ธรณีสัณฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
เกาะภูเก็ตตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก มีไหล่ทวีปที่อยู่นอกชายฝั่งทะเลอันดามันตะวันตก ไหล่ทวีปนี้ได้พัฒนาการไปหลายยุค เป็นระยะเวลานาน จนถึงยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งมากที่สุด ซึ่งทำให้น้ำพัดพาเอาตะกอนและทราย สัตว์ดึกดำบรรพ์ขึ้นมา พื้นที่หลายแห่งที่โผล่อยู่เหนือน้ำ กลับยุบจมลงใต้น้ำ ชายฝั่งทะเลจึงเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันออก โดยเฉพาะยุคน้ำแข็งที่ผลกระทบต่อขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แต่พื้นที่ในเขตร้อนอย่างเกาะภูเก็ตก็มีผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน คือ ทำให้น้ำทะเลและลำคลองลดลงไปด้วย เมื่อพ้นยุคน้ำแข็งก็ถึงยุคน้ำแข็งละลาย ทำให้น้ำท่วมพื้นที่เกาะภูเก็ต น้ำทะเลได้พัดพาเอาตะกอนดินหินกรวดซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ไหลบ่าเข้ามาด้วย แล้วทับถมกันขึ้น
ดินหินกรวดซากเหล่านี้สังเกตได้จากชายฝั่งทะเลตะวันออก เช่นแถบอ่าวยนต์ อ่าวมะขามที่ถูกคลื่นซัดชายฝั่งทำให้เกิดหน้าผาในสมัยต่อมา ด้วยแรงของน้ำขึ้นน้ำลงและพายุ จากการวิจัยได้พบว่าในสมัยโบราณบริเวณเหมืองสินแร่เมืองใหม่ บ้านเมืองใหม่ อำเภอถลาง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบัน ๒.๕ กิโลเมตร ได้มีน้ำทะเลท่วมเข้าไปถึง เมื่อประมาณ ๓๑,๐๕๐ +- ปี รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดพังงา ต่อมาน้ำทะเลลดระดับลง จากการสำรวจทางธรณีวิทยา ในยุคนี้กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ตลอดชายฝั่ง เป็นดินลูกรังผสมซากสัตว์พืชหิน แสดงว่าเป็นเขตแห้งแล้ง ฝนตกน้อยมาก
เมื่อผ่านยุคน้ำแข็งละลายแล้ว ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี บังเกิดฝนตกชุกในเขตร้อน ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำขึ้นน้ำลงได้นำเอาตะกอนไปทับถมบริเวณชายฝั่งอันดามันตลอดแนว ประมาณ ๖,๐๐๐ ๔,๐๐๐ ปีก่อนยุคปัจจุบัน บริเวณที่ราบลุ่มน้ำทะเลจึงไหลบ่าเข้าไปได้ เช่น บริเวณแอ่งบ้านทุ่งคาพะเนียงแตก สามกอง บ้านในเงง(ระเงง) ท่าแครง อำเภอเมือง บริเวณบ้านดอน บ้านเหรียง บ้านพรุจำปา พรุสมภาร อำเภอถลาง เป็นต้น ในระยะนี้น้ำขึ้นน้ำลงทำให้เกิดสันดอน และเปลือกหอยซากสัตว์อยู่ในตะกอนที่น้ำซัดเข้ามา ประมาณก่อน ๕,๙๐๐ ปี ถึงก่อน ๓,๘๐๐ ปีจากปัจจุบัน ความลึกของระดับน้ำอยู่ที่ ๕ ๖ เมตรจากระดับผิวดิน ชายหาดและสันดอนเก่าจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้
ต่อมาน้ำทะเลได้ถอยร่นออกไป ทำให้เกิดชายหาดและสันดอนขึ้นใหม่เท่าที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ ๒,๕๐๐ ๑,๕๐๐ ปีก่อน แต่น้ำทะเลก็ยังคงสูงอยู่ประมาณ ๓.๕ ๔ เมตร ในสมัยทวารวดีน้ำก็ยังคงท่วมอยู่ในระดับดังกล่าว
ในช่วงต่อมาน้ำทะเลไหลเอื่อยลง และน้ำลดถอยจากฝั่งออกไปอีก จึงเหลือระดับน้ำทะเลเท่าที่เห็นในปัจจุบัน
๒) ใครเป็นผู้อาศัยบนเกาะภูเก็ตมาแต่เดิม
