การศาล
เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะศาลประจำมณฑลนี้จัดตั้งเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ และได้ประกาศให้พระยาประชาชีพบริบาล พระนริศรราชกิจ ข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นข้าหลวงพิเศษ มิสเตอร์ซีมง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติในมาตรา ๒ มีอำนาจตั้งศาลยุติธรรมมณฑลภูเก็ต สำหรับเมืองต่าง ๆ นั้นมีศาลประจำเมือง มีตุลาการเป็นผู้พิจารณาความ ศาลเมืองภูเก็ตได้เปลี่ยนเป็นศาลจังหวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
การพิจารณาความ ตามเมืองต่าง ๆ ถ้าหากเห็นว่าไม่เป็นไปตามยุติธรรมแล้ว เจ้าทุกข์สามารถอุทธรณ์ที่ศาลประจำมณฑลได้ ดังตัวอย่าง การฟ้องร้องเรื่องการขโมยกระบือของแขกล่าม่าที่กระบี่ โจทก์หาว่าขุนวิเศษสมบัติ ตุลาการเมืองกระบี่พิจารณาความไม่เป็นธรรมเพราะเข้าข้างจำเลย โจทก์อุทธรณ์การตัดสินแล้วโจทก์ได้มาภูเก็ตเพื่ออุทธรณ์เรื่องนี้ หลวงเดชนายเวร รักษาการแทนพระยาวรสิทธิ์เสรีวัตร ข้าหลวงเทศาภิบาล ได้ให้พระยาอุดรกิจพิจารณ์ ข้าหลวงว่าราชการเมืองกระบี่ ชิงตัวขุนวิเศษสมบัติมายังศาลมณฑลภูเก็ต เพื่อพิจารณาความ ขณะนั้นมีหลวงศรีสุภาแพ่ง ทำหน้าที่แทนผู้พิพากษาศาลมณฑล เรื่องนี้เดิมสมัยพระเทพธนพัฒนา(กระต่าย) ยังเป็นข้าหลวงเมืองกระบี่อยู่นั้น แขกหมื่นล่าม่าได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแขกเทือกแหมะหนอนเรื่องลักกระบือครั้งหนึ่งแล้วที่ศาลเมืองกระบี่
ส่วนเรื่องการจัดตั้งศาลกงสุลอังกฤษ ประจำมณฑลภูเก็ตนี้ มิสเตอร์มิดโด ฟรอส กงสุลอังกฤษประจำมณฑลไทรบุรีและมณฑลภูเก็ต ได้ปรึกษากับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงการที่จะจัดตั้งศาลกงสุลอังกฤษขึ้นในมณฑลภูเก็ต นายฟรอสเห็นว่า คนในบังคับอังกฤษที่มณฑลภูเก็ตนี้น้อย จึงไม่จำเป็นนักอาจยืมศาลมณฑลชำระความก็ได้ พระยารัษฎาฯเห็นคล้องตามจึงขออนุญาตไปยังกระทรวงมหาดไทย เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยได้ปรึกษากับกระทรวงยุติธรรม ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ไม่ควรอนุญาต เพราะเห็นว่าไม่ควรให้กงสุล กับศาลไทยเข้าใกล้ชิดกันจะดีกว่า ต่อมากระทรวงมหาดไทย ได้รับจดหมายปรารภจากนายเบ็กเก็ต (Beckett) อุปทูตอังกฤษ ลงวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ เกี่ยวกับการขอตั้งศาลกงสุลอีก เมื่อพระยารัษฎาฯมากรุงเทพฯ จึงได้เห็นผ้องกันว่า เมื่อนายฟรอสจะชำระความ จึงจะจัดบ้านดี ๆ ให้ชำระความ เรื่องนี้พระพิศาลสงครามปลัดมณฑลภูเก็ตได้แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยทราบว่า ได้จัดบ้านไว้ให้นายฟรอสเลือก ๒ แห่งคือที่คลังเก่ากับตึกรัฐบาล ตำบลสามกอง เมื่อนายมิดโด ฟรอส มายังภูเก็ตได้ขอบใจและขอพักกับผู้จัดการบริษัทเตรดเตรดิง
เรื่องนี้กงสุลอังกฤษใช้ศาลมณฑลภูเก็ตชำระความนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ว่ามิสเตอร์วูด ได้โทรเลขถึงปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวอ้างว่าได้รับคำสั่งจากราชทูตที่กรุงเทพฯ ว่าระหว่างพักที่ภูเก็ต ให้นั่งพิจารณาคดีต่างประเทศที่ศาลมณฑลภูเก็ตด้วย แต่เขาไม่ได้แสดงหนังสือเป็นหลักฐาน หลวงพินิจฯเห็นว่าผิดระเบียบจึงโทรแจ้งให้ทราบ และได้รับโทรเลขตอบว่าเข้าใจว่า มิสเตอร์วูดไม่มีเขตอำนาจศาลในมณฑลภูเก็ต โดยเหตุเป็นรองกงสุลมณฑลนครศรีธรรมราช และแนะนำให้เขาจัดการให้ ถูกระเบียบ คือให้สถานทูตอังกฤษบันทึกหลักฐานให้กรมท่าว่า มิสเตอร์วูดเป็นกงสุลอังกฤษที่ภูเก็ตด้วย
เกี่ยวกับอำนาจศาลในภูเก็ต นายเบ็กเก็ตได้เรียบเรียงขึ้น ต่อมานาย สโตรเบล (Edwand H. Strobel) ได้มีหนังสือไปถึงพระยาเทวะวงษ์วโรประการและได้ทรงแนบส่งต่อไปยังกระทรวงยุติธรรม พระยาจักรปาณีศรีศิลปสุทธิ์ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรมว่าคงไม่ช้าคงจะได้จัดการเรื่องนี้ กับประเทศอังกฤษ เพื่อแก้ไขวิธีอำนาจศาลภายนอกศาลบ้านเมือง คือศาลกงสุลประเทศ ต่างๆ ที่ตั้งในไทย กรมพระยาเทวะวงษ์ทรงเห็นด้วยกับวิธีการอย่างนี้เพื่อไม่ต้องการให้เกิดเรื่องขัดกันขึ้นได้ จึงขอให้ยอมตามคำแนะนำของนายเบ็กเก็ตไปก่อน และในที่สุดในปีเดียวกันนี้ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ไทยต้องตกลงทำสัญญายกดินแดนหัวเมืองมลายู ๔ เมืองให้กับอังกฤษ คือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิศให้อังกฤษ เพื่อแลกกับอำนาจศาลกงสุล
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|