สงครามกับพม่าพ.ศ. ๒๓๒๘ - ๒๓๕๔
สงครามกับพม่า พ.ศ. ๒๓๒๘
เมื่อพม่าทราบข่าวว่าไทยผลัดแผ่นดินใหม่ คงเข้าใจว่าบ้านเมืองในระยะแรก คงมีความวุ่นวาย คงไม่มีการเตรียมทัพไว้รับศึก จึงคิดวางแผนยกทัพเข้าตียึดเมืองไทย
พม่าเตรียมทัพทำศึก
ฝ่ายพระเจ้าปดุงกรุงอังวะ จึงรับสั่งให้เนมโยตุงคะรัดเป็นแม่ทัพ ให้เตรียมกองทัพทั้งทัพบกทัพเรือด้วยรี้พลหลายหมื่นคน ด้วยการเกณฑ์คนตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะหัวเมืองทางใต้ชายทะเล แล้วให้พยุงโบ่ถือพล ๒๕๐๐ ยกจากเมืองมะริดเข้าไปตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แกงวุนยวนแมงยีถือพล ๔๕๐๐ เป็นทัพหนุน ส่วนทัพเรือให้ยีวุนเป็นแม่ทัพ มีบาวาเชียงเป็นปลัดซ้าย แองยิงเดชะเป็นปลัดขวา ปะตินยอ เป็นยกกระบัตรทัพ ถือพล ๓๐๐๐ ยกลงไปตีเมืองถลาง รวมรี้พลที่จะยกไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ๑๐๐๐๐ แล้วให้วุนแมงยี เป็นแม่ทัพคุมทั้งทัพบกและทัพเรือ ส่วนทัพอื่นๆได้แก่ ทัพหนึ่งยกเข้าด่านเจ้าเขว้าจำนวนพล ๖๐๐๐ อีกทัพหนึ่งให้ยกไปตีเมืองราชบุรีถือพล ๑๐๐๐๐ และทัพหนุนอีก ๑๐๐๐๐ พระเจ้าปดุงเป็นทัพหลวง ถือพล ๒๐๐๐๐ แล้วให้ทัพหน้าเป็นกองที่ ๑ เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ รี้พล ๑๐๐๐๐ กองที่๒ เป็นทัพหนุนถือพล ๕๐๐๐ กองที่๓ ถือพล ๑๐๐๐๐ และกองที่ ๔ ถือพล ๑๐๐๐๐ รวมรี้พลทั้งหมด ๕๕๐๐๐ ส่วนทัพที่ยกไปตีเมืองกาจนบุรีและเมืองตากถือพล ๕๐๐๐ ทัพที่ยกไปตีเมืองเชียงใหม่ถือพล ๒๐๓๐๐ รวมทั้งหมดประมาณ ๙๙๓๐๐ นาย
ไทยเตรียมรับศึก
ฝ่ายทางกรุงเทพฯเมื่อทราบข่าวว่า พม่ากำลังเตรียมทัพที่จะยกมาตีไทย ตามใบบอกของหัวเมืองต่างๆตั้งแต่เหนือจดใต้คือ ใบบอกเมืองถลาง ชุมพร กาญจนบุรี ราชบุรี ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก ลำปาง ว่า พม่ากำลังเตรียมทัพมาตีไทยแน่และยกมาหลายทางตั้งแต่เหนือจดปักษ์ใต้ จึงโปรดฯให้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯยกทัพไปต้านที่เมืองกาญจนบุรี เป็นทัพหลวง ถือรี้พล ๓๐๐๐๐ ส่วนรัชกาลที่ ๑ กับทัพหัวเมืองอีกทัพหนึ่งเป็นทัพหนุนรวมพล ๒๐๐๐๐ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิบดีและเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพถือพล ๕๐๐๐ ยกไปตั้งรับที่เมืองราชบุรี รับสั่งให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์นเรศร์ เจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหะพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรม ยกไปตั้งรับที่เมืองนครสวรรค์ ถือพล ๑๕๐๐๐ พระยามหาโยธา ยกพลกองมอญ ๓๐๐๐ ยกไปตั้งรับที่ด่านกรามช้าง การเตรียมกองทัพทั้งหมดก็เพื่อป้องกันการเข้าโจมตีเมืองหลวงเป็นสำคัญ รวมรี้พลทั้งหมดประมาณ ๗๓๐๐๐ ฝ่ายหัวเมืองปักษ์ใต้ มิได้ส่งกองทัพหลวงไปช่วยเหลือสนับสนุนแต่อย่างไร เพราะศึกกำลังติดพันอยู่ใกล้เมืองหลวง
เปิดศึกการรบ
ฝ่ายทัพหน้าพม่ายกมาถึงด่านกรามช้าง ทัพพระยามหาโยธาแตกพ่าย พม่ายกหนุนมาตั้งที่ลาดหญ้า ท่าดินแดง ตั้งด่านเจดีย์สามองค์เป็นกองบัญชาการ กองทัพทั้งสองฝ่ายยิงตอบโต้ล้มตายเป็นจำนวนมาก แม่ทัพไทยรับสั่งห้ามถอย กองทัพไทยตัดเสบียงอาหารที่ตำบลพุไคร้ รัชกาลที่๑ทรงรับรายงานทัพทรงวิตกจึงยกพลทัพเรือไปตามลำน้ำ ๒๐๐๐๐ ฝ่ายพม่าถูกตัดเสบียงอาหาร ทหารอ่อนล้าหิวโหย พระเจ้าอังวะจึงให้พักรบ ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯทรงใช้กลยุทธ ด้วยการลำเลียงทหารช้างม้าเป็นจำนวนมากขึ้นไปที่ค่ายในเวลากลางวัน กลางคืนจึงผ่อนลอบลงมาทำทุกวันเพื่อให้ข้าศึกเห็นว่ามีกองหนุนยกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พม่ากลัว แล้วระดมทัพเข้าโจมตี จนพม่าแตกพ่ายไปเมื่อวันศุกร์ แรม๔ค่ำ เดือน๔ ฝ่ายทางเหนือพม่าแตกพ่ายไปเช่นเดียวกัน
แล้วทรงดำหริว่า ทัพพม่าที่ยกมาตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกนั้นยังไม่ได้แต่งทัพยกไปช่วย จึงรับสั่งให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯยกทัพลงไปทางทะเล เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ด้วยพลรบ ๒๐๐๐๐ เศษ ถึงชุมพร
