กลุ่มเชื้อชาติ ( ยังไม่สมบูรณ์ )
ลักษณะพิเศษของชาวภูเก็ตมีอย่างหนึ่งที่จังหวัดอื่นๆไม่ค่อยพบเห็น คือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเกาะภูเก็ต เป็นชนหลายเชื้อชาติ ด้วยเป็นเกาะที่การติดต่อสื่อสารในสมัยโบราณค่อนข้างลำบาก เป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันตก ที่ผู้คนหลายชาติแวะพักอาศัย ชนเหล่านี้ต่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา ต่างให้ความเคารพในลัทธิที่พวกเขาเหล่านั้นนับถือ เวลาทำกิจการงานใดจึงขอความช่วยเหลือได้สะดวกที่คนภูเก็ตเรียกว่า "โห"กัน คนภูเก็ตจึงไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ลัทธิศาสนา ความเชื่อถือ ขนบประเพณีของแต่ละกลุ่มชน พวกเขาจึงไปมาหาสู่กันได้แบบสนิทใจ วัฒนธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นจุดแข็งของคนภูเก็ต แต่ทว่าเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไป คนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยทำมาหากินเป็นจำนวนมาก ต่างตั้งกลุ่มของตนขึ้นกลายๆ บางสิ่งบางอย่างจึงเปลี่ยนไป เช่น หมู่บ้านจัดสรรค์ คนเก้เปียะบ้านติดกันยังไม่รู้เลยว่าพวกเขาชื่ออะไร ทำงานอะไร เริ่มเป็นสังคมแบบที่เคยพูดเปรียบเปรยคนกรุงเทพฯสมัยก่อน ...
๑) ชาวจีนในภูเก็ต
คนจีนคงจะได้เข้ามาทำมาหากินบนเกาะภูเก็ต โดยเฉพาะที่เมืองถลางมานานแล้วตั้งแต่สมัยเดินเรือสำเภาผ่านช่องแคบมลายูเพื่อเดินทางต่อไปยังอินเดีย เรือสินค้าจีนคงได้จอดพักที่เกาะถลางเพื่อรอลมมรสุม หาเสบียงอาหาร น้ำเป็นต้น บางคนจึงยึดเอาเป็นที่อยู่อาศัยทำมาค้าขายและมีครอบครัวเป็นคนพื้นเมือง คนจีนสมัยแรกจึงเป็นกลุ่มนักเดินเรือ กลาสีเรือทั้งพ่อค้าจีนเองและพวกยุโรป คนจีนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลจีนใต้โดยเฉพาะที่พูดฮกเกี้ยน เป็นกลุ่มแรกๆที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ด้วยการเดินเรือค้าขาย บางคนรับราชการเป็นล่าม และเป็นกรรมกรในเรือของพวกขุนนางและของพระมหากษัตริย์เป็นจำนวนมาก พวกเขาตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นหมู่บ้านตามภาษาที่พูด ทางราชการจึงได้กำหนดให้มีศักดินาเช่นเดียวกับคนชาติอื่นๆ เช่น ขุนท่องเสื่อ ขุนท่องสมุด เป็นจีนล่ามนายอำเภอ นา ๖๐๐ ขุนวิสุทธิ์สาครล่ามแปลนายสำเภาปากน้ำนา ๔๐๐ นายเรือปาก ๔ วาขึ้นไปจีนแขกฝรั่งอังกฤษสำเภาใหญ่นา๔๐๐ นายเรือปากกว้าง๓วาเศษนา๒๐๐ จุนจู้นายสำเภา นา ๔๐๐ ต้นหน ล้าต้า สำเภาใหญ่นา๒๐๐ เล็กนา๑๐๐ ปั้นจูซ่อมแซมเรือนา ๘๐ ไต้ก๋งซ้ายขวานา ๘๐ ชินเตงเถาซ้ายขวา อาปั๋นกระโดงกลาง จงกว้า เต็กข้อ อากึ่ง นาคนละ ๕๐ เอียวกงบูชาพระ ตัวเลี้ยว สำปั้น เท่าเต้ง ฮูเตี้ยว นาคนละ ๓๐ อิดเซี่ย หยี่เซี่ย สามเซี่ย จับกะเถา เบ้ยปั้น ชินเตง๑๘ คนนายรอง๗คน นาคนละ ๒๕ ไร่ จะเห็นว่าคนจีนมีอาชีพทางการเดินเรือที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนเหล่านี้สังกัดหลวงโชฎึกราชเศรษฐีเจ้ากรมท่า มีศักดินา ๑๔๐๐ ซึ่งก็น่าจะเป็นคนจีนเช่นเดียวกัน นอกจากทำงานดังกล่าวแล้วน่าจะมีงานด้านการเก็บภาษีส่วยสาอากรด้วย เพราะคนจีนสามารถคิดคำนวณดีดลูกคิดและมีระบบการทำบัญชีได้เก่งกว่าชาติอื่น
ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๓ ๒๒๖๒ สมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา อเล็กซานเดอร์ แฮมินตัน (Captain Alexander Hamilton) ได้เดินเรือค้าขายตลอดแหลมมลายู เขาได้บันทึกไว้ว่า เกาะถลาง (Jonkceyloan) อยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ระหว่างเมืองมะริดกับเมืองถลางมีท่าเรือดีๆ หลายแห่ง แต่มีคนอาศัยอยู่น้อย เพราะมีโจรสลัดคอยรบกวน ด้านตะวันตกของเกาะนี้มี อ่าวป่าตอง (Puton) เหมาะแก่การจอดพักเรือในฤดูมรสุม ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนระหว่างตัวเกาะกับผืนแผ่นดินใหญ่ เหมาะแก่การจอดเรือในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกาะนี้อุดมด้วยดีบุก มีผู้ว่าราชการส่วนใหญ่เป็นคนจีน
เมื่อพวกโปรตุเกสเป็นชาติแรก ที่เดินทางเข้าสู่ประเทศสยามเมื่อพ.ศ. ๒๐๖๑ ต่อมาได้ตั้งบ้านเรือนเป็นอาณานิคมของตนที่เกาะถลางบ้านท่าเรือตั้งแต่ประมาณพ.ศ. ๒๐๖๑ ในปีพ.ศ. ๒๐๘๒ เมนเดช ปินโต (Mandez Pinto) ได้เดินทางผ่านบ้านท่าเรือของเกาะถลาง เขาได้กล่าวว่า ขณะนั้นพวกโปรตุเกสมีอิทธิพลอยู่ หมู่บ้านโปรตุเกสหรือหมู่บ้านโภเกจ สร้างถนนด้วยอิฐสองข้างถนนเป็นบ้านเป็นหลังๆไป รูปทรงแบบโปรตุเกสเกือบร้อยหลังคาเรือน ต่อมามีบ้านของพวกกลาสีเรือชาวอินเดียทั้งแขกขาวแขกดำ และคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนจีนส่วนหนึ่งเปลี่ยนอาชีพจากกลาสีเรือ มาทำประมง ขุดหาแร่ดีบุก ตั้งห้างค้าขายยาจีน เครื่องเทศ และของกินของใช้ ตลอดจนอุปกรณ์เดินเรือ จึงเกิดเป็นชุมชนคนจีนขึ้น ทั้งที่หมู่บ้านโภเกจ เมืองถลาง บ้านท่าแครง ตลาดนั่งยองที่บ้านฉลอง บ้านทุ่งคา เป็นต้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปีพ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์พ.ศ. ๒๓๑๑ พระองค์ทรงเป็นคนเชื้อจีนชื่อเป็นภาษาพูดแต้จิ๋วว่า แต้เจียว หรือ เจิ้งเจียว พระองค์ทรงส่งนายคางเซ่งหรือคางเส็ง มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม(คางเซ่ง) พ.ศ. ๒๓๑๒ ๑๓๑๖ และน่าจะเป็นบรรดาศักดิ์ระดับ พระยา คนแรกของเมืองถลางนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งแต่เดิมมีบรรดาศักดิ์ระดับ พระ เท่านั้น
คนจีนที่อาศัยอยู่ตามเมืองท่าต่างๆของเกาะถลาง ด้วยการเดินเรือสำเภาของตนเอง ระหว่างเมืองท่าต่างๆชายฝั่งทะเลตะวันตกตั้งแต่เมืองท่าประเทศพม่าจนตลอดแหลมมลายู เรือของพวกเขาต้องมีปืนใหญ่และอาวุธ ที่ต้องใช้ป้องกันตนเองจากพวกโจรสลัดแถบทะเลอันดามันซึ่งมีชุกชุม คนจีนบางส่วนอาจค้าขายระหว่างเกาะถลางกับท่าเรือเกาะหมาก ไทรบุรี ชาวจีนบางคนรับราชการในเมืองถลางเป็นเสมียนจีน เป็นนายกัปตันเรือ ซึ่งมีชื่อกล่าวในจดหมายคุณหญิงจัน เช่น จีนเฉียวพี่ชายเจ้าหลิม จีนเสมียนอิ่ว กปิตันจีน เป็นต้น ก็คงจะทำมาค้าขายด้วยการค้าขายส่วนใหญ่ เป็นสินค้าพวกอุปโภคบริโภคเช่น ยาจีน เป็นต้น ซึ่งมีกล่าวไว้ว่า หนังสือเสมียนตรามาถึงเสมียนพระยาราชกปิตัน ด้วยตูข้าให้ยาจีน ลงมา การขนส่งดีบุกทางเรือก็ใช้จีนคุม พวกเสมียนก็ใช้คนจีน ตามหลักฐานที่ปรากฏ ส่วนการขุดหาแร่ดีบุกมีคนจีนมาทำการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งการหลอมแร่ดีบุกให้เป็นก้อนเป็นปึกด้วย
