การศึกษา
การศึกษาของชาวภูเก็ตแต่เดิมเริ่มจากวัด เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป คือ บิดา มารดา ส่งเด็กผู้ชายไปศึกษาเล่าเรียนกับพระสงฆ์ในวัดแล้วบวชเณร และอุปสมบท หลังจากนั้นสึกออกมาทำมาหากิน หรือ รับราชการ หรือบางคนอาจไม่สึกโดยศึกษาเล่าเรียนทางธรรมต่อไป จากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ กล่าวว่า มิสเตอร์เลนเซน ถือหนังสือจากหลวงทวีปสยามกิจมา ว่าตนจะขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในเมืองภูเก็ต พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) เห็นว่ายังไม่เคยมีใครจัดตั้งขึ้นในที่นี้ จึงมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครเพื่อโปรดให้อนุญาตจัดตั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตให้จัดตั้งได้ แต่ห้ามบาทหลวงตั้งเป็นโรงสอนศาสนา
นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างโรงเรียนจีนขึ้นหลายโรง เช่นโรงเรียนส่องเต็ก โรงเรียนฮั่วบุ๋น ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้จัดตั้งโรงเรียนจีน เป็นโรงเรียนราษฎรครั้งแรกที่ภูเก็ตเพื่อให้ลูกหลานชาวจีนที่เข้ามาทำเหมืองแร่และค้าขายได้ศึกษาเล่าเรียน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรัสเกี่ยวกับโรงเรียนไว้ว่า โรงเรียนใหญ่ๆ ที่กำลังสร้างอยู่ ๒๑ โรง คือโรงเรียนสำหรับมณฑลโรงหนึ่ง โรงเรียนผู้หญิงโรงหนึ่ง เรื่องโรงเรียนผู้หญิงเมื่อแรกสร้าง ราษฎรลือว่าจะบังคับให้ผู้หญิง เข้าโรงเรียนเพื่อจะเอาไปเป็นทหาร นอกจากนี้ยังได้เสด็จ ไปเปิดโรงเรียนชั้นประถมตั้งอยู่ในเขต วัดมงคลนิมิตร พระราชทานนามว่า โรงเรียนปลูกปัญญา โรงเรียนสำหรับมณฑลนั้นได้จัดสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ชื่อโรงเรียนวรสิทธิ์ ซึ่งสร้างโรงเรียนแรกสำหรับมณฑลฝั่งตะวันตก โดยสร้างในบริเวณวัดมงคลนิมิตร เมื่ออาคารชำรุด พระพิทักษชินประชา (ตันหม่าเสียง ตันฑวนิช) ได้สร้างให้ใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนตัณฑวานิช (ปัจจุบันคือโรงเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา) เมื่อได้สร้างโรงเรียนปลูกปัญญาขึ้นมาแล้ว ได้ย้ายนักเรียนไปยังโรงเรียนใหม่ส่วนโรงเรียนตัณฑวนิชรับเฉพาะนักเรียนสตรี
ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระยารัษฎานุประดิษฐฯได้สร้าง โรงเรียนตัวอย่างมณฑลภูเก็ต และในปีพ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เปิดโรงเรียนฝึกหัดครูประจำมณฑลขึ้นในโรงเรียนนี้ ถึงพ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนตัวอย่างมณฑลภูเก็ต เป็นโรงเรียนประจำมณฑลภูเก็ต และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยในเวลาต่อมา
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|