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกลงไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยตั้งทัพที่เมืองมะริด แบ่งเป็นสองทัพ ทัพหนึ่งถือพล ๗๐๐๐ มีเนมโยตุงคะรัดเป็นทัพหน้า แกงวุนเป็นแม่ทัพถือพล ๔๕๐๐ เป็นทัพหนุน ยกเข้าตีเมืองกระ เมืองระนอง เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช แตกสิ้น
อีกทัพหนึ่งให้ยีวุนเป็นแม่ทัพ มีบาวาเชียงเป็นปลัดซ้าย แองยิงเตชะเป็นปลัดขวา ปะตินยอ เป็นยกกระบัตรทัพ ยกกองทัพเรือด้วยพล ๓๐๐๐ ลงไปตีเมืองถลาง
ฝ่ายเมืองถลาง ชาวถลางรู้ข่าวศึกพม่าก่อนแล้วจากคนที่มาจากตะกั่วป่าตามหนังสือของพระพิชิตสงคราม ที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันที่ปีนัง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๒๘ ว่า ครั้นมาถึงปากพระ คนขึ้นมาแต่เมืองตะกั่วป่าบอกว่า ชาวเมืองตะกั่วป่ารู้ข่าวพม่ากำเริบวุ่นวายอยู่ จึงกลับลงไปตะกั่วป่า จัดแจงบ้านเมืองแล้วจะกลับมาให้พบท่านพระยาราชกปิตัน
จากหนังสือของคุณหญิงจันมีไปถึง พระยาราชกปิตันเจ้าเมืองปีนัง มีข้อความในหนังสือกล่าวว่า ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลาง ขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้น เห็นธุระของลาโตกอยู่แต่หากลาโตกเมตตาเห็นดูข้าพเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทรมานอยู่ ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งก็เป็นแล้วจะลากลับไปและมี(เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ทัพพม่ายกมาจริง ข้าพเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่อยู่ต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค้าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนักมิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวตักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยือนขุนท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยกกระบัตร ขุนท่าไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะมาให้พบลาโตกนั้นเจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่จึงให้เมืองภูเก็จลงมาลาโตกได้เห็นดูอยู่ก่อน ถ้าเจ้าคุณค่อยคลายป่วยขึ้น ข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก แลขันนั้นไม่แจ้งว่าขันอะไร ให้บอกแก่เมืองภูเก็จให้แจ้งข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้นขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกิน ให้ลาโตกช่วยว่ากัปตันอีศกัสให้ยาฝิ่นเข้ามาสัก ๙ แทน ๑๐ แทน แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ชี่ชื่นขึ้นมาสักที หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง
กองทัพเรือของยีวุ่น ยกลงมาตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง แตกแล้วยกมาตีเมืองปากพระแตก จึงให้ยกมาตีเมืองถลาง และก็เป็นไปตามแผน เมื่อปากพระแตกซึ่งตอนนั้นคุณหญิงจันถูกคุมขังอยู่ที่นั่น จึงได้หนีลงเรือกลับเมืองถลางดังจดหมายคุณหญิงจันถึงพระยาราชกปิตัน
ฝ่ายเมืองถลาง ได้เตรียมการที่จะป้องกันเมืองค่อนข้างดี ด้วยได้มีเมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน และตัวคุณหญิงเองที่สั่งซื้ออาวุธยุทธปัจจัยไว้พร้อมดังจดหมายหลายฉบับที่กล่าวถึง ฝ่ายพระยาถลางพิมลขันธ์ซึ่งป่วยหนักอยู่ ก็ถึงแก่กรรม เมืองถลางจึงว่างเจ้าเมือง คงมีแต่พระปลัด ยกกระบัตร กรมการเมือง รวมทั้งคุณหญิงจันคุณมุกน้องสาว เมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน เมื่อกองทัพพม่าเข้าตีเมืองตะกั่วทุ่ง กองลาดตระเวนของเมืองถลางทราบข่าวแล้ว เพราะทั้งสองเมืองมีเขตติดต่อกัน คุณหญิงจัน คุณมุก และกรมการเมืองถลาง ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม ยกกระบัตร ออกหลวงพิพิธภักดีสมบัติ เจ้ากรมพระคลังเมืองถลางและพระปลัดทองพูน เมืองภูเก็จเทียนได้ร่วมประชุมวางแผนการตั้งทัพรับพม่า เข้าใจกันว่าทัพพม่าคงมาจอดที่ท่าตะเภาซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของเมืองถลางทางบ้านดอน และคงยกทัพเข้าตีทางหน้าเมือง เพราะทางด้านหลังเป็นที่กันดารลำบาก คุณหญิงจันจึงให้คนที่อาศัยแถวท่าเรือตะเภา บ้านดอนอพยพเข้าไปอยู่ในค่ายใหญ่ที่บ้านตะเคียน โดยจัดแบ่งเป็น ๒ ค่าย ตั้งอยู่ที่บ้านค่ายแห่งหนึ่งอันเป็นทางเดินติดต่อมาจากท่ามะพร้าว หากข้าศึกยกมาทางนี้จะได้ขวางได้ เพื่อทราบว่าพม่าไม่ได้ยกทัพมาทางนี้จึงแยกกองไปตั้งค่ายอยู่หลังวัดพระนางสร้าง ค่ายนี้มีปืนใหญ่ประจำชื่อ แม่นางกลางเมือง กระบอกหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งตั้งที่ทุ่งนางดักมอบให้พระปลัดทองพูนเป็นผู้คุม มีปืนใหญ่ชื่อ พระพิรุณสังหาร กระบอกหนึ่ง ส่วนคุณหญิงจันเป็นผู้บัญชาการรบทั่ว ๆ ไป โดยมีคุณมุกเป็นผู้ช่วย