ดร.โคนิก ( Dr.Johann Gerhard Koenig ) นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ได้เดินทางมาสำรวจพืชและสัตว์แถบเมืองถลางและเกาะใกล้เคียงเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๑ เขาเขียนเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า คนจีนที่อาศัยอยู่ที่เมืองภูเก็ตท่าเรือได้บอกเขาว่า บนภูเขามีแร่ดีบุกมาก
การสงครามกับพม่าพ.ศ. ๒๓๒๘ และพ.ศ. ๒๓๕๒ คนจีนมีส่วนช่วยเมืองถลางแน่นอนด้วยความรู้ความสามารถ เพราะคนจีนเหล่านั้นมีทั้งผู้มีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ มิใช่แต่เป็นเพียงพ่อค้าอย่างเดียว อาจรวมทั้งพวกหนีราชภัยมาทำหากินด้วย
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๔ หลิมโหพ่อค้าตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองถลาง ได้เดินทางไปปีนังด้วยเรือของตน ขากลับสังเกตเห็นเรือสำเภาที่ไม่ใช่เรือแล่นอยู่ในน่านน้ำแถนนั้น จึงเข้าไปใกล้เห็นเป็นพวกพม่า จึงเข้าจับกุมส่งตัวให้พระยาถลางเจิม ปรากฏว่ามีหนังสือจากผู้ใหญ่เมืองพม่ามีไปถึงพระยาไทรบุรี ให้เป็นกบฏต่อไทย พระยาถลางเจิมจึงส่งชาวพม่าที่จับได้พร้อมหนังสือและตัวนายหลิมโหไปยืนยันที่กรุงเทพฯ เมื่อแปลหนังสือและสอบสวนแล้วเป็นความจริงทุกประการ รัชกาลที่ ๒ จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ หลิมโห เป็น หลวงราชกปิตัน ให้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าเก็บภาษีดีบุกที่เกาะถลางส่งหลวง รวมทั้งการผูกขาดการถลุงแร่ดีบุกเป็นของหลวงด้วย เรือสำเภาแต่ละลำต้องใช้กลาสีเป็นจำนวนมากเพื่อขนสินค้าและฝีพาย จึงต้องการคนที่มีล่ำสันอดทน และสามารถใช้อาวุธต่างๆได้เมื่อเรือถูกโจรสลัดปล้น เพราะบริเวณทะเลแถบนี้มีโจรสลัดชุกชุม
สำหรับเมืองภูเก็ต แต่เดิมเมืองภูเก็ตอยู่บริเวณบ้านท่าเรือ ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ใหม่คือบ้านเก็ตโฮ่ ตำบลในทูหรือกะทู้ แล้วย้ายมาอยู่ที่ตำบลทุ่งคาหรือแถวบางงั่ว รวมทั้งบริเวณตำบลตลาดเหนือ ตลาดใหญ่ในปัจจุบัน
เหมืองดีบุกเป็นตัวจักรสำคัญ ที่ทำให้เมืองต้องย้ายตามไปด้วย คือที่ใดมีแร่มากบริเวณถิ่นนั้นก็เจริญไปด้วย แร่หมดบ้านเมืองหรือตำบลนั้นก็ซบเซาลง
ชาวจีนที่อพยพมาตั้งทำเหมืองดีบุกบริเวณทุ่งคา ซึ่งมีพวกชาวยุโรปร่วมอยู่ด้วยได้ช่วยกันสร้างท่าเรือ ติดต่อค้าขายกับเมืองปีนัง ชาวจีนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า หัวเฉียว หรือ คนจีนโพ้นทะเล แร่ดีบุกได้มาก็ขายให้พวกฝรั่ง ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่ตำบลนี้ในระยะแรกๆ นั้นได้แก่จีน ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้
