฉอเลาะจนเพราะหู ...อยู่ฉลางค้างปีไม่มีภัย...๔๘ นิราศฉบับนี้เข้าใจว่าแต่ง พ.ศ. 2358-2361
นิราศถลางอีกฉบับหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2352 ใช้ว่า ถลาง ทุกแห่งโดยศึกษาจากต้นฉบับสมุดข่อย ณ หอสมุดแห่งชาติ ตัวอย่างดังนี้
...
เมืองไชยาบอกส่งหนังสือมา
ใจความว่าพม่าฆ่าศรึก
ทั้งสองหมื่นพื้นฮึกหารกล้า
ยกทัพเป้นกระบวรนาวา
เข้าเข่นฆ่าตีได้ถลางเมือง
ปืนใหญ่ปีนน้อยห้าร้อยเศศ
ทั้งสิ่งของสรรพเหตก็ขนเหนื้อง
เชาถลางแตกภ่ายตายเปลือง...๔๙
จดหมายเหตุโหรฉบับวัดศาลาเขื่อนใช้ว่า เมืองฉลาง๕๐ และจดหมายเหตุโหรฉบับหอสมุดแห่งชาติใช้ ฉลาง๕๑
จากเอกสารที่ยกตัวอย่างมาซึ่งคนไทยบันทึกเมืองถลางจะใช้ว่า ถลาง และฉลาง ข้อสันนิษฐาน
คำว่า Junk Ceylon ในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเกาะถลางมาแต่อดีต หมายความว่าอย่างไร
คำว่า Junk เป็นชื่อเรือท้องแบนหรือเรือสำเภา มีใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นเรือขนาดใหญ่ที่ชาวจีนและอินเดียตลอดจนชาวพื้นเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันมาแต่สมัยโบราณ คำนี้นักเดินเรือชาวยุโรปรู้จักกันมานานแล้วคือเมื่อ Friar Odarico นักเดินเรือได้บันทึกไว้แต่พ.ศ. 1874 ต่อมาได้มีผู้เขียนรูปดังกล่าวลงในแผนที่การเดินเรือ อย่างไรก็ตาม ชาวอาหรับโบราณ ที่เดินทางไปมาค้าขายแถบทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักดี ว่า จงก์ ยงก์ หรือ อะจงก์ อะยงก์ (iong, ajong) หมายถึงเรือลำใหญ่ที่ใช้กันอยู่แถบนี้ พวกเขาอาจจะเรียนรู้จากพวกโจรสลัดแถบแหลมมลายู เพราะคำนี้เป็นภาษามลายูว่า jong หรือ ajong๕๒ แต่บางท่านเข้าใจว่าคำนี้ที่จริงเป็นภาษาจีนจากคำว่า Ch,wan ซึ่งแปลว่าเรือหรือเรือใบ เมื่อชาวโปรตุเกสและดัทช์เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยินชาวมาเลย์เรียกก็เรียกตาม๕๓ แต่จากการศึกษาของนักนิรุกติศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่า คำว่า junk ที่เข้าใจว่าเป็นภาษาจีนมาแต่เดิมนั้นมิใช่ จากการที่ได้ศึกษาจากภาษาจีนที่ใช้พูดจากันปรากฏว่าคำนี้ไม่ปรากฏในภาษาจีนใดๆ เลย นักนิรุกติศาสตร์เข้าใจว่าคำนี้ชาวโปตุเกสได้นำไปใช้ก่อนโดยเขียนว่า junco ซึ่งเรียกเรือดังกล่าว คำนี้ชาวโปรตุเกสเอามาจากภาษาชวาจากคำว่า jon๕๔
ต่อมาคำนี้ก็ใช้กันแพร่หลายและเขียนกันไปต่าง ๆ นานาตามภาษาของตน ชาวสเปนและโปรตุเกสใช้ junco ชาวฝรั่งเศสใช้ jonque, joncque ชาวดัทช์ใช้ jonk,junk แต่ภาษาในยุโรปบางชาติสมัยโบราณไม่มีอักษร j แต่ใช้ i แทนเสียง j และ y ดังนั้นคำนี้จึงปรากฏว่าเขียนเป็น ion, iuncks, iunco