ฝ่านกองทัพพม่ายกพลข้ามช่องแคบเข้าจอดเรือที่ท่าตะเภา จัดการตั้งค่ายใหญ่ริมทะเลเป็นสองค่ายคือ ค่ายนาโคกแห่งหนึ่งกับค่ายนาบ้านกลางอีกแห่งหนึ่ง ชักปีกกาถึงกัน ส่วนค่ายของเมืองถลางตั้งเป็นสองค่าย โดยมีคลองบางใหญ่เป็นคูกั้น
ค่ายพม่าอยู่ในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่และได้ยิงไปทุกวัน ได้รบพุ่งกันอยู่ราวเดือนเศษ ฝ่ายพม่าล้มตายไป ๓๐๐ - ๔๐๐ คนเศษและเจ็บป่วยอีกเป็นจำนวนมาก กองทัพเมืองถลางจึงยกเข้าโจมตีทัพพม่า พวกทหารพม่าลงเรือแล่นหนีไป เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง
หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว ทางเมืองถลางมีพระปลัดทองพูนเป็นผู้รักษาว่าราชการเมืองได้ทำใบบอกแจ้งเหตุการณ์ครั้งนี้ไปกราบทูลสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพลงมาทางปักษ์ใต้เพื่อตีทัพพม่าขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองสงขลา โดยให้เมืองภูเก็จเทียนถือไปถวาย หนังสือใบบอกอีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรุงเทพมหานคร
ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อเสร็จศึกแล้ว จึงเสด็จเข้ากรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อกราบทูลถวายรายงานราชการสงครามหัวเมืองปักษ์ใต้ และผู้ที่จะได้รับบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้ คุณหญิงจัน ภรรยาพระยาถลางคนก่อน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ให้คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ให้พระปลัดทองพูนเป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลางเจียดทองเสมอเสนาบดี มีศักดินา ๑๐๐๐๐ และถือว่าเป็น พระยาพานทองคนแรกของเมืองถลาง คนอื่นๆต่างก็ได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นถ้วนหน้า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ คือเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก รวมทั้งเมืองภูเก็จเทียนที่ได้เป็น พระยาทุกขราช ในตอนที่เข้าไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯที่สงขลา
สรุปการสงคราม พ.ศ.๒๓๒๘
ฝ่ายพม่าและเมืองถลางเตรียมทัพเป็นอย่างดี
การจัดทัพ
ฝ่ายพม่า
- ยีวุน เป็นแม่ทัพ
- บาวาเชียงเป็นปลัดซ้าย
- แองยิงเตชะเป็นปลัดขวา
- ปะตินยอ เป็นยกกระบัตร
ฝ่ายเมืองถลาง
- คุณหญิงจัน บัญชาการทั่วไป
- คุณมุกผู้ช่วย
- พระปลัดทองพูนบัญชาการรบ
- หลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม ยกกระบัตร
- หลวงพิพิธภักดีสมบัติ เจ้ากรมพระคลัง
- เมืองภูเก็จเทียน
จำนวนรี้พล
- พม่า ๓๐๐๐
- ชาวถลางประมาณ ๒๐๐๐
ผลของสงคราม
- พม่าล้อมอยู่เดือนเศษ
- พม่าถูกฆ่าตาย ๓๐๐ ๔๐๐ นาย
- พม่าบาดเจ็บจำนวนมาก
- กองทัพเมืองถลางยกเข้าตีค่ายพม่า
- พม่าแตกพ่ายไป
- คุณหญิงจันได้เป็น ท้าวเทพกระษัตรี
- คุณมุกเป็น ท้าวศรีสุนทร
- พระปลัดทองพูน เป็นพระยาถลางเจียดทอง
หรือพระยาพานทอง เทียบได้กับเสนาบดี
- เมืองภูเก็จเทียน เป็นพระยาทุกขราช ปลัดเมืองถลาง
ภายหลังสงครามแล้ว ทางเมืองหลวงได้เกณฑ์ทหารมาประจำที่เมืองถลาง ๒๐๐๐ นาย เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๐ เพื่อรักษาเมือง นอกเหนือจากทหารของเมืองถลางอีกจำนวนหนึ่ง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๔ มกราคม ๒๕๕๒
Title : Thalang and Burmese War in 1785
: Somboon Kantakian
สงครามกับพม่า พ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๓๕๔
การสงคราม ระหว่างพ.ศ. ๒๓๕๒ ๒๓๕๔ กองทัพทั้งของไทยและพม่าต่างมีอาวุธสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ฝ่ายพม่าซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากฝรั่งเศส ที่มีรัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน ส่วนไทยได้พ่อค้าชาวอังกฤษทีมีบริษัทอิสต์อินเดียตั้งห้างอยู่ที่เกาะหมากปีนัง เป็นฝ่ายสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ การสงครามจึงเหี้ยมมากกว่าแต่ก่อน คือข้าศึกสามารถสังหารฝ่ายตรงกันข้ามได้ครั้งละมากๆ
