การอาชีพ
เมืองถลางและเมืองภูเก็ต ได้ติดต่อค้าขายกับหัวเมืองในแหลมลายูมานาแล้ว จากหลักฐานที่บุคคลสำคัญของเมืองถลางและเมืองภูเก็ต ที่มีหนังสือติดต่อค้าขายกับเจ้าเมืองไทรบุรีและปีนัง สินค้าต่างๆ ที่ค้ากันได้แก่ ข้าว ดีบุก ผ้าชนิดต่าง ๆ เงิน ฝิ่น ดินปืน เป็นต้น สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เมืองถลางซื้อส่งเข้าเมืองหลวง แต่สำหรับข้าวที่ชาวเมืองถลางและเมืองใกล้เคียงขาดแคลนนั้นเพราะรบกับพม่า ภายหลังจากสงครามชาวเมืองขาดข้าวถึงสองสามปีจึงสามารถฟื้นตัวได้ การซื้อขายกันในเมืองถลางนั้นมีสินค้ามากมาย สินค้าที่สำคัญที่เมืองถลางต้องการมากโดยเฉพาะในสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือปืนชนิดต่างๆ ดินปืนและสินค้าบางชนิดเพื่อจัดส่งเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร ปืนดังกล่าวได้แก่ ปืนคาบศิลา ปืนชาติตุรหมัด ปืนชาติสุตันใบโพธิ์ ปืนเจ๊ะระมัด (ตรุหมัด) ปืนสุพรรณศิลา ศิลาปากนก ดินปืน ส่วนสินค้าขาออกที่สำคัญคือ ดีบุก เหล็ก อำพัน ไข่มุก สินค้าอื่นๆ ได้แก่ข้าวสาร น้ำกุหลาบ (น้ำกูลาด) น้ำมันจันทน์ ยาจีน ฝิ่น น้ำตาลทราย (น้ำผึ้งทราย) เครื่องทองเหลืองได้แก่พวกขันน้ำ ทับพีเป็นต้น สุรา ผ้าชนิดต่างๆ ได้แก่ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเข้มขาบ ผ้าลายดอก ผ้าขาวผุดดอก ผ้าขาวหน้าทองหน้าจั่ว ผ้าดำ ผ้าขาวก้านแย่งลายเครือ ผ้าโหมดตาด ผ้าแพรอัตลัด แพรดาไหร่ ผ้าขาวอุเหม้า ผ้ามะลิลา และพรม เรื่องผ้ามีชื่อทางปักษ์ใต้มี ๓ ชนิดคือ ผ้าเมืองนครศรีธรรมราช ผ้าตานี และผ้าลายฉลาง ในกรุงศรีอยุธยามีตลาดผ้าโดยเฉพาะผ้าที่นำไปจากเมืองถลาง เช่น ถนนย่านตะไกรใหญ่ซื้อไม้ใผ่มาทำเป็นฝาเรือนทอขาย และมีร้านค้าผ้าลายสุรัศ ผ้าขาวแลผ้าฉลาง มีร้านขายของเช้าเย็นชื่อตลาดผ้าลาย ในเรื่องขุนช้างขุนแผนได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ให้พวกจ่าตกนกแก้วกับขาวบางพวกโขลนเลวลายฉลางกับริ้วญวน และอีกตอนหนึ่งว่า ทั้งหมากพลูมีทุกอย่าง ลายฉลางคาดพุงหม้อตุ้งก่า เข้าใจว่าสมัยตอนกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองถลางได้นำเอาผ้าลายถลางไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระราชทานผ้าฉลางให้แก่ผู้มีความชอบ ในคราวได้ช้างเผือกจากเมืองโพธิสัตว์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ เงินที่แลกเปลี่ยนในตลาดเมืองถลางนั้นเป็นเงินเบี้ยและเงินเหรียญ
