วัดที่สำคัญ
วัดพระนางสร้าง
วัดพระนางสร้างเป็นวัดประจำอำเภอถลาง นับเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
ประวัติความเป็นมาของวัด เป็นแต่เรื่องเล่ากันมาเป็นตำนานจะหาหลักฐานที่แน่นอนมิได้ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และกล่าวกันว่าไม่ใช่ท้าวเทพสตรี สร้างแน่นอน วัดนี้คงเก่าแก่กว่านั้นแน่นอน แต่จากเอกสารทั้งหมดของเมืองถลางที่มีปรากฏอยู่ที่ได้จากมหาวิทยาลัยลอนดอนนั้น ได้กล่าวชื่อวัดอยู่วัดหนึ่ง เขียนแบบเดิมว่า ณ วัดน่าลาง แต่ถ้าเขียนเป็นภาษาอ่านอย่างปัจจุบันจะเป็น ณ วัดนาล้าง หนังสือฉบับนี้ออกหลวงเพชรภักดีศรีภักดีศรีพิชัยสงครามยกกระบัตร มีไปถึงพระยาราชกปิตัน ว่า พระยาทุกขราช ว่า พระยาทุกขราชผู้ว่าราชการเมืองถลางสั่งมาว่าด้วยนายทองลีหลานท่านคุมเอาสิ่งของท่านพระยาราชกปิตันเข้าทูลเกล้าฯ ถวายมีตรารับสั่งตอบออกมา และให้เชิญท่านพระยาราชกปิตัน มาฟังตรารับสั่ง ณ วัดนาล้าง หนังสือออกมา ณ วันอาทิตย์เดือน 12 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1147 ปีมะเส็ง นักบัตรสัปตศก (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2328) วัดน่าลาง จะต้องเป็นวัดสำคัญที่สุดของเมืองถลางหรืออาจกล่าวว่าเป็น วัดฉลอง ก็ได้มิเช่นนั้น คงจะไม่นำหนังสือตรารับสั่ง ไปอ่านที่วัดนี้แน่นอน เพราะการอ่าน ตรารับสั่ง หรือหนังสือจากสมเด็จพระมหากษัตริย์จะต้องกระทำด้วยความเคารพ ในที่ที่ควรเคารพและอาจจะให้ท่านเจ้าอาวาสรับรู้เห็นเป็นสักขีพยานด้วยก็ได้ จึงเป็นปัญหาน่าคิดว่าวัดนี้จะเป็นวัดเดียวกับวัดพระนางสร้างหรือไม่
อีกประการหนึ่งคำว่า น่าลาง น่าจะเป็น หน้าถลาง คือวัดหน้าเมืองถลางหรือชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่าวัดหน้าเมืองแต่ ในกรณีนี้อาจเรียกวัดหน้าเมืองถลาง วัดหน้าถลาง วัดหน้าลาง น่าลาง อีกกรณีหนึ่งวัดนาในหรือวัดพระทอง ส่วนอีกวัดหนึ่งน่าจะเป็นวัดนาล่าง ต่อมาจึงเป็นวัดนางสร้าง วัดพระนางสร้าง
ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือหลังจากเมืองถลางต้องย่อยยับลงใน พ.ศ. 2352 นั้น พม่าได้กวาดต้อนผู้คนทรัพย์สินไปเป็นอันมาก เมื่อพม่า ลงเรือไปแล้ว เมืองถลางคงเป็นเมืองร้างมาหลายปี พระสงฆ์กับชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อชาวบ้านไม่มีวัดก็เห็นจะต้องร้างไปพักหนึ่งแน่นอน เมื่อผู้คนอพอยกลับมาอยู่ตามเดิม ก็คงได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เข้าใจว่าพม่าคงจะต้องทำลายวัดด้วยเพราะค่ายเมืองถลางกับวัดพระนางสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน เราก็คงทราบถึงความทารุณของทหารพม่าต่อพระสงฆ์วัดวาอารามมามาก ต่อมาเมื่อถามถึงวัดนี้ว่าใครเป็นคนสร้าง ผู้ที่อยู่ในวัดเห็นจะต้องผูกเป็นตำนานขึ้นมาเล่าสืบกันมาว่า ผู้สร้างวัดนี้คือ พระนางเลือดขาว ได้สร้างไว้ เล่ากันมาว่า พระนางเลือดขาวเป็นเหสีของเจ้านคร ต่อมาพระนางถูกกล่าวหาว่ามีชู้ เจ้านครให้ฆ่าเสีย พระนางจึงขออนุญาตไปนมันการพระบรมธาตุเมืองลังกา เจ้านครจึง อนุญาต ด้วยกุศลของพระนางจึงได้ไปถึงเมืองลังกาและได้กลับมา ปรากฏว่า ในนครเกิดแย่งชิงกันครองเมือง เจ้านครถูกฆ่าตายเจ้านครองค์ใหม่เมื่อทราบเรื่องเดิมจึงให้นำนางไปประหารชีวิตเมื่อเพชฌฆาตลงดาบตัดศีรษะ ปรากฏว่าเลือดที่พุ่งออกมานั้นเป็นสีขาว เลยได้ชื่อว่า พระนางเลือดขาว ส่วนวัดพระนางสร้างนี้พระนางได้สร้างไว้ตอนขากลับจากเมืองลังกา