พม่าเตรียมทำศึก
ฝ่ายพม่าในปีพ.ศ. ๒๓๕๑ จ.ศ. ๑๑๗๐ สัมฤทธิศก ปีมะโรง พระเจ้าอังวะรับสั่งให้ อะเติงวุนคุมกองทัพ ๓๐๐๐๐ ให้ยกไปตีกรุงไทย พร้อมรับสั่งให้กรมการเมืองทวายจัดข้าวสารให้ได้ ๒๐๐๐๐ สัด ( ๑ สัดเท่ากับ ๒๐ ลิตร ) ข้าวเปลือก ๒๐๐๐๐๐ สัด เจ้าเมืองทวายจึงเกณฑ์ราษฎรตำข้าวสารใส่ยุ้งใหม่ รวมทั้งจัดหาข้าวเปลือก ในขณะที่อะเติงวุนตั้งทัพอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ฝ่ายเจ้าเมืองจิตตองกับเจ้าเมืองย่างกุ้งกล่าวว่าเดิมพม่ากำลังจะทำสัญญากับไทย และนัดกันลงนามที่ด่านเจดีย์สามองค์ในเดือน ๔ แต่อะเติงวุนบอกว่าตนได้เตรียมรี้พล พร้อมเสบียงอาหารไว้พร้อมแล้ว จะมาห้ามทัพยกไปตีเมืองไทยได้อย่างไร จึงทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าอังวะหาว่าเจ้าเมืองทั้งสองขัดขวางที่จะยกทัพไปตีไทย รับสั่งลงมาให้ปลดเจ้าเมืองทั้งสองเสีย
อะเติงวุนจึงยกทัพด้วยพล ๒๘๐๐๐ นาย ลงมาตั้งทัพที่เมืองทวาย ในเดือน ๖ ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๗๑ เอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒ แล้วเกณฑ์ให้สร้างเรือที่สามารถบรรจุคนได้ ๒๐/๓๐/๔๐/๕๐ คนต่อลำ รวม ๒๓๗ ลำ ให้เกณฑ์ชาวบ้านขุดร่อนหาแร่ดีบุก ให้ปลูกข้าวไร่ตามไหล่เขา และทำนาในที่ลุ่ม และยังได้สร้างวัง เลือกคนที่สนิทมาเป็นพวกอีกมาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร จนมีคนทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าอังวะ หาว่าเป็นกบฏ เมื่ออะเติงวุนทราบดังนั้น จึงทำหนังสือขึ้นไปกราบทูลว่า ตนมิได้เป็นกบฏ ถ้าหากยกทัพไปตีไทยไม่ได้ ขอให้ประหารชีวิตตนเสีย พระเจ้าอังวะทรงอนุญาต
อะเติงวุนจึงตั้ง งะอุน เจ้าเมืองทวาย เป็นแม่ทัพถือพล ๓๐๐๐ เจยะตุเรียงจอ ปลัดเมืองทวาย เป็นปลัดทัพฝ่ายขวา สิงขะตุเรียงเจ้าเมืองมะริด เป็นปลัดทัพฝ่ายซ้ายถือพล ๑๐๐๐ ให้พละยางอ่องงะมะยะตะเล เป็นยกกระบัตรทัพ รวมทหาร ๑๐๐๐๐ นาย ปืนหลัก ๒๐๐ กระบอก ปืนคาบศิลา ๓๕๐๐ กระบอก ปืนหน้าเรือ ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว ๒๐ กระบอก รวมทั้งหมด ๓๗๒๐ กระบอก พร้อมจ่ายดินปืนกระสุนและข้าวสารคนละ ๓ สัด เรือ ๒๓๗ ลำ ให้ยกไปตีเมืองถลาง
ไทยเตรียมรับศึก
หลังจากปีพ.ศ. ๒๓๒๘ แล้วเป็นเวลา ๒๔ ปี จึงได้รับข่าวจากพ่อค้านักเดินเรือว่า พม่าเตรียมยกมาตีไทย โดยเฉพาะเมืองถลางและหัวเมืองใกล้เคียง เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งเมืองถลางจึงมีใบบอกไปยังเมืองหลวง ฝ่ายกรุงเทพฯจึงให้พระยาจ่าแสนยากรคุมพล ๕๐๐๐ เดินทางบกลงไปก่อน ให้เจ้าพระยาพลเทพไปรักษาเมืองเพชรบุรี ถ้าหากการทัพคับขันก็ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นทัพหน้า ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นทัพหลวง แล้วจะโปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯยกทัพลงไปอีกทัพหนึ่ง รวมสองทัพเป็นพล ๒๐๐๐๐
ฝ่ายหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อได้ทราบข่าว และได้รับคำสั่งจากเมืองหลวงจึงเกณฑ์คน เมืองนครศรีธรรมราช ๑๐๐๐ เมืองสงขลาและปัตตานี ๑๐๐๐ เมืองไชยา ๑๐๐๐ รวมเข้ากับกองเรือเป็นพล ๓๗๐๐ แล้วให้พระยาพิชัยบุรินทร์ยกไปทางริมทะเลอ่าวพังงาจำนวนพล ๑๐๐๐ กำหนดให้ยกทัพพร้อมกันในวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔
เมื่อหัวเมืองต่างๆได้รับคำสั่งให้เตรียมทัพ ปรากฏว่าเกิดปัญหาขึ้นคือ เมืองพัทลุงเมืองสงขลาไม่มีปืนใหญ่ เหล็กที่จะทำฟากต่อเรือก็ไม่มี เงินที่จะไปซื้อปืนมาเพิ่มเติม ซื้อเหล็กก็ไม่มี จึงหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการไปยืมเงินคหบดีจีนที่คุ้นเคยได้แก่ นายอ้น จีนพัด จีนฉิน จีนกัวโหล จีนอิ่ม จีนซ่ง พระกปิตันพานิชเจ้าเมืองเกาะหมาก และเซควิสิเตโข เมื่อได้เงินมาแล้วจึงไปติดต่อพระกปิตันที่เมืองเกาะหมาก ซื้อปืนมะเรี่ยมชนิดต่างๆ มีดปลายปืน ดินปืน กระสุนขนาดต่างๆ เหล็กฟาก ตะปูเหล็ก เรือ เป็นต้น สิ่งของบางอย่างพระกปิตันได้ให้ยืม เช่น ปืน และให้สิ่งของอุปโภคบริโภคเช่น เกลือ ยาสูบ เหล้าแดง พริกเทศ กะปิ เป็นต้น อาวุธปืนที่ซื้อมาเป็นปืนหน้าเรือ และปืนสำหรับนายทัพนายกอง ฝ่ายพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชได้ต่อเรือขึ้นใหม่ ขนาดปากกว้าง ๕ ศอก ยาว ๑๐ วา คนกรรเชียง ๖๐ รวม ๒๐ ลำ
