ภูมิอากาศ
ด้วยเหตุที่ภูเก็ตเป็นเกาะในทะเลอันดามัน จึงมีผลกระทบกับตัวเกาะ ในด้าน กระแสคลื่น กระแสลม น้ำขึ้นน้ำลง สภาพภูมิอากาศจึงเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
สภาพภูมิอากาศของภูเก็ต ซึ่งอยู่ในเขตป่าเขตร้อนมรสุม ( Tropical Monsoon Forest Climate ) จึงทำให้อยู่ในอิทธิพลของลมมรสุมทิศตะวันตก เกิดฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน ในช่วงนี้ถ้าหากเกิดลมพายุในมหาสมุทรอินเดียพัดผ่านเข้ามา จะทำให้เกิดลมแรงและฝนตกหนัก ลมมรสุมตะวันตกเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงกลางเดือนตุลาคมจึงเปลี่ยนฤดู
เมื่อถึงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงของลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้ฝนตกน้อย กลายเป็นฤดูร้อน แต่สภาพอากาศไม่ถึงกับแห้งแล้งเป็นฤดูแล้ง ถ้าหากเกิดดีเพรสชันในทะเลจีนใต้ จะทำให้เกิดฝนตกหนัก
ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตจึงมีเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูฝน กับ ฤดูร้อน ในช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวแผ่เข้าทางภาคเหนือของประเทศไทย แทบจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูเก็ต อาจจะมีระยะสั้นๆ อากาศเย็นสบายประมาณ ๒๓ องศาเซลเซียสเพียงบางปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิอากาศทั่วโลกแปรเปลี่ยน จึงมีผลกระทบกับภูเก็ตด้วย ปริมาณน้ำฝนลดลง
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ระหว่างเดือน มกราคม ถึงเดือน ธันวาคม อุณหภูมิสูงสุด ๓๕.๔ องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม และต่ำสุดในเดือนมกราคม ๒๒.๘ องศาเซลเซียส โดยทั่วไปแล้ว อุณหภูมิเฉลี่ย สูงสุด ๓๓ องศา และต่ำสุด ๒๓ องศาเซลเซียส
ปริมาณน้ำฝน ตลอดปี ๒๕๕๐ วัดได้ ๒๓๙๖.๐ มิลลิเมตร จำนวนวันฝนตกตลอดปี ๑๘๑ วัน ปริมาณฝนตกสูงสุด ๘๒.๗ มิลิเมตร เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๐
ความเร็วของลม ในปี ๒๕๕๐ พัดด้วยความเร็วสูงสุด ๑๗ นอต เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐
|