จากประวัติวัดพระนางสร้างในอนุสารพุทธศาสตร์ได้กล่าวถึงเจ้าอาวาสรูปหนึ่งคือ ท่านพระครูสุนทรสมนกิจ (เขม ชาโต) หรือหลวงพ่อปอด ท่านเก่งทางการศึกษาเล่าเรียนและวิปัสสนาธุระท่านได้รวบรวมตำรายาแผนโบราณ และอื่น ๆ ไว้มาก และกล่าวกันว่าท่านมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เกรงขามแก่ชาวเมืองถลางมาก นับเป็นวัดสำคัญและเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต วัดนี้ตังอยู่ที่อำเภอถลาง ปัจจุบันมีท่านพระครูธรรมโกศล ( ) เป็นเจ้าอาวาส
วัดพระทอง
วัดพระทองเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดนี้ว่า วัดพระผุด หรือวัดนาใน
วัดนี้มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งนำควายไปเลี้ยงที่ทุ่งนาในตอนเช้าวันหนึ่งแล้วเอาเชือกล่ามความผู้ไว้ที่ตอกลางทุ่งนั้น ให้มีเหตุเป็นไปทั้งความ และเจ้าของควาย ชาวบ้านจึงหาสาเหตุก็พบว่าตรง ที่ชายหนุ่มเอาเชือกล่ามควายไปผูกไว้นั้นมิใช่เป็นตอไม้แต่เป็นลักษณะเป็นยอดรัศมีของพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงช่วยกันก่อสร้างพระพุทธรูปรวมไว้ แต่แค่พระทรวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แต่ครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จทอดพระเนตรทรงกล่าวไว้ว่า เมื่อชายคนกลับกลับไปดูตอที่ผูกควายไว้ปรากฏว่าเป็นยอดรัศมีพระพุทธรูปจึงทำสักการะตามสมควร กระบือก็หายไข้ มีผู้ขุดลงไปพบพระเศียรพระ แล้วมีใจศรัทธา ก่อพระพุทธรูปรวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐปูนมีแต่พระเศียรกับองค์พระเพียงพระทรวงเพื่อให้ดูเหมือนขุดมาจากพื้นดิน
อย่างไรก็ตามชาวจีนเคารพนับถือพระผุดมากถึงวันตรุษจีนวันกินเจ มักพากันไปนมัสการเป็นประจำ เพราะถือว่า พระผุดองค์นี้เป็นพระที่มาจากเมืองจีนแล้วมาผุดที่วัดนี้ โดยแท้จริงแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประธานในโบสถ์ แต่ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้กำลังสร้างใหม่
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เมื่อ พ.ศ. 2493 ได้จัดพิธีทำน้ำอภิเษก ณ วัดนี้ ประธานทางพระสงฆ์ คือ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (เพรา พุทธสโร) เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต ประธานในพิธีคือนายอุดม บุญยประสพ ส่วนน้ำที่นำมาทำเป็นน้ำอภิเษกได้จากน้ำบนเขาโต๊ะแซะ และน้ำจากน้ำตกโตนไทร
นอกจากพระผุดแล้วทางวักยังได้เก็บปืนใหญ่โบราณด้วย แต่เดิมมีเพียง 2 กระบอก ปัจจุบัน พบจากขุมเหมืองแถวบ้านดอนอีก 3 กระบอก นำมารวมไว้ และเจ้าอาวาสยังได้รวบรวมวัตถุโบราณเครื่องลายครามต่าง ๆเพื่อดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ของวัดต่อไป
วัดมงคลนิมิตร
วัดมงคลนิมิตร ปัจจุบันเป็นวัดหลวงประจำจังหวัดภูเก็ตมีพระราชสุทธิมุณี เจ้าคณะจังหวัดเป็นเจ้าอาวาส