ฝ่ายเมืองถลาง พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลางบุญคง สั่งให้เตรียมพร้อมตั้งแต่ทราบข่าวจากพ่อค้าเดินเรือว่าพม่ายกมาตีเมืองถลางแน่ จึงได้ตรวจตรารั้วกำแพงเมืองซึ่งย้ายเมืองไปที่บ้านดอน สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมสรรพ เสบียงอาหาร และฝึกผู้คน ซึ่งมีประมาณ ๒๐๐๐ เศษ
สถานการณ์สงคราม
สงครามครั้งที่ ๑ เดือน สิงหาคม ๒๓๕๒
ฝ่ายกองเรือพม่าปีกขวา มีเจยะตุเรียงจอเป็นแม่ทัพคุมพล ๓๐๐๐ ยกพลถึงเมืองตะกั่วป่า ยกเข้าเมือง แต่ปรากฏว่ากรมการเมืองและราษฎรต่างหนีเข้าป่าไปสิ้น ทิ้งอาวุธไว้คือ ปืนขนาดกระสุน ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว จำนวน ๑๓ กระบอก ปืนหลัก ๒ กระบอก คาบศิลา ๙ กระบอก รวม ๒๔ กระบอก ข้าวเปลือกประมาณ ๒๐๐๐ สัด แล้วให้ทหารขนใส่เรือ จับได้ผู้หญิงชรา ๒ คน
รุ่งขึ้นกองเรือของสิงขะตุเรียงล่องลงมาถึงค่ายบ้านนาเตย ( จากปากพระหรือทานุ่น ไป โคกกลอย นาเตย บางคลี ท้ายเหมือง ) คุมพล ๔๐๐๐ กรมการเมืองและผู้คนต่างหนีเข้าป่าไปสิ้น เหลือทิ้งไว้คือ ปืนชนิดต่างๆรวม ๓๘ กระบอก ข้าวเปลือกประมาณ ๓๐๐๐ สัด
แม่ทัพงะอูจึงยกพลลงมาตั้งทัพที่บ้านนาเตย มีพล ๓๐๐๐ แล้วจัดทัพเสียใหม่ ให้เจยะตุเรียงจอเป็นนายทัพเรือถือพล ๓๐๐๐ กองหนึ่ง ให้สิงขะตุเรียงถือพล ๓๐๐๐ เดินไปทางบกกองหนึ่ง แล้วให้ทหาร ๑๐๐๐ นายอยู่รักษาเรือที่บ้านนาเตย แล้วให้ยกลงไปพร้อมกันที่ปากพระ ให้ยกพลพร้อมกันเข้าตีเมืองถลาง โดยเจยะตุเรียงจอยกกองเรือไปทางฝั่งตะวันตกทางบ้านสาคู สิงขะตุเรียงยกข้ามช่องปากพระเดินบกลงไปเมืองถลาง ฝ่ายงะอูแม่ทัพยกกองเรือไปทางฝั่งตะวันออก
ฝ่ายกองเรือเจยะตุเรียงจอยกมาถึงหาดบ้านสาคู เกิดปะทะกับกองลาดตระเวนเมืองถลาง กองลาดตระเวนจึงถอยกลับลงไปเข้าค่ายเมืองถลางบ้านดอน กองทหารของเจยะตุเรียงจอยกลงไปถึงบ้านตะเคียนแล้วพักพลอยู่ ๗ วัน เมื่อกองทหารของสิงขะตุเรียงเดินทางบกยกมาถึง จึงขยายปีกกองทัพเข้าล้อมค่ายเมืองถลางบ้านดอนไว้ รวม ๑๕ ค่าย แต่ล้อมไว้ไม่ได้หมดทั้งสี่ด้าน เหลือแต่ทางทิศใต้ว่างไว้เพราะจำนวนพลรบไม่เพียงพอ
ในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๑๒ เวลากลางคืนจึงยกเข้าตีค่ายเมืองถลางพร้อมกัน ฝ่ายทหารเมืองถลางได้ยิงปืนใหญ่ออกมาทุกทิศทางถูกทหารพม่าล้มตายไปประมาณ ๕๐๐ คน ที่เหลือได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก แม่ทัพจึงสั่งให้ถอยทัพเข้าค่าย
ฝ่ายงะอูแม่ทัพ เมื่อสั่งการแล้ว จึงให้กองเรือของตนเคลื่อนพลไปทางฝั่งตะวันออกของเกาะถลาง ถึงแหลมยามูได้เกิดการปะทะกับกองเรือของพระยาท้ายน้ำซึ่งแตกพ่ายหนีไป แม่ทัพงะอูจึงยกเข้าตีเมืองภูเก็ตท่าเรือจนแตก แล้วตั้งบัญชาการทัพที่เมืองภูเก็ตท่าเรือ
เมื่องะอูทราบว่าเจยะตุเรียงจอถอยทัพเข้าค่ายไม่สู้เต็มที่ จึงสั่งให้สิงขะตุเรียงไปจับเจยะตุเรียงจอมาฆ่าเสีย แต่เจยะตุเรียงจอขอแก้ตัว หากเข้าตีค่ายถลางไม่แตกตนก็จะขอตาย งะอูจึงยอมปล่อยเจยะตุเรียงจอให้ไปแก้ตัวใหม่ แต่ให้บังเอิญแม่ทัพงะอูถึงแก่กรรมกะทันหันที่เมืองภูเก็ตท่าเรือนั่นเอง ทำให้ไม่มีผู้สั่งการเป็นแม่ทัพ กองทัพปีกขวาซ้ายคือ เจยะตุเรียงจอกับสิงขะตุเรียงจึงถอยทัพลงเรือขึ้นไปรอคำสั่งใหม่ที่ปากจั่นเมืองระนองตั้งทัพอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง
สรุปการรบครั้งแรกเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๕๒ อะเติงวุนแม่ทัพใหญ่ มีรี้พล ๑๐๐๐๐ แล้วให้
- งะอู แม่ทัพถือพล ๓๐๐๐ ตั้งที่นาเตยและรักษาเรือรบ
๒๐๐๐ กองหนุน ๑๐๐๐
- เจยะตุเรียงจอ ปีกขวา ถือพล ๓๐๐๐
- สิงขะตุเรียงปีกซ้าย ถือพล ๔๐๐๐
จำนวนรี้พล
- พม่า ๘๐๐๐
- ชาวถลาง ๒๐๐๐
ผลของสงคราม
- ล้อมเมืองถลางแต่ตีไม่ได้ทหารถูกปืนใหญ่ตาย ๕๐๐ เจ็บอีกมาก
- แม่ทัพงะอูตายกะทันหันที่ภูเก็ตท่าเรือ
- ถอยทัพพม่าถอยไปตั้งที่ปากจั่น ระนอง เดือนเศษ
สงครามครั้งที่ ๒ เดือน มกราคม ๒๓๕๒