สรุปแล้วคำว่า junk แต่เดิมใช้ว่า iunco, junke, junck, junc, yonk, jonk, junk.๕๕ จากบันทึก การเดินทางของชาวยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2054-2397 เขาใช้ว่า Iun, Jun, Gun, Ian, Jon, Jong, Jonk, Jan, Junk. ดังได้กล่าวแล้วว่า I ออกเสียงเป็น y ดังนั้น ภาษาโปรตุเกสที่เขียนว่า Iunsalam จึงอ่านว่า ยุงซาลัม, jun = ยุง, ian = ยัง แต่บางภาษาในยุโรป i และ j สามารถออกเสียงได้ทั้ง jและy ดังนั้นคำว่า jonk, junk จึงอ่าน ได้ทั้ง จงก์, ยงก์, จังก์, ยังก์ เป็นต้น
ส่วนคำว่า Ceylon เป็นชื่อที่ใช้เรียกเกาะศรีลังกาซึ่งเข้าใจกันว่ามาจากคำว่า Sinhala, Sihala สีหละแปลว่าที่อยู่ของราชสีห์จากภาษาบาลีว่า Sihalan สีหะ ลัน ชาวพื้นเมืองเรียกสั้นเข้าเป็น Silan ซีลัน ซีลอน จากความเห็นของ Vander Tuuk ว่าคำว่า Silan หรือ Sailan มาจากรากศัพท์ภาษาชวาจากคำว่า sela เศ ลา (ภาษาสันสกฤตว่า Sila-ศิลา-หิน) แต่ภาษาชวาและภาษามลายูแปลว่าหินมีค่า ดังนั้น Pulo Selan-ปุเลาซีลันจึงแปลว่าเกาะแก้ว (Isle of Gems)
อย่างไรก็ตามชื่อเดิมของเกาะลังกาคือรัตนทวีป (Ratnadvipa) แปลว่าเกาะแก้ว (Isle of Gems) ส่วนชาวอาหรับได้บันทึกชื่อเกาะนี้ว่า Jazirat-alyakut อาฌิรัต-อัลยคุตแปลว่าเกาะพลอย (Isle of Rubies) อนึ่งคำว่าSelan จากภาษาชวานั้นอาจจะเปลี่ยนรูปมาจาก Sailan และคำ Sailan อาจจะมาจากคำว่า Sihala ก็ได้ นายคลินเคิร์ต (Klinkert) ว่า Sailan เป็นภาษาเปอร์เชีย๕๖
สรุปแล้วคำ Ceyion ชาวต่างชาติเรียกขานกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 905 ว่า Serendivis, Sihala, Silan, Ceylam, Ceylon, Silon, Zeloan เป็นต้น และคำนี้แปลได้ว่าเพชรพลอยและที่อาศัยของราชสีห์
สำหรับ Ceylon ของเมืองถลางนั้นช่วงระยะ พ.ศ. 2054-2228 ยังคงใช้ ซาลัม ตั้งแต่ พ.ศ. 2228 เป็นต้นมา เริ่มมีใช้คำว่าซีลัง ถ้าใช้อักษร S,C จะเป็นเสียง ซ แต่การเขียน C ซึ่งออกเสียงได้ทั้ง ซ และ ก ดังนั้นคำว่า Juncalam, Junculan ภาษาโปรตุเกสอาจจะอ่านเป็น ยุงกาลัม, ยุงกูลัม
เว็บสเตอร์ได้กล่าวไว้ว่าสลาง (Salang) ภาษามาเลย์เรียกเกาะภูเก็ต (Phuket Island)๕๗ ส่วน พจานุกรมโคลัมเบียใช้ว่าอุยังสะสัง (สลาง) Ujong Saland) อยู่ในประเทศไทยชื่อเดียวกับเกาะภูเก็ต ((Phuket Island)๕๘ ตามความเห็นของคลินเคร์ต (Klinkert) คำว่า Salang หมายถึงการใช้กริชสำเร็จโทษบุคคลโดยแทงจากไหปลาร้าสู่หัวใจ สคีต (W.W.Skeat Skeat) ก็ใช้ว่า Jong Salang๕๙ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้ใช้ว่า สลาง (Salang) และฉลาง (Xalang)๖๐ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์เข้าใจว่ามาจากคำว่า Selang ซึ่งเพี้ยนจาก Selong และเพี้ยนจาก Selon ซึ่งเลือนมาจาก Ceylon๖๑
สำหรับพจานุกรมไทยฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ ฉลาง ฉะหลาง น. ชื่อชนชาติเดิมพวกหนึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู (มลายูว่า ซะลัง)๖๒ คำนี้ตามฉบับพิมพ์ใหม่พ.ศ. ๒๕๒๕มิได้เก็บไว้
สุนัย ราชภัณฑารักษ์ได้สันนิษฐานไว้ว่า แต่เดิมเกาะภูเก็ตมิได้เป็นเกาะเหมือนปัจจุบัน แต่เป็นแหลม ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบนี้เรียกแหลมว่า อุยุง หรือ อุยัง โดยเหตุที่ภูเก็ตมีหญ้าคาขึ้นมากชาวพื้นเมืองจึงเรียกแหลมหญ้าคา-อุยุงลาและ หรืออุยังลาแล ต่อมาเสียงเลือนเป็น อุยังลาลาง เมื่อชาวต่างประเทศเดินทางผ่านเกาะนี้และได้เรียกเพี้ยนไปเป็นอุยังสะลางและเขียนเป็นจังซีลอน (Junk Ceylon) ทั้งนี้เพื่อจะได้เรียกชื่อที่ใกล้เคียงกับเกาะลังกา เมื่อชาวอินเดียมาตั้งบ้านเรือนอยู่บนแหลมอุยังสะลางมากขึ้นก็เรียกว่าเมืองละลาง หรือเมืองสะลาง แล้วเปลี่ยนเป็นสำเนียงภาษาไทยว่าสะหลาง-ฉลาง และถลางตามลำดับ๖๓ และเขาเข้าใจว่าเมืองถลางนี้ตั้งอยู่ที่อ่าวฉลอง ส่วนครอฝอร์ดได้สันนิษฐานว่า ชาวมาเลย์ที่อาศัยอยู่บริเวณช่องแคบระหว่างเกาะกับผืนแผ่นดินใหญ่ได้เรียกเกาะนี้ว่า อุยัง สะลัง (Ujung Salang)
คำว่า อุยัง (Ujung) แปลว่า แหลม ดังนั้นคำนี้จึงแปลว่า แหลมสลาง (Salang Head Land) ต่อมานักเดินเรือและนักภูมิศาสตร์ได้แปลงจากคำเดิม คือ Ujung Salang เป็นคำที่ใช้อยู่ในขณะนี้ (Junk Ceylon) ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง๖๔ ส่วนกัปตันฟอร์เรสต์คิดว่า คำ Ujong น่าจะถูกต้องมากกว่าคำอื่น๖๕
เยรีนีกล่าวว่า คำที่ใช้เรียกเมืองถลางสำหรับชาวต่างชาติที่เก่าที่สุดประมาณ พ.ศ. 2055 ใช้ว่า Iunsalam, Junsalan หรือ Iunsalao ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส แต่ชาวเมืองถลางเรียกตนเองว่า ฉลาง( Chalang) ซึ่งเป็นคำบันทึกภาษาไทยที่เก่าที่สุด และยังมีคำว่าถลาง (Thalang) ซึ่งใช้เรียกกันอีกคำหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามผู้ที่รู้ดีที่ว่าเป็นคำใดก็น่าจะได้แก่ชาวเมืองถลางเอง ชื่อที่ถูกต้องของเกาะก็น่าจะใช้คำว่า เกาะฉลาง ( Chalang) เพราะได้ใช้มานานแล้ว ส่วนคำว่าสลาง (Salang) นั้นเป็นคำภาษามลายูซึ่งอาจจะใช้เรียกในสมัยที่ชนชาติมลายูแผ่อิทธิพลตลอดแหลมมลายูในคริสต์ศตวรรษที่13ก็ได้ นักเดินเรืออาจจะมองไม่เห็นว่าเป็นเกาะ แต่เห็นเป็นแหลมยื่นออกไปจึงเรียกว่า แหลมสลาง (Ujong Salang) แต่ภาษามลายูไม่สามารถจะออกเสียง ฉ (Ch) ตามภาษาพื้นเมืองได้ จึงออกเสียงเป็น สลาง และตัวอักษร S,Sh,Z เป็นตัวที่มีเสียงใกล้เคียงกับคำนี้ น่าจะเป็นไปได้ว่าคำนี้ต่อมาเลือนเป็น Jong Salang อันเป็นคำที่ชาวยุโรปชาติแรก ๆ เดินทางผ่านมาเขียนเป็น Iunsalan, Iunsalan, Junsulan Junsalan๖๖ เยรีนีคิดว่าความคิดเห็นของฟอร์เรสต์กับครอฝอร์ดน่าจะถูกต้อง