ในแต่ละตำบล คนจีนอยู่กันเป็นกลุ่ม กลายเป็นตลาดคนจีน มีร้านรวง มหรสพการละเล่นแบบจีน ส่วนอาคารที่อยู่อาศัยแตกต่างจากคนไทยและคนไทยมุสลิม คือ เป็นเรือนกว้านชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูนเป็นห้องแถวข้างถนน ถ้าเป็นบ้านสวนก็เป็นเรือนกว้านเช่นเดียวกัน อาจเป็นพื้นดินหรือปูน รูปทรงเดียวกัน คือด้านหน้ามีประตูสองบาน ช่องหน้าต่างข้างละบาน มีหิ้งบูชาทีกงที่เสาด้านซ้าย เข้าไปเป็นห้องโถงมีหิ้งพระเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ด้านหลังถัดเข้าไปเป็นห้องนอน แล้วจึงเป็นห้องครัวอีกหลังหนึ่งต่อเนื่องกัน แต่เว้นไว้ข้างหนึ่งสำหรับขุดบ่อน้ำกินน้ำใช้ซักล้าง เรียกว่า จิ่มแจ้ มีเตาไฟก่ออิฐ ส่วนใหญ่สามช่อง มีหิ้งเทพเจ้าเตาไฟ หลังบ้านเป็นคอกสัตว์ ส้วม ปลูกพืชผัก
ถ้าเป็นบ้านห้องแถวก็เป็นลักษณะเดียวกัน เว้นแต่บ้านสองชั้น ชั้นบนเป็นห้องนอน
วิถีชีวิตของคนจีนประจำวันคือการไปทำงาน แล้วแต่ละบุคคล ส่วนอาหารการกินผสมผสานระหว่างอาหารแบบจีนกับแบบไทย ถ้าเขามีภรรยาเป็นคนไทย เช่น กินทั้งข้าวสวยข้าวต้ม ส่วนบุตรหลานก็ให้เล่าเรียนภาษาไทย และสอนภาษาจีนด้วยถ้าบิดามีความรู้ภาษาจีน และสอนให้พูดจีนตามแบบชีวิตประจำวัน หรือให้เข้าโรงเรียนจีน ส่วนการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลต่างๆ การแต่งงาน การเกิด การตั้งชื่อ การตาย ยึดแบบแผนประเพณีดั้งเดิมทั้งสิ้น การพูดจาทักทายปราศรัยตามร้านโกปีเตี่ยม ร้านข้าวต้ม โรงงิ้ว โรงสูบฝิ่น ตลาดสด การซื้อของ ใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยน บางคนใช้ภาษาจีนปนไทย เมื่อเกิดกรณีอั้งยี่ขึ้นที่ภูเก็ต ปรากฏว่าเขยจีนแถบบ้านฉลอง ถูกบังคับให้กินหมากตามแบบคนไทย
เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายขนานนามสกุล และด้วยเหตุผลทางการเมือง การติดต่อกับราชการ การทำงานราชการของลูกหลานจีน จำเป็นต้องแปลงแซ่เป็นแบบไทย ด้วยการคงไว้ซึ่งคำที่เป็นแซ่เดิมอยู่ หรือไม่ก็ให้มีความหมายของแซ่ไว้ จนถึงหลานเหลนลื้อ ต่างไม่ทราบว่าพวกตนเป็นคนแซ่ใด ต่างถือตนว่าเป็นคนไทยแล้ว แต่ก็ยังไหว้เจ้าไปเช็งเหม็ง ซึ่งต่างจากคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์มาเลเซียที่ยังคงใช้แซ่อยู่ ไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนเป็นมุสลิมก็ตาม
เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนจีนรุ่นชวด รุ่นทวด ล้มหายตายจากไป ลูกหลานมีประสบการณ์จากวิถีชีวิตแบบไทย จึงใช้วิธีผสมผสานระหว่างประเพณีจีนกับไทย เช่น การแต่งงาน การตาย การฝังศพเป็นเผาแล้วเอากระดูกไปฝังทำเป็นบัวเจดีย์ แต่ก็ยังเซ่นไหว้แบบจีน นานเข้าประเพณีบางอย่างจึงเพี้ยนไปและบางอย่างก็เลิกปฏิบัติ ความเหนียวแน่นของประเพณี การสืบเนื่อง การสืบต่อสานต่อ แทบจะไม่มี ด้วยคนรุ่นใหม่บางส่วนไม่สนใจ คนรุ่นเก่าบางคนไม่อยากให้สืบต่อ แบบเผาตำราทิ้งก็มี
เมื่อลูกหลานไม่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีไว้ แล้วจะให้ใครมาช่วยรักษา หรือให้คนไม่เคยมีแซ่สกุลมาสานต่อ จึงเป็นหน้าที่ของบรรดาลูกหลานจีนชาวภูเก็ตทุกคน ซึ่งมีไม่ต่ำกว่าแสนคน สมาคม องค์การ หน่วยงานมากมายที่เกี่ยวกับจีน ต้องทำจึงจะสำเร็จ
