ชนเผ่าที่ครองดินแดนเกาะถลาง และชายฝั่งทะเลตะวันตกตั้งแต่พม่าตอนใต้ คือ มอญ ซึ่งมีอาณาจักรทวารวดีครอบครองพื้นที่อยู่ ตั้งแต่ภาคกลาง ภาคเหนือบางส่วน ตลอดจนหัวเมืองมอญจนถึงมะริด ลงมาถึงตะกั่วป่า เกาะถลาง ซึ่งเป็นหัวเมืองท่าเรือค้าขายที่สำคัญ ทางชายฝั่งทะเลตะวันตก อาณาจักรทวารวดีของมอญประมาณพ.ศ. ๑๒๐๐ ๑๖๐๐ เมื่อสิ้นสุดยุคทวารวดี หัวเมืองภาคใต้ทั้งหมดตกเป็นของอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งแต่ประมาณพ.ศ. ๑๒๐๐ ๑๗๐๐ ทางฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมทองตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปถึงเกาะชะวา สุมาตราเป็นดินแดนศรีวิชัยทั้งสิ้น
โตเลมี ( Ptolemi )๑ ได้เขียนแผนที่โลก ได้บันทึกไว้เมื่อประมาณพ.ศ. ๗๐๐ ว่า นักเดินเรือชาวกรีกจะแวะตามเมืองท่าต่างๆ ทางชายฝั่งตะวันตกของอินเดียอ้อมแหลมแล้วเลียบชายฝั่งขึ้นไปทางเหนือ แวะที่ปาลูวะ แล่นตัดอ่าวเบงกอลไปตามลมมรสุม ถึงเมืองอาจีรา จากนั้นจึงแล่นลงใต้ไปตามชายฝั่งทะเลจนถึงปากแม่น้ำหวาย ผ่านแหลม จังซีลอน แล้วบ่ายหัวเรือไปช่องมะละกา แล้วเรือก็จะถึงแหลมทอง
เมื่อเรือสินค้าของชาติกรีก อินเดียและจีน เดินทางผ่านเมืองมะริด ตะการัมหรือตะกั่วป่า และแหลมจังซีลอนหรือเกาะถลาง (สลาง ) เพื่อขนถ่ายสินค้า หาเสบียงอาหาร น้ำจืด ตั้งแต่ก่อนพ.ศ. ๑๐๐๐ ซึ่งก็หมายความว่า เมืองถลางในสมัยนั้น เป็นเมืองท่าเรือ ซ่อมเรือ ขนถ่ายสินค้า และหาน้ำดึ่ม หลบลมมรสุม เพราะในขณะนั้นพื้นที่ราบลุ่มบ้านดอนยังเป็นทะเลที่เป็นอ่าว ตั้งแต่เกาะกระทะเข้าไปตลอดอู่ตะเภา คลองบางใหญ่หรือคลองตะเคียนในปัจจุบัน และน้ำทะเลยังสูงอยู่ที่ระดับ ๓.๕ ๔ เมตร แน่นอนว่าต้องมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แถบท่าเรือ แต่จะอยู่จุดใดนั้นยังไม่มีการสำรวจ อาจเป็นชุมชนเล็กๆที่มีชนหลายเชื้อชาติ รวมทั้งชนพื้นเมืองเดิมที่อาศัยอยู่ก่อน
ดังนั้นเกาะถลาง จึงเริ่มยุคประวัติศาสตร์ประมาณพ.ศ. ๕๐๐ ๗๐๐ มาแล้ว มิใช่พ.ศ. ๑๐๐๐ เหมือนท้องถิ่นอื่น
จากประวัติศาสตร์จีนสมัยฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้กล่าวถึงการเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเลจีนใต้ ไปสู่แหลมอินโดจีนจนถึงฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ก่อนค.ศ. ๑๔๐ ๘๗ แล้วเดินทางบกไปลงเรือฝั่งตะวันตกไปยังอินเดียใต้
ต่อมาอินเดียได้เดินทางไปยังจีนตอนใต้ ทะเลจีนใต้ และได้ติดต่อกันมาตลอด ถึงแม้บางช่วงการเมืองในจีนวุ่นวายก็ตาม การค้าขายชายฝั่งก็ยังคงอยู่และเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้น ถึงยุคสามก๊ก เมืองกว่างโจวเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญ แต่เกิดความไม่สงบขึ้นที่ฟูนาน คาบสมุทรอินโดจีน เส้นทางเดินเรือจึงย้ายลงไปอยู่สุมาตรา ชวา ชาวอาหรับเปอร์เชียต่างเข้าไปค้าขายในจีนที่กว่างโจวตั้งแต่พ.ศ. ๑๒๐๑ แล้วไปตั้งหลักที่สุมาตรา ชวา ในขณะนั้นศรีวิชัยครอบครองอยู่ ระหว่างพ.ศ. ๑๒๒๗ ๑๓๐๑ การค้าขายชายฝั่งบางครั้งขึ้นอยู่กับการเมืองในจีนด้วย