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 ดินแดนแถบแหลมมลายูทีเมืองปาเล็มบังเป็นเมืองใหญ่ โดยมีชาวอินเดียได้มาตั้งรกรากและตั้งตัวเป็นใหญ่ซึ่งอาจจะรวมเมืองถลางเข้าไปด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ดินแดนแถบนี้ชนพื้นเมืองที่เรียกว่า พวกนิกริโต (Nigrito) อาศัยอยู่ แต่เมืองท่าเรือต่าง ๆ อาจจะมีชาวอินเดียใต้ยึดครองตั้งบ้านเรือนและค้าขายกับบ้านเกิดเมืองนอนของตน เมืองถลางก็อาจจะเป็นเมืองท่าเมืองหนึ่งในสมัยนั้นก็ได้๖๗
กล่าวกันว่าพวกนิกริโตเป็นชนกลุ่มน้อยที่เก่าแก่ที่สุดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ชนกลุ่มนี้อาจจะมาจากอินเดีย พวกนี้คือ พวกเซมัง (Semang) แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า ทองกา
คนไทยเรียก เงาะ อีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะอันดามันชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตกตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล จนตลอดแหลมมลายู นิวกินี ฟิลิปปินส์ และบางเกาะในหมู่เกาะ เมลานิเซีย๖๘ กลุ่มที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะนี้ ชื่อเรียกอย่างหนึ่งคือชาวเล หรือชาวน้ำ พม่าเรียก เซลัง๖๙ หรือ ซะลองจัม หรือสยาม ซึ่งเป็นคำภาษาโบราณของขอม๗๐ กล่าวกันว่าภาษาของพวกนี้คล้ายภาษาจามมาก แต่ชาวเลที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยพูดภาษามลายูเพี้ยน๗๑ ที่น่าสังเกตก็คือชื่อที่ใช้เรียกชาวเลคือ เซลัง, ซะลองจัม,เซลุง พระยาอนุมานราชธนเข้าใจว่า จากคำว่า เซลัง เป็นสลางและถลาง๗๒ ในที่สุดซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะชาวเลอาศัยอยู่แถบนี้มาตลอด ดังนั้นจึงน่าจะแปลว่าแหลมที่พวกชาวเซลังหรือชาวเลอาศัยอยู่ (Ujong Selang) แต่คงมิใช่ชาวมาลายูเรียก ทั้งนี้ เพราะมลายูเรียกชาวน้ำว่า โอรังลอุด และชาวน้ำเรียกตัวเองว่าโมเกน อีกประการหนึ่งคำว่าเซลัง, ซะลอง หรือเซลุงนี้ พม่าเรียกมานานเพียงใด เมืองชายฝั่งรวมทั้งหมู่เกาะอันดามันที่ชนพวกนี้อาศัยอยู่เป็นที่อยู่ของพวกมอญด้วย พม่าเพิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อหัวเมืองมอญ ดังนั้นพม่าอาจเรียกตามพวกมอญก็ได้ซึ่งผู้เขียนจะได้ตรวจสอบต่อไป