ฝ่ายอะเติงวุนเมื่อทราบดังนั้น จึงตั้งให้งะชานเป็นแม่ทัพลงไปจับเจยะตุเรียงจอปลัดขวาและสิงขะตุเรียงปลัดซ้ายฆ่าเสีย แล้วตั้งแยจักตะกุนเป็นปลัดขวา แยละสุระจอเป็นปลัดซ้ายเมื่อแม่ทัพคนใหม่มาถึงปากจั่นจึงประชุมนายทหารทั้งหมด ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งหลายจึงว่าแก่งะชานแม่ทัพว่า ขอให้งดการฆ่านายทัพทั้งสองไว้ก่อน ให้ยกทัพไปรบแก้ตัวใหม่ หากพ่ายแพ้กลับมาก็ให้ฆ่าเสีย แม่ทัพงะชานยอมให้ไปแก้ตัว แล้วมอบพลทหารจำนวน ๔๐๐๐ให้เจยะตุเรียงจอ เป็นปลัดขวา ให้ทหาร ๓๐๐๐ แก่สิงขะตุเรียงเป็นปลัดซ้ายยกลงไปตีเมืองถลาง ส่วนตัวแม่ทัพเป็นกองหนุน ถือรี้พลประมาณ ๑๐๐๐ ทหารที่เหลือให้เฝ้าเรือรบและกองบัญชาการที่นาเตย
ในขณะเดียวกันอะเติงวุนมีหนังสือถึงงะชานบอกว่าได้ให้ ตุเรียงสาละกะยอเป็นแม่ทัพถือพล ๘๐๐๐ ยกไปตีเมืองชุมพรก่อน แล้วให้ยกลงไปสมทบตีเมืองถลาง
ฝ่ายเมืองถลางเมื่อทราบข่าว จากพ่อค้าเดินเรือสำเภาว่า พม่ายังคงตั้งทัพอยู่ที่ปากจั่นไม่ทราบว่าจะไปตีเมืองใด พระยาถลางบุญคงจึงต้องเตรียมผู้คนเสบียงอาหาร อาวุธยุทธปัจจัยไว้พร้อม ในขณะเดียวกันได้มีใบบอกไปยังเมืองหลวง และรอกองทัพจากเมืองหลวง และหัวเมืองให้มาช่วยสนับสนุนรักษาเมืองถลาง
กองทหารพม่าจำนวน ๗๐๐๐ นายมีเจยะตุเรียงจอกับสิงขะตุเรียงเป็นนายทัพ จึงยกลงมาล้อมเมืองถลางไว้ แต่ไม่สามารถเข้าตีได้สะดวกเพราะทางค่ายเมืองถลาง ยิงปืนใหญ่เข้าใส่ทุกวัน
ฝ่ายตุเรียงสาละกะยอแม่ทัพยกไปตีเมืองชุมพร ปรากฏว่าทหารหนีทัพเจ็บป่วยตายเสียเป็นจำนวนมากจากพลรบ ๘๐๐๐ เหลือเพียง ๖๐๐๐ นาย เมื่อได้เมืองชุมพรแล้วจึงยกลงไปเมืองถลาง ยกเข้าถึงเมืองถลาง รวมพลทหารฝ่ายพม่าที่ล้อมเมืองถลางอยู่นั้นประมาณ ๑๓๐๐๐ แล้วยกเข้าตีพร้อมกัน
พม่าล้อมเมืองถลางอยู่ประมาณ ๒๗ วัน เมืองถลางยังไม่มีวี่แววว่า ทัพหัวเมืองและเมืองหลวงยกเข้ามาช่วยแต่ประการใด ฝ่ายกองทัพพม่าจึงยกเข้าตีพร้อมกัน ในขณะที่เมืองถลางมีจำนวนทหาร ๒๐๐๐ เศษ ยากที่จะต่อสู้กับข้าศึกได้ที่ยกกันมาถึง ๑๓๐๐๐ คน ชาวถลางได้ต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอน และไม่มีทางที่จะหนีรอดไปได้เพราะพม่าล้อมอยู่ทุกทิศทาง จนวินาทีสุดท้าย เมืองถลางก็แตกเมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๕๒ จ.ศ.๑๑๗๑(ปีใหม่เริ่มเดือนเมษายน) เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ พม่าเผาเมืองเสียราบเรียบ ได้ปืนใหญ่ขนาดกระสุน ๓ ๔ นิ้ว จำนวน ๘๔ กระบอก ปืนหลัก ๒๐ กระบอก ปืนคาบศิลา ๕๐ กระบอก รวม ๑๕๔ กระบอก ดีบุกที่ถลุงแล้ว ๓๐๐๐ ปึก จับชาวบ้านได้ ๓๐๐ เศษส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนคนหนุ่มถูกฆ่าทิ้ง ชาวถลางสู้ศึกคาค่ายครั้งนี้ล้มตายกว่าพันคน พระยาถลางบุญคงสู้ข้าศึกจนถูกจับคาค่ายเช่นเดียวกัน พม่าจึงส่งสิ่งของและคนไปยังเมืองทวาย อะเติงวุนทำหนังสือส่งพระยาถลางบุญคงไปเมืองหลวงอังวะ
การสงครามคราวนี้ พวกฝรั่งที่เดินทางผ่านมาพบเห็นและถูกพม่าจับกุมก็มีดังจดหมายของมองซิเออร์ ราโบ มีไปถึง มองซิเออร์เรกเตนวาลด์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๕๓(ปฏิทินไทยยังอยู่ในพ.ศ. ๒๓๕๒) ได้เล่าถึงเมืองภูเก็ตท่าเรือที่ถูกพม่าเผาเมืองและป้อม พม่าได้ล้อมและจับผู้คนเป็นเชลยไว้มาก แต่ที่หนีเข้าไปในป่าก็มี ราโบได้มาถึงภูเก็ตก่อนที่พม่าจะเข้าตีเพียงวันเดียว และได้เห็นพม่ายกพลขึ้นบก ราโบจึงรีบหนีเข้าไปในค่ายของไทย เมื่อค่ายแตกราโบถูกจับทรมาน แต่มีนายทหารพม่าซึ่งสามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้ ได้ช่วยเหลือให้ตนพ้นภัย
ชาวเมืองถลางที่ล้มตาย หนีรอดไปได้ และถูกจับเป็นเชลยและพระยาถลางบุญคง จึงเป็นวีรชนเมืองถลางอย่างแท้จริง แต่ไม่มีอนุสรณ์สถาน หรือสดุดีวีรกรรม ให้แก่พวกเขาจนบัดนี้ มิหนำซ้ำกลับปรักปรำหาว่าเกณฑ์คนเข้าค่ายไม่ทัน แต่ความพร้อมของทหารหัวเมือง ซึ่งได้แก่เจ้าเมืองและกรมการเมือง ไม่มีความพร้อมในการสั่งการและเตรียมการ ตลอดจนการข่าวของเมืองหลวงอ่อนแอไม่เด็ดขาด ทั้งๆที่รู้ว่าเมืองถลางเป็นเกาะมหาสมบัติเป็นขุมทรัพย์ที่ชาวต่างชาติต้องการได้ไว้ รวมทั้งพม่าด้วย ชาวถลางที่ถูกจับได้คาค่าย แล้วใช้เชือกหวายเล็กผูกขาเอามารวมกันผูกเป็นพวงอีกที คงจะพวงละห้าคนสิบคน ไม่ใช่เจาะเอ็นร้อยหวายอย่างที่บางคนพูด โอกาสหนีจึงไม่มี พวกพม่าจึงรีบต้อนเอาไปลงเรือที่อ่าวยามู เพราะกลัวทัพไทยจะมาช่วย แต่ทหารพม่ามีกว่าหมื่นนาย จำนวนเรือมีไม่พอที่จะใส่เชลยชาวถลางสิ้น ขนไปได้เพียงจำนวนหนึ่ง เชลยชาวถลางที่เหลือจึงเกิดกรณี "บ้านป่าคลอก" ขึ้น คงจะเป็นคนหนุ่มคนที่ไม่ยอมเป็นขี้ข้าข้าศึก ขอตายอย่างชาตินักรบ กล่าวกันว่าพม่าใช้ทางมะพร้าวสุมเชลยชาวถลางยกพวง แล้วจุดไฟเผาที่ใกล้ชายหาดนั่นเอง พม่าเอาชาวถลางไปเป็นคนใช้ ทำนาทำไร่ ร่อนหาแร่ดีบุกที่เมืองมะริด ฯลฯ