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๒
๒) ฝรั่งในภูเก็ต
พวกยุโรปโดยเฉพาะโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษได้รู้จักเกาะภูเก็ตมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ได้เริ่มเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ เกี่ยวกับการรับซื้อแร่ดีบุกและการแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับเมืองหลวง ใน พ.ศ. ๒๒๓๑ ได้มีการทำสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการซื้อขายดีบุกที่เมืองถลางบางคลี ฝรั่งคงจะแวะพักรับซื้อดีบุกที่เมืองถลางคือฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะส่วนทางใต้ของเกาะคือ เมืองภูเก็ต คงจะแวะจอดขนดีบุกเช่นกัน แต่ชายทะเลแถบนี้พายุไม่พัดแรงจึงใช้หลบพายุซ่อมเรือได้ดี พวกที่มาค้าขายมากที่สุดได้แก่ โปรตุเกส เมื่อมาอยู่นาน ๆ ย่อมมีครอบครัวมีภริยาเป็นคนไทย จึงมีลูกหลานที่สืบสายมาจากฝรั่งเหล่านี้ โดยทั่วไปเป็นกลาสีเรือ จึงไม่มีความรู้เหมือนฝรั่งบางกลุ่ม ชาวถลางที่สืบเชื้อสายมาจากพวกฝรั่งบางส่วนอาศัยอยู่ที่อำเภอถลาง เป็นต้น
1. ฝรั่งบางคนได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง ดังเช่นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ ภราดาเรอเน่ แซร์บอนโน (Rene Charnonneau) ไปเป็นเจ้าเมืองถลาง ภราดารูปนี้แต่เดิมทำงานอยู่กับพระสงฆ์ คณะแซงต์ลาซาร์ กรุงปารีส ต่อมาย้ายไปอยู่คณะสอนศาสนาต่างด้าว แล้วย้ายมาเมืองไทยมีความรู้ทางรักษาโรคปวดหัวและความรู้ทางสร้างป้อม ค่าย หลังจากที่โปรดฯให้สร้างป้อมค่ายแล้วได้ไปเป็นเจ้าเมืองถลางดังกล่าวอยู่ราว ๓ - ๔ ปี จึงย้ายกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นโปรดฯให้มองซิเออร์ บิลลี่ (Monsieur Billi) ไปเป็นเจ้าเมืองแทน บิลลี่ เป็นต้นเรือของเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont ) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับกรุงสยาม นอกจากนี้ฝรั่งบางคนยังโปรดฯให้ไปเป็นเจ้าเมืองตะกั่วทุ่งอีกด้วย
พวกฝรั่งอังกฤษโดยบริษัทอินเดียตะวันออกได้ติดต่อค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ แถบชายทะเลตะวันตกของไทยตลอดจนถึงแหลมมลายู ที่มีชื่อเสียงเช่น พระยาราชกปิตัน ( ฟรานซิส ไลต์ ) เป็นต้น สินค้าที่นำมาค้าขายได้แก่พวกอาวุธ ผ้าชนิดต่างๆ ตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆ ในยุโรป หรือไม่ก็นำสินค้าจากเมืองหนึ่งไปขายอีกเมืองหนึ่งในแถบเอเชีย
การทำเหมืองแร่ เข้าใจว่าฝรั่งได้เริ่มเข้ามาทำกิจการเหมืองในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ร่วมกับคนจีน ต่อมาคนจีนได้ตั้งตนเป็นนายเหมืองทำกิจการขึ้นเองแข่งกับฝรั่ง เมื่อเครื่องจักรได้เข้ามามีบทบาทในการหาแร่ดีบุก ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ถึงสมัยรัชกาลที่...นายเอ็ดเวิร์ด โทมัส ไมลส์ได้ขออนุญาตใช้เรือขุดแร่ที่อ่าวทุ่งคาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นพวกฝรั่งก็เข้ามาตั้งบริษัทขึ้นขุดแร่หลายบริษัท เช่น กะทู้ทิน ภูเก็ตทิน ทุ่งคาฮาเบอร์ อ่าวขามทิน เชิงทะเล เป็นต้น ในแต่ละบริษัทมีฝรั่งเข้ามาควบคุมดูแลเป็นหัวหน้าหลายสิบคน