คำสันนิษฐานที่ใช้กันแพร่หลายก็คือจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงให้ความเห็นตามคำให้การของหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ว่า เดิมชาวโปรตุเกสได้แล่นเรือมาแถบนี้เป็นครั้งแรก คงจะสอบถามชาวมลายูว่าที่นี้ชื่ออะไร แต่ชาวมลายูคิดว่าถามว่าแหลมนี้ชื่ออะไร จึงตอบไปว่า อุยังสะลัง คือแหลมถลาง คำว่า อุยัง (Ujong) ภาษามลายูแปลว่า แหลม ชาวโปรตุเกสเลยเข้าใจว่าเกาะนี้ชื่ออุยสะลัง แต่ฝรั่งพูดเสียง อง ไม่ชัดจึงเพี้ยนเป็น ออง ไป คำว่า อุยง จึงกลายเป็น อุยอง ภายหลัง อุ กล้ำหายไปคงเหลือแต่ ยอง ชื่อเกาะจึงเป็น ยองสะลัง เมื่อชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายและได้ความรู้จากชาวโปรตุเกสว่าเกาะนี้ชื่อ ยองสะลัง แต่ชาวอังกฤษเรียกให้เป็นสำเนียงชาติของตน เสียง ยอง จึงเป็น ยองก์ ยังก์ (Junk) ส่วนคำว่าสะลังนั้น ชาวอังกฤษฟังเสียงคล้ายชื่อเกาะลังกาซึ่งฝรั่งเศสเรียก เซลัง แต่อังกฤษเรียก เซลอน ดังนั้นคำว่า เซลัง ชาวอังกฤษจึงยึดเป็น เซลอน เกาะถลางจากคำว่า ยังก์สะลัง จึงเป็น ยังก์เซลอน๗๓ ข้อสันนิษฐานนี้อ้างว่าเป็นของชาติยุโรปซึ่งน่าจะเป็นไปได้
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าชาวอินเดียใต้ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเมืองท่าต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อค้าขายในระยะแรกหลัง จากนั้นก็ได้เผยแพร่วัฒนธรรมภาษาและวรรณกรรมรวมทั้งธรรมศาสตร์ เมื่อพวกตนมีอิทธิพลขึ้นในเมืองใดก็จะตั้งชื่อเมืองนั้นเหมือนกับเมืองที่พวกตนเคยอยู่ เมืองต่าง ๆ จึงมีชื่อทั้งภาษาทมิฬและสันสกฤตซึ่งพวกตนตั้งขึ้นเอง ตัวอย่างเช่น เมืองบางคลี ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่งอยู่ระหว่างตะกั่วป่ากับถลาง เมืองนี้น่าจะมาจากคำว่า เบงกอล-บางกาลา-เบงกาลา-เบงกาลี-บางคลี บ้านกูกู้ น่าจะมาจากคำว่า googol guggul เป็นภาษาสันสกฤตหมายถึงน้ำมันดินสำหรับทาท้องเรือ๗๔ หมู่บ้านกู้กูอยู่ติดชายฝั่งทะเลของเกาะภูเก็ต ตำบลกมลา ที่ถูกน่าจะเขียนกมรา (Kamara) เข้าใจกันว่าเป็นชื่อเมืองอยู่สุดแหลมอินเดียตรงข้ามเกาะศรีลังกาเป็นเมืองท่า๗๕ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ได้อ้างถึงหนังสือชื่อ History of Srivijaya by K.A. Nitankanta Sastri ว่า พระเจ้าราเชนทรโจที่ 1 กษัตริย์เมืองโจฬะได้ยกทัพมายังแหลมไทยเมื่อปี 1568 โดยตั้งกองทัพที่ภูเก็ตและตั้งชื่อภูเก็ตตามภาษาทมิฬว่ามณิคคราม มณิก (Manik) แปลว่า แก้ว (ruby) คราม มาจากคำว่า ครัม จากคำเต็มว่า Nagaram หรือภาษาสันสกฤตว่า นคร และจากจารึกเขาพระนารายณ์ที่ตะกั่วป่าก็มีคำว่ามณิคครามอยู่ด้วย๗๖