สรุปการสงคราม เดือนมกราคม ๒๓๕๓ ( เดือนไทยยังอยู่ปี ๒๓๕๒ )
การจัดทัพคราวนี้ ไม่มีรายละเอียดจำนวนพลรบ แต่ใกล้เคียงกับครั้งแรก ประมาณการดังนี้
- งะชาน แม่ทัพคนใหม่ถือพล ๓๐๐๐ เฝ้ากองบัญชาการและเรือรบที่นาเตย ๒๐๐๐ กองหนุน ๑๐๐๐
- เจยะตุเรียงจอ ๓๐๐๐
- สิงขะตุเรียง ๔๐๐๐
- ตุเรียงสาละกะยอ ๕๐๐๐
จำนวนรี้พล
- พม่า ๑๓๐๐๐
- ชาวถลาง ๒๐๐๐
ผลของสงคราม
- พม่าล้อมค่ายเมืองถลางบ้านดอน ๒๗ วัน
- เมืองถลางแตก
- ชาวถลางล้มตายกว่าพัน
- ชาวถลางถูกจับกุมไปพม่า จำนวนหนึ่ง ที่เหลือใส่เรือไม่หมด จุดไฟเผาทั้งเป็น เกิดกรณีบ้าน "ป่าคลอก"ขึ้น
- พระยาถลางบุญคงถูกจับไปพม่า
- เมืองถลางถูกเผาสิ้นรวมทั้งเมืองภูเก็ตท่าเรือ
- เมืองถลางกลายเป็นเมืองร้างพ.ศ. ๒๓๕๓
สงครามครั้งที่ ๓ เดือน พฤษภาคม ๒๓๕๓
ฝ่ายเมืองถลางเมื่อพม่าเผาเมือง ฆ่าผู้คนล้มตายลงเป็นอันมากพร้อมทั้งกวาดเอาทรัพย์สินเงินทอง กลับไปยังเมืองพม่าเป็นอันมากแล้ว อะเติงวุนคงคิดการณ์ไกล อยากได้เมืองถลางเป็นของพม่าด้วยเป็นขุมทรัพย์ที่มีดีบุกเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างกำไรให้ตนและประเทศพม่าแสดงแสนยานุภาพได้ไม่น้อย
เขาจึงคิดเอาเมืองถลางเป็นฐานที่มั่น ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๕๓ จ.ศ. ๑๑๗๒ โทศก ปีมะเมีย แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ระยะเวลาห่างกันประมาณสามเดือน จึงให้ สีป่อวุนเป็นแม่ทัพ เยละจอจะวาเป็นปลัดซ้าย อาคาเยฆองเป็นปลัดขวา อะเติงวุนคุมพล ๕๒๐๐ เจ้าเมืองทวายคุมพล ๕๐๐ เจ้าเมืองมะริดคุมพล ๓๐๐ รวม ๖๐๐๐ ให้ตอยาโปเป็นทัพหน้าคุมพล ๑๐๕๐ ให้เจยะตุเรียงจอ นายทองนากและชาวถลางอีก ๓๐คนรวม ๓๑ คน เข้าสมทบกับกองหน้า มีปืนหน้าเรือ ๖ กระบอก ปืนหลัก ๒๐ คาบศิลา ๔๕๐ รวม ๔๗๖ กระบอก พร้อมทั้งกระสุนและข้าวสารคนละ ๓ สัด พร้อมเรือ ๒๘ ลำ ได้มอบแผนที่เมืองถลางให้ตอยาโป พร้อมกำชับให้สร้างกำแพงเมืองเป็นกำแพงดินขึ้นใหม่ ให้ขุดคูรอบกำแพงสร้างเมืองให้แข็งแรง แล้วให้ทหารกองหน้าทั้งหมด ๑๐๕๐ นาย อยู่รักษาเมืองถลาง ส่วนแม่ทัพสีป่อวุนคุมพล ๖๐๐๐ ยกไปตีเมืองไทรบุรี แล้วให้เคลื่อนทัพลงมาพร้อมกัน
แต่ในช่วงดังกล่าวเป็นฤดูมรสุม เมื่อกองเรือยกออกจากเมืองทวายเจอมรสุมเรือของสีป่อวุนจมหลายลำ คนตาย ๑๐๐ เศษ เรือสูญเสีย ๓๒ ลำ ทหารหนีเสีย ๑๐๐๐ เศษ ส่วนกองหน้าตอยาโปเรือสูญเสีย ๕ ลำ คนตายประมาณ ๑๘๐ จนถึงตะกั่วป่าพักอยู่ ๓ วัน แล้วยกลงมาถึงเมืองถลาง แต่เจอพายุทั้งลมและฝนอีกเรือแตกที่บ้านสาคู กองหน้าของตอยาโปเหลือทหารเมื่อถึงเมืองถลางเพียง ๓๕๐ คน ฝ่ายกองทัพของสีป่อวุนเหลือทหารประมาณ ๓๐๐๐ เมื่อถึงนาเตย ปากพระจึงตัดไม้ทำแพข้ามไปพักเมืองถลาง ได้ ๙ วัน ทหารพม่า ๓๕๐ ต่างอดอยากขาดข้าวสารด้วยเรือถูกพายุล่ม เมืองถลางก็ยังร้าง พักทัพอยู่เมืองถลางได้เดือนเศษ ตอยาโปจึงให้ งะสุบุตรชายลงเรือขึ้นไปซื้อข้าวสารที่เมืองมะริด แต่เรือไปถึงบ้านนาเตยถูกพายุเรือแตกสิ้น จึงพากันเดินทางบกมาเมืองถลาง แต่เจอกองลาดตระเวนไทย พวกพม่าจึงหนีทิ้งเงิน ปืนหน้าเรือ ปืนคาบศิลา ทหารไทยจับงะสุและเจยะตุเรียงจอ และพลทหารรวม ๗ คน ส่งเข้าเมืองหลวง
ฝ่ายกองทหารไทยเมื่อทราบข่าวพม่ายกทัพลงมา จึงยกพลทั้งกองบก และกองเรือเข้าตีกองทหารพม่า กองบกจับได้สีป่อวุนแม่ทัพรวมทั้ง ตอยาโปแม่ทัพหน้า และทหารอีกรวม ๕๑๓ ส่วนกองเรือจับได้ ๔๒๓ แต่เอาใส่เรือไม่หมดจึงฆ่าทิ้งเสีย ๑๒๒ คน รวมทหารพม่าที่ถูกจับกุม ๙๓๖ คน
สรุปการสงคราม เดือน พฤษภาคม ๒๓๕๓
การจัดทัพ อะเติงวุน ให้
- สีป่อวุน เป็นแม่ทัพถือพล ๖๐๐๐ ยกไปตีไทรบุรี
- ทัพหน้าให้ตอยาโปคุมพล ๑๐๕๐ ยกไปสร้างเมืองถลาง
จำนวนรี้พล
- พม่า ๗๐๕๐
- ไทย ไม่ทราบจำนวน
ผลของสงคราม
- ด้วยเป็นฤดูมรสุม พม่าเรือแตก ทหารตายและหนีทัพ
เหลือ ๓๐๕๐
- ทหารพม่าถูกจับกุม ๙๓๖ คน
- ทหารพม่าถูกฆ่าตายอีกจำนวนหนึ่ง
- ทหารพม่าอดตายที่เมืองถลางอีกจำนวนมาก