ในสมัยที่ภูเก็ตยังมีการทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก ได้มีผู้พบหินขวานฟ้า เป็นรูปหินขัดเกลี้ยง มีบ่า โดยพบที่บริเวณเหมืองสูบบ้านทุ่งคาพะเนียงแตก สามกอง อำเภอเมือง บริเวณเหมืองสูบที่อำเภอกะทู้ เป็นต้น จำนวนหลายชิ้น จึงน่าจะมีเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้พบ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวน่าจะมีผู้คนสมัยหินใหม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ถ้ำ แต่คงใช้ใบตอง ใบปาล์ม เป็นเพิงพัก เพราะแถบนี้ไม่มีถ้ำ โดยอาศัยอยู่ริมฝั่งลำธาร
นักโบราณคดี ได้แบ่งยุคในประเทศไทยไว้ ๒ ยุค แต่บางตำราแบ่งไว้ ๓ ยุค คือ
๑. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
๒. ยุคประวัติศาสตร์
ส่วนพวกที่แบ่งไว้ ๓ ยุค คือ
๑. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
๒. ยุคหัวเลี้ยวหรือรอยต่อประวัติศาสตร์
๓. ยุคประวัติศาสตร์
ในแต่ละยุคยังแบ่งย่อยออกไปอีก ในบทความนี้ ใช้ ๒ ยุค คือ
๑. ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น ๓ ยุค คือ
๑) ยุคหินเก่า
๒) ยุคหินกลาง
๓) ยุคหินใหม่
๑) ยุคหินเก่า ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี จนถึง ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการค้นพบคนยุคนี้ รูปรางคล้ายลิง จึงเรียกมนุษย์วานร พบที่ถ้ำโจวโกวเตี้ยน ใกล้เมืองปักกิ่ง และที่เกาะชะวา อินโดนีเซีย ดังนั้นชนเผ่านี้จึงน่าจะอาศัยอยู่ในประเทศนี้ด้วย เป็นชนชาวถ้ำ ล่าสัตว์ พืชผักกินคน ใช้เครื่องมือหินกะเทาะ พบที่ถ้ำเมืองกาญจนบุรี เครื่องมือหินที่ใช้คือ ขวานหิน ทำด้วยหินกรวด บางกลุ่มอาศัยอยู่เพิงหน้าผา
ชนยุคหินเก่าถัดจากพวกมนุษย์วานรคือ กลุ่มชาวพื้นเมืองออสเตรเลียหรือ ออสตราลอยด์ นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่า ประเทศไทยเคยเป็นที่อยู่ชองชนกลุ่มนี้ ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี ถึง ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว อาวุธใช้หอกทำด้วยไม้ ใช้เครื่องมือหินกรวดกะเทาะ รู้จักใช้ไฟ มีการฝังศพ ใช้ธนูในการล่าสัตว์
๒) ยุคหินกลาง ยุคหินกลางในประเทศไทย ประมาณ ๑๑,๐๐๐ ปี ถึง ๘,๓๕๐ ปีมาแล้ว ได้มีการสำรวจโครงกระดูกที่ถ้ำพระ กาญจนบุรี พวกสมัยหินกลางนี้จะเป็นพวกออสตราลอยด์ เวดดอยด์ หรือพวกเมลานิซอยด์ หรือพวกนิกริโต หรือพวกปาปวน นิกรอยด์ พวกเวดดอยด์มีเชื้อสายอยู่ที่ศรีลังกา บางกลุ่มอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะเซเลเบส แถบเกาะสุมาตรา ส่วนพวกเมลานิซอยด์ คือพวกที่คล้ายเมลานิเซีย ผิวดำ ผมหยิกเป็นฝอย พวกนิกริโต หรือพวกเงาะ แถบภาคใต้ ซึ่งอยู่ในพวกออสตราลอยด์
มนุษย์ยุคหินกลาง ยังคงใช้เครื่องมือหินกะเทาะอยู่ แต่กะเทาะได้ดีขึ้น ก็ยังหนาเทอะทะ มีขวานสั้น เครื่องมือสับหรือตัด มีการล่าสัตว์ ได้มีการพบเครื่องปั้นดินเผาที่ถ้ำผี แม่ฮ่องสอน ที่มีอายุเก่าที่สุดในประเทศไทย ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี มีการนำพืชมาปลูกอีกด้วย
๓) สมัยหินใหม่ ได้มีการกำหนดอายุสมัยหินใหม่ในประเทศไทยไว้ว่า ประมาณ ๓,๘๗๙ ปี ถึง ๑,๖๓๐ ปีมาแล้ว หรือประมาณ ๓๙๐๐ ปีถึง ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้ รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องปั้นดินเผา ทำเครื่องจักสาน เครื่องมือทำด้วยเปลือกหอย เครื่องประดับ เครื่องมือสำคัญคือ ขวานหินขัด หรือ ขวานฟ้า ที่พบที่อำเภอกะทู้ บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก สามกอง อำเภอเมือง โดยเก็บได้จากกองหินและท้ายรางแร่เหมืองสูบแร่ดีบุก
