การสาธารณสุข
จากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ เรื่องเจ้าหมื่นเสมอใจราช (พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี) ข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก ขออนุญาตตั้งโรงพยาบาล ที่เมืองภูเก็ตพระองค์รับสั่งว่า ทางเมืองภูเก็ตตั้งโรงพยาบาลดีแล้ว แต่หมอที่เอาไปจากกรุงเทพฯหรือจะเอาที่นอกให้ปรึกษาดูที่กรมศึกษาและให้ขอข้อบังคับสำหรับการพยาบาลไปจากกรุงเทพ ที่ในกรุงเทพได้ข้อบังคับใดขึ้นใหม่ ก็ให้รู้ไปถึงภูเก็ตด้วยแต่เมืองภูเก็ตจะตั้งโรงพยาบาลนั้น เป็นระหว่างกลางของเมืองอื่น ๆ ที่จะต้องมาเมืองภูเก็ต โรงพยาบาลเมืองภูเก็ตก็คงได้เริ่มมาตั้งแต่นั้น นอกจากรักษาคนป่วยทั่วไปแล้ว ยังมีโรงพยาบาลคนเสียจริตอีกด้วย จากหนังสือถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ กล่าวถึงขุนมหัตกรรมประสิทธิ์ ผู้ช่วยข้าหลวงคลังเมืองระนองเสียจริต เจ้าพนักงานได้ส่งตัวไปไว้ในโรงพยาบาลเสียจริตเมืองภูเก็ต
ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เกิดโรคคล้ายกาฬโรคขึ้นที่ภูเก็ตพระยาวรสิทธิ์เสวีวัตร ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ได้มีรายงานไปยัง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย และกรมพระยาดำรงฯ ได้มีหนังสือไปถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ราชเลาขานุการ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ว่าได้เกิดการเจ็บป่วยปัจจุบัน ขึ้นมาคล้ายกาฬโรคที่เมืองภูเก็ตตั้งแต่ มิถุนายน ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ พระยาวรสิทธิ์ฯ ได้จัดให้นายร้อยเอกจอม พลตระเวน, นายงานโยธา, นายอำเภอเมืองและนายแพทย์รวม ๔ นาย เป็นกรรมการพร้อมด้วยกำนันท้องที่ ออกตรวจตรารักษาความสะอาดของบ้านเมืองเพื่อมิให้โรคเกิดรุกลามต่อไปและว่า เมื่อกรรมการออกตรวจตรานั้นได้เห็นจีนตันบ้าง ผู้ใหญ่บ้านตลาดเหนือผู้หนึ่ง ได้ออกแรงกุลีและเงินใช้จ่ายในการแต่งคูน้ำที่หลังตลาดอ่าว สำหรับถ่ายน้ำโสโครกให้สะอาดเรียบร้อย ตั้งแต่ได้จัดทำคูน้ำแล้วความเจ็บไข้ค่อยสงบลงนับว่าเป็นประโยชน์ เรื่องนี้พระยาวรสิทธิ์ฯ ได้รายงานไปยังเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเพื่อกราบบังคมทูลได้ทรงทราบและทรงรับสั่งว่าเป็นการดี
ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดีเป็สมุหเทศาภิบาล ท่านได้ทนุบำรุงโรงพยาบาลเมืองภูเก็ต เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เครื่องทำไฟฟ้า จากหนังสือประวัติพระยารัษฎาฯ กล่าวว่าเป็นเครื่องเอ็กซ์เรย์ ที่ได้จัดซื้อมาใช้ในโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกของแพทย์ไทย ซึ่งในรายงานของพระยารัษฎาฯ ลงวันที่ ๘ สิ่งหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ว่า เรื่องเครื่องไฟฟ้านั้นได้ให้หมอกาโลเวสั่งซื้อ โดยส่ง Catalogue มาให้ และได้พูดกับหมอแบ็กซ์แพทย์มณฑลภูเก็ตว่า เครื่องไฟรักษาโรคของหมอกาโลเวที่สิงคโปรนั้นดี พระยารัษฎาเคยไปรักษามาแล้ว โรงพยาบาลเมืองภูเก็ตควรซื้อไว้สักเครื่องหนึ่ง จึงได้เอา Catalogue ให้หมอแบ็กซ์ดู และให้หมอแบ็กซ์ไปฝึกหัดใช้ที่สิงคโปรกับหมอกาโลเว และได้ซื้อกลับมาภูเก็ตเป็นเงิน 145 ปอนด์