วัดมงคลนิมิต เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองภูเก็ตและคงจะเป็นวัดหลวงแต่ครั้งตั้งเมืองภูเก็ต หลังจากเมืองถลางถูกพม่าทำลายลง คงจะราวรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา เพราะก่อนจากนี้เมืองภูเก็ตอยู่แถววัดเก็ตโฮ วัดมงคลนิมิต ใครเป็นคนสร้างไม่ปรากฏแน่ชัดไม่มีหลักฐานแต่เจ้าเมืองภูเก็ตได้ปฏิสังขรณ์ทะนุบำรุงวัดนี้ตลอดมา แต่เดิมธรณีสงฆ์ของวัดมงคลนิมิตกว้างขวางมากคือ ทางตะวันตกก่อนที่ถนนเยาวราชยังไม่ตัดผ่านที่ของวัดไปถึงโรงเรียนปลูกปัญญา วัดคุณชี ทางตะวันออกจดถนนเทพกษัตริย์ บนเขารังที่ดงตาลโตนดก็เป็นที่ของวัด ปัจจุบัน ธรณีสงฆ์จึงมีน้อยลง
เล่ากันว่าพระยารัษฎาฯ จะตัดถนนผ่านวัดโดยตัดต่อจากซอยรมณีออกถนนทุ่งคา แต่ท่านพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ (เพรา) ท่านไม่ยอมเพราะจะต้องตัดตรงผ่านโบสถ์ด้วย ถ้าตัดถนนผ่านวัดคราวนั้นธรณีสงฆ์อาจแคบกว่าเป็นอยู่ก็เป็นได้
แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าฯเสด็จภูเก็ตได้เสด็จไปวัดมงคลนิมิตรสมัยท่านพระครูวัดฉลองเป็นเจ้าคณะจังหวัด และเป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตด้วยทรงเห็นว่า โบสถ์ชำรุดทรุดโทรมไปมากแล้วจึงโปรดให้พระยาศรีสรราชจัดการซ่อมแซมโบสถ์
ในคราวกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ของมณฑลภูเก็ต พระราชพิธีได้จัดที่วัดนี้ จากรายงานของหลวงวรากรราชกิจ ปลัดกรมสรรสรรพากรนอกระทรวงมหาดไทยซึ่งตามประกาศสารตราตั้งให้หลวงรากร นำน้ำพระพิพัฒน์จากกรุงเทพฯ มายังมณฑลภูเก็ต โดยลงเรือกลไฟชื่อ ตราด จากกรุงเทพฯ ถึงสงขลาแล้วย้อนมาถึงพัทลุง ถึงเมืองตรังมีหม่อมเจ้าประดิพัทธ เกษมศรี ปลัดมณฑลภูเก็ตกับพระสถลสถานพิพักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองตรังไดกระทำการถือน้ำที่วัดกันตัง ครั้งถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าประดิพัทธ เกษมศรี ปลัดมณฑลภูเก็ตกับพระสกลสถานพิทักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองตรังได้กระทำการถือน้ำที่วัดกันตังครั้นถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าประดิพัทษ์ ได้จัดตั้งพิธีถือน้ำ ณ วัดมงคลนิมิตมีข้าราชการ ผู้ใหญ่น้อยทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมาประชุมพร้อมกันโดยกระทำสัตย์สาบานต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรและพระบรมรูปพระจุลจอมเกล้าฯ และพระมงกุฎเกล้าฯ แล้วได้ดื่มน้ำโดยทั่วถึงกัน ในครั้งนี้มีพ่อค้าจีนได้ตัดเปียด้วย
วัดมงคลนิมิตมีพระพุทธรูปทอง องค์หนึ่ง กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยเดียวกันกับพระพุทธรูปทองวัดไตรมิตร กรุงเทพมหานคร เดิมอยู่ในเจดีย์หนโบสถ์ รวมกับพระพุทธรูปแบบพม่าครั้งแรกลงรักสีดำ ได้ขัดกันมาหลายคน ต่อมาเห็นรอยด้านหน้าร้าวจึงได้ขัดทั้งองค์โดยท่านเจ้าคุณรูปปัจจุบันได้เรียกช่างมาดู ปรากฏว่าเป็นทองดังกล่าวแล้ว
สำหรับเจ้าคณะจังหวัดหลังจากท่านพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุณี (หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง) แล้วรูปถัดมาคือ พระวิสุทธิวงศาจารย์ฯ (ไข่) พระราชวิสุทธิวงศาจารย์ ( เพรา) และท่านเจ้าคุณรูปปัจจุบัน คือ พระราชวิสุทธิมุนี (ริ่น) เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต
|