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงชื่อ ๆ หนึ่งคือ มลายา (Malaya) ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าเทือกเขาซึ่งใช้เรียกพืดเขาในประเทศมาลายาลัม (Malayalam) ในสมัยโบราณปัจจุบันคือรัฐเคราลา (Kerala) อยู่ทางฝั่งตะวันตกตอนใต้ของอินเดีย คำนี้มาจากภาษาดราวิเดียนจากคำว่ามาลา (Mala) และมาลัย (Malei) จากภาษาทมิฬ ชาวพื้นเมืองเรียกว่าประเทศภูเขามาลันนาดู ชาวอาหรับเรียก มะละบาร์ (มะละบาร์ Malabar) จาก Mala + bar = ทวีปหรือภูเขา) ดังนั้น คำว่าเมลายู (Melayu) ในภาษามาเลย์ มลายู (Malaiyur) จึงมาจากคำว่า Malabar๗๗ ผู้ที่คิดตั้งชื่อแหลมยา, หรือมลายูจึงน่าจะเป็นชาวมาลายาลัมในแคว้นมะละบาร์ที่ได้เดินทางมาตั้งรกรากหรือมาค้าขายอยู่ ณ แหลมมลายู
เมืองท่าที่สำคัญของมะละบาร์คือเมือง กาลิกัต (Calicut) หรือ Koshikode ในปัจจุบัน กับเมือง ชาเล (Chale) หรือ ชาเลีย (Chalia)
เมืองชาเลียตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำเบย์ปุระเป็นเมืองท่าที่มีชนผิวดำอาศัยอยู่มาก เป็นเมืองที่สวยงาม นอกจากเป็นเมืองที่สำคัญแล้วยังมีสินค้าผ้าที่มีชื่ออีกด้วยเป็นที่รู้จักกันว่าผ้าชาเล (Shalee, shaloo, shella, sallo, chalons, salu, cheles)๗๘ ตามนามเมืองเช่นเดียวกับผ้าที่มีชื่อ เช่นเดียวกัน จากเอกสารเมืองถลางจะเห็นว่ามีผ้าชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ผ้ากาสาวพัสตร์, ผ้าเข้มขาบ ผ้าลายดอก ผ้าขาวผุดดอก ผ้าขาวหน้าทอง หน้าจั่ว ผ้าดำ ผ้าขาวก้านแย่งลายเครือ ผ้าโหมดตาด ผ้าแพรอัตลัด แพรดาไหร่ ผ้าขาวอุเหม้า ผ้ามะลิลา๗๙ ชื่อผ้าฉลางนี้ยังปรากฏในขุนช้างขุนแผนด้วยซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ให้พวกจ่าตานกแก้วกับขาวบาง พวกโขลนเลวลายฉลางกับริ้วญวน และอีกตอนหนึ่งว่า ทั้งหมากพลูมีทุกอย่างลายฉลางคาดพุงหม้อตุ้งก่า๘๐ นอกจากนี้รัชกาลที่2 ยังได้พระราชทานผ้าลายถลางแก่ผู้มีความชอบในโอกาสที่ได้ช้างเผือกจากเมืองโพธิสัตว์เมื่อ พ.ศ. 2355 อีกด้วย๘๑ จะเห็นได้ว่าเมืองถลางเป็นเมืองตลาดผ้าที่สำคัญมาแต่โบราณทีเดียว
ขอย้อนกลับมาที่เมืองชาเลียอีกครั้งหนึ่ง คำว่าชาเล, ชาเลีย เป็นคำที่ต่างชาติเรียก ซึ่งรวมทั้งเรียกชื่อผ้าที่เพี้ยนมาจากชื่อเมืองอีกด้วย ชาวพื้นเมืองเรียกเมืองนี้ว่า Chalyam,Chaliyam Chaliyalam, Chalayam-ชาลิยัม, ชาลายัม ซึ่งอาจจะเรียก Chalayalam-ชาลายาลัม ด้วยก็ได้ ดังคำว่า Malayam-Malayalam ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อชาวเมืองชาเลียมาตั้งห้างค้าขายที่เกาะถลางมากขึ้น เพื่อสะดวกในการติดต่อกับพ่อค้าเมืองแม่ จึงเรียกเกาะนี้ว่า Chaliyam-ชาลิยัม ซึ่งเป็นเมืองท่าเมืองหนึ่งในแหลมมลายา หรือศัพท์เดิมมะละบาร์อันเป็นชื่อประเทศ ก่อนที่ชาวยุโรปบางชาติจะเดินทางมาสำรวจแถบนี้และเช่นเดียวกับเมืองแม่ เกาะนี้จึงเรียกว่า Chaliyam, Chaliyam, Chalayam, Chalayalam.