- แม่ทัพสีป่อวุนถูกทหารไทยจับ
- เจยะตุเรียงจอ๑ ถูกทหารไทยจับ
สงครามครั้งที่ ๔ เดือนมกราคม ๒๓๕๔
ฝ่ายพม่าเมื่อยกทัพมาตีเมืองถลางในช่วงฤดูมรสุม กลับเสียรี้พลไปเป็นจำนวนมาก จึงเปลี่ยนแผนใหม่ จึงในเดือนธันวาคมหรือต้นเดือนมกราคม ปีพ.ศ. ๒๓๕๔ ยกทัพมาด้วยกำลังรบ ๕๐๐๐ ยกขึ้นบก แล้วจัดการตั้งค่ายห่างจากตัวเมืองถลางเก่าที่ถูกทำลายไม่มากนัก ฝ่ายเมืองถลางจึงรีบส่งใบบอกเข้าเมืองหลวง จึงรับสั่งให้สมุหะพระกลาโหมยกพล ๘๐๐๐ โดยเกณฑ์พลจากหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมดไปต้านทัพพม่า กองทัพไทยได้เข้ารบพม่าที่เมืองถลางจนแตกพ่ายหนีไปสิ้น พร้อมทั้งรับสั่งให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯยกกองทัพจากกรุงเทพฯลงไปอีก ๒๐๐๐ ยกไปถึงชุมพร ได้รับข่าวว่าพม่าแตกทัพไปหมดแล้ว พร้อมทั้งนำเชลยพม่าสามคนมายืนยัน จึงทรงยกทัพกลับกรุงเทพฯ
เหตุการณ์หลังสงคราม ๒๓๕๔
สรุปแล้วพม่ายกมาตีเมืองถลาง ๕ ครั้งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๘ ๒๓๕๔ โดยเฉพาะ ๔ ครั้งหลัง แต่ทางการไทยมิได้ตระเตรียมการให้เป็นระบบเหมือนแบบพม่า ที่ได้เตรียมการก่อนมาตีไทยเป็นอย่างดีไม่ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหาร เรือรบ จึงเห็นถึงความอ่อนด้อยในการบริหารจัดการ การป้องกันประเทศชาติให้พ้นภัยจากศัตรู
จนถึงวันศุกร์เดือน ๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะแม จ.ศ. ๑๑๗๓ ตรีศก พ.ศ. ๒๓๕๔ จึงมีท้องตราออกไปดังข้อความว่า ...บัดนี้เมืองถลางเสียแก่อ้ายพม่าข้าศึก เหตุด้วยเจ้าเมืองกรมการประมาทหมิ่น มิได้จัดแจงตระเตรียมเสบียงอาหาร กระสุนดินประสิวไว้สำหรับบ้านเมือง ขุกมีราชการมาจึงเสียท่วงที ครั้นจะจัดแจงให้คงคืนเป็นบ้านเมืองโดยเร็ว ไพร่พลเมืองยังบอบช้ำอิดโรยอยู่ จึงโปรดให้หลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นผู้รั้งเมืองถลางออกมารวบรวมผู้คน ตั้งทำไร่นาพักอยู่แต่ ณ ที่ภูงาก่อน ด้วยจะไว้ใจแก่การนั้นมิได้ อ้ายพม่ายกมากระทำแก่เมืองถลางถึงเสียท่วงทีแตกทัพกลับไป ...อนึ่งเล่า ซึ่งจะประชุมทัพ ณ ที่ตรังแต่แห่งเดียวเหมือนครั้งนี้ ต้องขนเสบียงอาหารไปทางบกแต่เมืองหนักแรงไพร่พลนัก ฝ่ายกรุงเทพฯศรีอยุธยาจะทุ่มเทเป็นทัพใหญ่ออกมาช่วยจะถ่ายเสบียงเลี้ยงกันหาทันกินไม่ บัดนี้ให้เมืองไชยาไปตั้งตำบลปากลาว ฝ่ายเมืองนครตั้ง ณ ที่เมืองตรัง ปกาไสยและเมืองพัทลุงนั้น ให้ตั้ง ณ ปากน้ำปะเลียน จะได้ทำไร่นาตั้งยุ้ง ฉาง ไว้เรือรบ เรือไล่ จงทุกเมือง ...จะให้เมืองสงขลาลงไปตั้งทำไร่นา ไว้เรือรบรักษาปากน้ำสตูล ละงู ไว้ก่อน... แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมภายหลังจากที่พม่าสร้างบทเรียนอันเจ็บปวดให้แก่ชาวถลางแล้วถึง ๔ ครั้ง
อย่างไรก็ตามพม่ายังหาเลิกที่จะมาตีไทยไม่ แต่ติดต่อขอความร่วมมือไปยังอังกฤษ เวียดนามและพระยาไทรบุรี ที่จะยกเข้าตีไทย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๔ หลิมโห้ยพ่อค้าตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองถลาง ได้เดินทางไปเมืองปีนังด้วยเรือของตน ขากลับสังเกตเห็นเรือสำเภาที่ไม่ใช่เรือแล่นอยู่ในน่านน้ำแถบนั้น จึงเข้าไปใกล้เห็นเป็นพวกพม่า จึงเข้าจับกุมส่งตัวให้พระยาถลางเจิม ปรากฏว่ามีหนังสือจากผู้ใหญ่เมืองพม่ามีไปถึงพระยาไทรบุรี ให้เป็นกบฏต่อไทย พระยาถลางเจิมจึงส่งชาวพม่าที่จับได้พร้อมหนังสือและตัวนายหลิมโห้ยไปยืนยันที่กรุงเทพฯ เมื่อแปลหนังสือและสอบสวนแล้วเป็นความจริงทุกประการ รัชกาลที่ ๒ จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ หลิมโห้ย เป็น หลวงราชกปิตัน ให้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าเก็บภาษีดีบุกส่งหลวงที่เกาะถลาง รวมทั้งการผูกขาดการถลุงแร่ดีบุกเป็นของหลวงด้วย
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๔ มกราคม ๒๕๕๒
Title : Thalang and Burmese War between 1775 1811
: Somboon Kantakian
หมายเหตุ :
๑
รายละเอียดฝ่ายพม่าได้จากคำให้การของ งะสาตะนะออง เดิมเป็นมหาดเล็กพระเจ้าอังวะ ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองจอกมอ กองทัพเชียงใหม่ยกไปตีแตก เขาหนีกลับเมืองหลวง พระเจ้าอังวะโปรดฯให้ไปเป็นปลัดเมืองทวาย ในตำแหน่ง เจยะตุเรียงจอ
|