อย่างไรก็ตามจีนยังคงใช้เส้นทางอ่าวไทย ขนสินค้าไปขายอินเดีย ต่อมาพุกามพม่าสั่งปิดลง ทำให้เมืองตะการัมหรือตะกั่วป่า ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งสำคัญขึ้น มีผู้ปกครองเป็นเจ้านคร เรือสำเภาจากอินเดีย ลังกา อาหรับ เปอร์เชีย และจีน แวะเข้าพักถ่ายสินค้า โดยชนพื้นเมืองน่าจะเป็นชาวลังกา ทมิฬ อินเดียใต้รวมทั้งอินเดียขาว จึงมีหลายชนชาติ ทำให้เมืองลังกา โจฬะ พุกามพม่าต้องการครอบครอง ขยายอิทธิพลทางการค้า ดังนั้นในปีพ.ศ. ๑๕๖๘ กองทัพเรือของพวกโจฬะ แห่งโคโรมันเดล อินเดียใต้ ยกเข้าตีเมืองตะการัม ตะกั่วป่า ทำให้เรือชาติอื่นมีผลกระทบไปด้วย ฝ่ายพระเจ้าอนิรุทกษัตริย์พุกามพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมาถึงเมืองมะริด ใกล้ตะกั่วป่า เมื่อพ.ศ. ๑๖๐๐ ฝ่ายพระเจ้าวิชัยพาหุที่๑ แห่งลังกา ได้ทรงขอความช่วยเหลือทางทหารจากพุกามพม่า ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้พวกโจฬะ จึงในพ.ศ. ๑๖๑๐ กองทัพเรือโจฬะยกเข้าตีนครตะการัมเป็นครั้งที่สอง แน่นอนเมืองถลางมีผลด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นบรรดาเรือสินค้าของชาติต่างๆจึงหาที่จอดเรือสินค้าใหม่บริเวณทางใต้คือชายฝั่งไทรบุรี
ถึงพ.ศ. ๑๗๑๙ พระเจ้านรปติสินธุหรือพระเจ้ากัญสูที่๒ แห่งอาณาจักรพุกามพม่า ยกทัพเข้าตีนครตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช พุกามจึงครอบครองดินแดนแถบนี้ ทรงอ้างอำนาจในการครอบครอง เมืองมะริด ตะนาวศรี ตะโกลัมหรือตะการัมหรือตะกั่วป่า เกาะถลาง ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญตลอดแนวชายฝั่งทะเลตะวันตกทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม บางช่วงสมัยตกไปเป็นของอาณาจักรศรีวิชัย ที่ครอบครองคาบสมุทรมลายู สุมาตรา ชวา ตั้งแต่พ.ศ. ๑๐๔๐ ๑๗๔๓ ส่วนใหญ่จะปกครองเมืองท่าต่างๆ
กล่าวโดยสรุปแล้ว เกาะถลางอยู่ภายใต้อิทธิพลของนครตะการัมหรือตะกั่วป่า ซึ่งถูกอิทธิพลของลังกา โจฬะ พุกามพม่า ทวารวดี ศรีวิชัย เข้าครอบครองบางยุคสมัย จนถึงไทยได้สถาปนากรุงสุโขทัยแล้วขยายอิทธิพลลงไปสู่คาบสมุทรมลายูทั้งหมด ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ระหว่างพ.ศ. ๑๘๒๒ - ๑๘๔๒
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓
Note :
๑ Claudius Ptolemaeus ค.ศ. ๙๐ ๑๖๘ เกิดที่ประเทศอียิปต์ ถึงแก่กรรมที่เมืองอเล็กซานเดรีย อียิปต์ เป็นชาวโรมันในอาณาจักรกรีก หรืออียิปต์โบราณ