ต่อมาชื่อเกาะนี้เลือนเสียงตามกาลเวลาดังนี้
คำแรก-เลือนเสียง
Chalayam, Chaliyam > Chalan, Chaliyam > Chalan, Chalam > Chalang
คำที่สอง- สับเสียง
Chalayam -----à Chayalam -----à Chanyalam ---à
Chansalam ---à Junsalam
---à Juncalan
---à Joncelang
---à Jan Sylan
---à Junk Ceylon
Etc.
คำที่สาม- เลือนเสียง
Chalayalam ---à Chanyalam ---à Chansalam --à
---à Junsalam
---à Juncalan
---à Joncelang
---à Jan Sylan
---à Junk Ceylon
Etc.
ดังนั้นคำว่า ฉลาง(Chalang) จึงเลือนเสียงมาจากคำว่าชาลิยัม หรือชาลายัม (Chalyam,Chalayam) อันเป็นชื่อดังเดิมของเกาะนี้ซึ่งชาวทมิฬจากเมืองชาลิยัม ในแคว้นมะละบาร์ในอินเดียใต้เป็นผู้ตั้ง จากคำว่า ชาลิยัม เสียงเลือนเป็นชาลิยัน, แล้วเป็น (ฉลัน),ชาลัม (ฉลัน) แล้วเป็นฉลัง ลากเสียงยาวเป็น ฉลาง (Chalang)
ส่วนคำที่ชาวยุโรปใช้เรียกเกาะนี้ว่า ยันซาลัม, ชันซาลัม, จังซีลัง, ยงซีลัง ฯลฯ ซึ่งเรียกและอ่านไปตามภาษาของตน แต่ความจริงแล้วนั้นชื่อเกาะถลางเสียงอาจเลือนเป็น Chalang กับ Chansalam หรือ Chansalan ชาวยุโรปที่เดินทางมาสำรวจโดยเฉพาะชาวโปรตุเกส ย่อมจะติดต่อนักเดินเรือหรือพ่อค้าแล้วสอบถามชื่อสถานที่ บันทึกลงในแผนที่การเดินเรือตามเสียงที่ปรากฏ แล้วใช้วิธีการคัดลอกและบอกต่อ ๆ กันมา ดังนั้นคำสามพยางค์ตามสำเนียงชาวยุโรปจึงแยกได้ดังนี้
พยางค์แรก ยุง, ยัง, ยัน, ชัน, จัน, จัง,จังก์,
ยังก์, ยงก์, ยง,กัน
พยางค์สอง ซา,ซู, ซี, เซ, คา,กา,กู
พยางค์สาม ลัม, ลัน, ลัง, ลาว, ลอง, ลอน,
โลง, โลน, โลม
คำว่า ถลาง เสียงเลือนมาจากคำว่า ฉลาง ดังนั้น คำว่าฉลางจึงเป็นคำเก่าแก่และใช้มาก่อนและใช้ทั่วไป ส่วนคำว่า ถลาง นั้นปรากฏจากหลักฐานก็คือหนังสือสัญญาค้าขายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ว่า ถลาง เป็นที่น่าสังเกตว่าคำนี้จะใช้เป็นทางราชการหรือข้าราชการขุนนาง และผู้มีความรู้ทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างที่ได้ยกมาให้ดูตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าคนไทยเราใช้เพียง 2 คำ คือ ฉลาง กับ ถลาง
ส่วนคำว่า สลาง (Salang) เป็นสำเนียงชาวมลายูใช้เรียกเกาะนี้ ตามหลักฐานที่ได้แสดงมาแล้ว ทั้งนี้เพราะชาวมลายูออกเสียง (Ch) ไม่ถนัด จึงออกเสียงสำเนียงเป็น สลาง ดังกล่าว
สำหรับชาวเมืองถลางเองจะออกเสียง ถะล่าง เมืองล่าง (Muang Lang)
สรุป
คำว่า ถลาง ได้มีผู้สันนิษฐานถึงที่มาของคำไปต่าง ๆ นานา แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นภาษามลายู มาจากคำว่า อุยงสะลัง คำนี้แปลได้หลายอย่าง เช่น แหลมหิน, แหลมสิงห์, เกาะแก้ว, เกาะเพชรพลอย, เกาะทับทิม, ที่อยู่ของพวกชาวน้ำ ฯลฯ ตามข้อมูลที่เสนอนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าคำว่า ถลาง, ฉลาง มาจากคำว่า ชาลิยัม, ชาลายัม เป็นภาษาทมิฬอันเป็นชื่อเมืองท่าสมัยโบราณของแคว้นมะละบาร์ในอินเดียใต้ มิใช่มาจากคำว่า อุยังสะลัง ซึ่งเป็นภาษามลายูแต่ประการใด
เชิงอรรถ
๑ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราขานุภาพ คำนำ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓ ( พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, ๒๔๕๗ ), หน้า (๕)
๒ ยอร์ช เซเดส ราชอาณาจักรทะเลใต้ แปลโดย กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พิมพ์ในงานศพคุณแม่นวล บุณยศิริพันธุ์, ๒๕๐๔, หน้า ๖๖
๓ ขุนศิริวัฒนอาทร (ผล ศิริวัฒนกุล) เมืองทองหรือสุวรรณภูมิ (พระนคร : โรงพิมพ์ทรงธรรม, ๒๔๙๗), หน้า ๑๙๐