นอกจากค้าขายแล้ว ฝรั่งบางกลุ่มได้เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ด้วย พวกโปรตุเกสได้สถาปนาโบสถ์คริสต์ขึ้นครั้งแรกที่เมืองถลางเมื่อพ.ศ. ๒๐๖๓ พร้อมทั้งขยายการแผ่ศาสนาไปยังเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ตะนาวศรีด้วย ก่อนที่จะเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ.๒๒๐๕ มองซิญยอร์แลมเบิร์ต เดอ ลา มอตต์ ( Msgr. Lambert de la Motte ) ได้เดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยาและกล่าวว่า มีบาทหลวงเปเรซพำนักอยู่ที่เกาะถลาง ต่อมาได้ขยายไปยังเมืองตะกั่วทุ่ง ตะนาวศรี มะริด ทะวาย ในช่วงกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าพ.ศ. ๒๓๑๐ มีโบสถ์คริสต์อยู่ที่จันทบุรีและเกาะถลางเท่านั้น ในปีพ.ศ. ๒๓๒๓ พระยาถลางได้เชิญมองซิญยอร์คูด ( Msgr. Coude ) ให้อยู่เมืองถลาง และมีบาทหลวงการ์นอลต์ (Fr. Garnault ) สอนศาสนา รวมทั้งที่เมืองตะกั่วทุ่งด้วย ในช่วงสงครามกับพม่า พ.ศ. ๒๓๒๘ ๒๓๕๑ ไม่มีบาทหลวงที่เมืองมะริด ตะนาวศรี แต่มีสองรูปที่เกาะถลางคือ บาทหลวงราโบกับบาทหลวงราฟาเอล จนถึงพ.ศ. ๒๓๕๒ ที่เกาะถลวงโบสถ์คริสต์รวมทั้งชาวคริสต์ถูกพม่าทำลายสิ้น พม่าจับบาทหลวงราโบไปแต่ต่อมาปล่อยกลับ ถึงพ.ศ. ๒๓๘๑ สังฆปรินายกปาลเลอกัวซ์ ( Msgr. Pallegoix ) ได้ดูแลคริสต์ศาสนาที่เกาะถลางอีกครั้งหนึ่ง จนมาสร้างโรงเรียนดาวรุ่งวิทยาขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๗
นอกจากฝรั่งเข้ามาค้าขาย และเผยแผ่คริสต์ศาสนาแล้วในสมัยหลังๆ ยังได้เข้ามามีบทบาททางการแพทย์อีกด้วย ดังเช่นสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เกี่ยวกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลมณฑลภูเก็ต เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙ โดยจ้างนายแพทย์แบ็กซ์ชาวอังกฤษมาประจำ นายแพทย์แอมเมอร์เป็นมิชชันนารี นายแพทย์ปีเดน มาประจำที่โรงพยาบาลใหม่
ปัจจุบันมีฝรั่งหลายชาติเข้ามาอาศัย ทำมาหากินเป็นจำนวนมากตามชายทะเลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยว ฝรั่งบางกลุ่มที่เกษียณงานแล้ว มาพักอาศัยแบบลองสเตย์ก็มาก สังเกตจากห้างสรรพสินค้า ที่พวกเขาซื้อของใช้แบบเอาไปใช้ในครอบครัว ไม่ใช่แบบนักท่องเที่ยวทั่วไป จึงเห็นฝรั่งในตลาดขี่รถจักรยานยนต์ เช่ารถยนต์ใช้ชีวิตแบบคนภูเก็ต ไปธนาคารไปไปรษณีย์ พูดภาษาไทย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ฝรั่งชาติต่างๆได้เดินทางเข้าพักที่ภูเก็ต ใช้ชีวิตอยู่ที่ภูเก็ต ทำมาหากินที่ภูเก็ต ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ชาวภูเก็ตจึงไม่แปลกใจเมื่อเห็นฝรั่งเหล่านั้น
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
|