จึงสรุปได้ว่า เมื่อประมาณ ๔๐๐๐ ปีถึง ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว บนเกาะภูเก็ตได้มีผู้คนอาศัยอยู่แล้ว ด้วยการทำเพิงพักมุงด้วยใบไม้ใบตองใบปาล์ม บริเวณเชิงเขาใกล้ลำธาร หรือหนองน้ำ มีการปลูกพืช ล่าสัตว์บก จับสัตว์น้ำ มีการทำเรือโดยเอาท่อนไม้มาขุดให้เป็นร่องสำหรับนั่ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในแถบภาคใต้ ชนพวกนี้เดิมอาศัยอยู่ที่หมู่เกาะอินโดนีเซีย คือ กลุ่มชาวมาเลย์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มมาเลย์ดั้งเดิม ( Proto Malaya ) กับกลุ่มมาเลย์ใหม่ ( Malaya ) กลุ่มมาเลย์ดั้งเดิมได้รักษาจารีตชนเผ่าดั้งเดิมได้เป็นส่วนใหญ่ ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆในสุมาตรา บอร์เนียว เซเลเบส โมลุกกะ เป็นชนเผ่าบาตัก ดยัก เป็นต้น ส่วนชาวมาเลย์ใหม่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล และผสมกับชุมชนอื่น ซึ่งต่างจากกลุ่มมาเลย์ดั้งเดิมที่ไม่ยอมผสมกับชุมชนอื่น
ส่วนชาวมาเลย์ที่อาศัยอยู่คาบสมุทรมลายู รวมทั้งเกาะภูเก็ต ได้อพยพมาจากเกาะสุมาตราและชวา จึงน่าจะเป็นกลุ่มมาเลย์ใหม่
มนุษย์ในยุคหินใหม่นี้ นักประวัติศาสตร์จากฝรั่งเศสสันนิษฐานว่า ได้มีพวกมองโกลอยด์ หรือชนเผ่าที่มีพวกมองโกลอยด์ผสมอยู่ ได้อพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่ โดยแบ่งเป็นสองสาย คือ สายเหนือและสายใต้ สายเหนือบริเวณตอนกลางของแหลมอินโดจีน ตอนใต้ของจีน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประมาณ ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว ด้วยการอพยพครั้งใหญ่เข้าแหลมอินโดจีนทางตะวันตก ส่วนสายใต้บริเวณที่ราบภาคกลางของไทย ภาคเหนือและภาคใต้ของพม่า รวมทั้งภาคใต้ของไทย สาเหตุที่ต้องอพยพเพราะพวกชนเผ่าอารยันทางเหนือของอินเดียรุกรานแย่งชิงพื้นที่ชมพูทวีป ชนท้องถิ่นที่ถูกรุกรานเหล่านี้คือพวกออสโตร-เอเชียติก พูดภาษามอญ เขมร เมื่ออพยพเข้ามาอยู่แถบแหลมทอง จึงเกิดผสมกับกลุ่มอินโดนีเซียนที่อยู่ก่อน คือผู้มาใหม่เหล่านี้คือพวกมอญในประเทศพม่า ขอม ชนพวกนี้มีวัฒนธรรมสูง ได้นำเอาศาสนาฮินดู สถาปัตยกรรม เข้ามา ส่วนสายใต้ยึดหัวเมืองมะริด ตะนาวศรี เมาะลำเลิงลงไปถึงตะกั่วป่า เกาะถลาง เป็นกลุ่มมอญ
ชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้าสู่แหลมทองคือ กลุ่มธิเบต พม่า
กลุ่มสุดท้ายอพยพเข้าแหลมอินโดจีน คือ กลุ่มคนไทย เมื่อประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว โดยอพยพมาจากจีนตอนใต้
สรุปแล้ว เกาะภูเก็ตตั้งแต่ยุคหินใหม่ น่าจะมีชนหลายกลุ่มแวะเวียนมาอาศัย ได้แก่ เมลานิเซียน หรือ อินโดนีเซียน คือ ชาวมาเลย์ดั้งเดิม ชาวมาเลย์ใหม่ ชาวเลหรือนิกริโต หรือโมแกน รวมทั้งชาวมอญ
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ภาพประกอบ
ถ่ายโดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
บริเวณอ่าวมะขาม
***
*****
|