๔ Lost Outpost of the Egyptian Empire. National Geographic. 162(6) : 739-69 December 1982.
๕ ชิน อยู่ดี บ้านดอนตาเพชร (กรมศิลปากร, ๒๕๑๙), หน้า ๘-๑๓
๖ พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์ และ ปรีชา นุ่นสุข ศาสนาและความเชื่อต่างๆของชุมขนโบราณภาคใต้ รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์ โบราณคดีวิจัย (กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๑๓
7 D.G.E., Hall. A History of South-East Asia. (2nd ed. London : Macmillan, 1966.), p.12-13.
8 Ibid., p.18-19.
๙ เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า ๖๖
๑๐ ขุนศิริวัฒนอาณาทร, เรื่องเดิม, หน้า๑๙๑
๑๑ เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า ๖๖
๑๒ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ ( สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๒), หน้า ๖๔
๑๓ เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า๘๐
๑๔ มาดแลน จีโต ประวัติเมืองพระนครของขอม แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิสกุล (จันวาณิชย์, ๒๕๒๖), หน้า ๗๑-๗๖
๑๕ G.E. Gereni, Historical Retrospects of Junkceylon Island รวมเอกสารเรื่องราวกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองถลาง (พิมพ์ในงานศพพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) ศิวาพร, ๒๕๑๐), หน้า ๕๙
16 Henry Yule and A.C. Burnell. Hobson-Jobson : a glossary of colloquial Anglo-Indian words
geographical and discursive. (Delhi : Munshirum, 1968). P. 473.
17 Gerini, op.cit., p. 60.
18 Loc.cit.
19 Yule, op.cit., p.473
20 Gerini, op.cit., p. 61.
21 Loc.cit.
22 Loc.cit.
๒๓ บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษ ๑๗ ล.๒ (กรมศิลปากร, ๒๕๑๓), หน้า๔๗ ผู้เขียนยังหาศัพท์ภาษาเดิมไม่ได้
24 Gerini, op.cit.,p. 62
๒๕ บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรี..., หน้า๘๗-๘๘
๒๖ จดหมายเหตุการเผยแพร่ศาสนาและการเดินทางของบันดาพระสังฆราชประมุขมิสซังและของพระสงฆ์ในปกครองในปีค.ศ. ๑๖๗๒-ค.ศ. ๑๖๗๕ แปลโดย ปอล ซาเวียร์ (กรมศิลปากร, ๒๕๒๓), หน้า ๒๓, ๑๑๖
27 Gerini, op.cit., p. 62.
28 Loc.cit.
๒๙ เดอ ชัวซีย์ จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในค.ศ. ๑๖๘๕ และ ๑๖๘๖ ฉบับสมบูรณ์ ( ก้าวหน้า, ๒๕๑๖), หน้า ๒๒, ๕๕๒
๓๐ จดหมายเหตุเรื่องส่งทูตไทยไปกรุงโรมครั้งที่ ๒ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (โรงพิมพ์สามมิตร, ๒๕๑๕), หน้า ๒๘
๓๑ ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยและสำเภากษัตริย์สุลัยมาน (ฉบับย่อ) (พิมพ์ครั้งที่ ๒ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๕), หน้า ๑๒๖-๘
ขออภัย เชิงอรรถยังไม่สมบูรณ์
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
|