สินค้าหลักที่เมืองนี้ส่งก็คือ ดีบุกซึ่งมีทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาดังกล่าวแล้ว สำหรับวิธีการทำเหมืองได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งใช้เครื่องจักรในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลกล่าวคือ นายเอ็ดเวิร์ด โทมัส ไมลส์ นายทหารเรือนอกประจำการชาวออสเตรเลียได้นำเรือขุดเข้ามาใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ โดยรวบรวมทุนตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ทินเดรดยิง ด้วยการซื้อเรือขุดจากเกาะทัสมาเนียเข้ามาประกอบเมืองปีนัง เพื่อจัดส่งน้ำมันโดยตรงจากเมืองสุมาตรามายังภูเก็ต
อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการซื้อขายดีบุก บริษัทอีสเติร์นเม็ดติงและบริษัทเตรดเทรดดิงที่เมืองภูเก็ต ได้รับคำสั่งจากห้างใหญ่ของเขาที่เมืองสิงคโปร์ให้หยุดการรับซื้อดีบุกชั่วคราว และทราบมาว่าที่เมืองอังกฤษ ได้ประกาศห้ามบรรทุกดีบุกออกจากเมือง เพราะอังกฤษทราบว่า ประเทศศัตรูของตนต้องการดีบุก อังกฤษจึงบีบให้ประเทศที่ตนรับซื้อดีบุกอยู่ไว้เก็บไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามในเวลานั้นรัฐบาลเมืองปีนัง ยังอนุญาตให้ดีบุกของบางบริษัทส่งออกไปได้ แต่ไม่นานนักบริษัททั้งสองก็รับซื้อแร่เป็นปกติ
เกี่ยวกับการขนส่งทางเรือ ในสมัยพระยาสุรินทราชา เป็นสมุหเทศาภิบาลได้รายงานว่า รัฐบาลอังกฤษได้กวดขันการขนส่งสินค้าจากหัวเมืองขึ้นของอังกฤษเข้ามายังมณฑลภูเก็ต การที่ต้องอาศัยเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศลำบากมาก ถ้าใช้เรือของไทยคือ เรือวิเทศไปช่วยเหลือก็จะดีมากเพราะขณะนั้นใช้เรือถลางลำเล็กเกินไป หรือจะใช้บริษัทเดินเรือในกรุงเทพฯ ไปเดินเรือแถบชายฝั่งทะเลตะวันตก หรืออาจจะให้เงินอุดหนุนเรือของมลายูให้เดินตามหัวเมืองเหล่านั้นตามที่เราต้องการ พระยามหาอำมาตยาธิบดีเห็นว่าเรือวิเทศใช้ได้ตลอดฤดูกาลเพียงลำเดียว แต้เกรงว่าจะติดขัดด้วยกรมทหารเรือ สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯว่าไม่สามารถจะจัดได้ เพราะสินค้ามีไม่เพียงพอไม่ต้องการแข่งกับเรือเมล์เล็ก ๆ ที่เดินอยู่แล้ว มีทางเดียวคือติดต่อกับเรือเมล์สเตรดเซตเติลเมนต์ คือบริษัทอิสเติร์นชิปปิงค์หรือบริษัทบีไอ เป็นต้น ให้พระยาสุรินทราชาทาบทามดู เรื่องนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดีว่าการขนส่งทางน้ำลำบากมากมานานแล้ว เกี่ยวกับสงครามในยุโรป แต่ถ้าถึงกับอับจนเสบียงอาหารก็จำเป็นต้องใช้เรือเมล์เล็กชายฝั่งช่วยเหลือได้
อาชีพอื่น ๆ ของชาวถลางนั้นได้แก่การทำนาซึ่งมีเนื้อที่น้อยไม่พอที่จะเลี้ยงพลเมืองได้ทั่วจึงต้องซื้อข้าวสารจากเมืองตะกั่วทุ่ง บางคลีและจากเมืองไทรบุรี นอจากนี้มีการต่อเรือกำปั่น เรือสลุบ การทำไร่และเลี้ยงสัตว์เพียงเล็กน้อย
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|