เกี่ยวกับการสุขาภิบาลนั้นได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) สำหรับมณฑลภูเก็ต พระยารัษฎาฯได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า ที่อำเภอเมืองเป็นที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลและเป็นที่ประชุมค้าขาย มีบ้านเรือนและผู้คนมาก สมควรจะจัดสุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลได้ด้วยความสมบูรณ์ของท้องถิ่นในตำบลนี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเหตุเป็นเพราะเป็นที่ชุมนุมชนมาก มักเกิดโรคภัยไข้เจ็บในที่เหล่านี้ ถ้าจัดการสุขาภิบาลขึ้นจะเป็นการป้องกันอันตราย แก่มหาชนด้วยประการหนึ่ง แต่การที่จะจัดสุขาภิบาลนี้เป็นการแรกตั้งขึ้นใหม่ ควรจัดตั้งในตำบลถนนเยาวราชถึงตลาดสามกอง ถนนวิชิตสงครามถึงโรงพยาบาลจีนถนนเทพกระษัตรีถึงวัดโคกแซก ถนนเจ้าฟ้าถึงสวนจีนเองหิน และถนนซอยสายแยกทั้งปวงที่ถนนทั้ง ๔ ท้องที่เมืองภูเก็ตเหล่านี้ก่อน ด้วยเหตุนี้พระยารัษฎาฯจึงได้เรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านและคฤหบดีในตำบลดังกล่าว ได้ปรึกษาเห็นชอบต้องกันว่า ควรจัดการสุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติขึ้นในท้องที่ก่อน แล้วจึงขยายเขตต่อไปในมณฑลภูเก็ต และได้ประกาศเป็นเขตสุขาภิบาลเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ในพระราชกิจจานุเบกษา
สำหรับโรงพยาบาลเมืองภูเก็ตนั้นพระบาทสมพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และให้เป็นสาธารณสถาน เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วชิรพยาบาล มาจนบัดนี้
อันที่จริงเรื่องสุขาภิบาลนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ เฉพาะที่ตำบลดังกล่าวข้างบนแล้วเพื่อจะได้จัดหาเงินบำรุงเขตสุขาภิบาลดังกล่าว พระยารัษฎาฯได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าได้ประชุมเลือกตั้งกรรมการสำหรับจัดสุขาภิบาลรวม ๙ นาย ครบคณะสำหรับสุขาภิบาลเมือง ภาษีสุขาภิบาลเมือง ตามพระราชบัญญัติบำรุงถนน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสำหรับบำรุงการสุขาภิบาลนั้นต่อไปควรเก็บดังนี้คือ
๑. บ้านเรือนโรงแลที่ดิน ถ้าให้เข้าเก็บ ๑๐ ชัก ๑ ในราคาค่าเช่าเรือนโรงร้านที่ดินที่ไม่ใช่เช่ากรรมการที่อัตราค่าเช่าแล้ว เก็บ ๑๐ ชัก ๑ ในอัตรานั้น
๒. ภาษีรถ ๔ ล้อ เก็บคัน ๑ ปีละ ๑๘ บาท
๓. ภาษีรถ ๒ ล้อ เกวียน ๒ ล้อ เก็บคัน ๑ ปีละ ๑๒ บาท
๔. ภาษีลาก เก็บคัน ๑ ปี ๖ บาท
๕. บำรุงถนน เก็บจากหญิงนครโสเภณีคน ๑ ปีละ ๑๒ บาท
ต่อมาเขตสุขาภิบาลเมืองภูเก็ตได้เปลี่ยนเป็นเทศบาลเมืองภูเก็ต ตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|