ภูเก็ตกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ ภูเก็ตเป็นจุดยุทธศาสตร์จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ เมื่อก่อนทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จากแถลงการณ์รัฐบาลไทยขณะนั้นว่า ตั้งแต่เวลา ๐๒.๐๐ น. กองทหารญี่ปุ่นได้เข้าสู่ประเทศไทยในทะเลจังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และบางปู ส่วนทางบกได้ยกเข้าทางพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงคราม เกือบทุกแห่งทหารและตำรวจได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง ไทยจำต้องให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
เข้าใจว่ากองทหารญี่ปุ่น ได้ยกขึ้นภูเก็ตในเวลาเดียวกันดังกล่าวแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในแถลงการณ์ของรัฐบาลและหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ มิได้กล่าวถึงภูเก็ตเลย กองทหารญี่ปุ่นได้แยกย้ายกันไปประจำที่ตำบลราไวย์ หาดสุรินทร์ สามกอง บางงั่ว ท่าแครง เป็นต้น ญี่ปุ่นโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามกับตนในขณะนั้นคือ อังกฤษซึ่งมีกองทหารประจำอยู่ตามเมืองขึ้นต่าง ๆ เช่นพม่า มลายู เครื่องบินญี่ปุ่นได้บินไปทิ้งระเบิดที่เมืองมะริด วิกตอเรียปอยต์ ปีนัง ไทรบุรี ฮ่องกง เสียหายมาก ข้างฝ่ายอังกฤษ หรือสหประชาชาติได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่เมืองสงขลา นครสวรรค์ และหัวหินแต่ไม่ร้ายแรงนัก
ฝ่ายพันธมิตรของญี่ปุ่นมีอิตาลีและเยอรมัน อิตาลีได้ส่งเรือรบมาลาดตระเวนร่วมกับญี่ปุ่น ฝ่ายสหประชาชาติมีอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น ได้รุกรบญี่ปุ่น อิตาลีและเยอรมัน และได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่มั่นของญี่ปุ่นที่ภูเก็ต เรือรบอิตาลีถูกจมหลายลำที่บริเวณเกาะตะเภาและอ่าวขาม เครื่องบินบี.๒๔ เครื่องบินสองเครื่องยนต์และสี่เครื่องยนต์ได้ยิงกราดด้วยปืนกลและได้ทิ้งตอร์ปิโด จมเรือสินค้าที่แล่นระหว่างท่าเรือกันตังกับภูเก็ต เสียหายหลายลำ เช่น เรือถลางเป็นต้น สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะข้าวสารที่ลำเลียงมาภูเก็ตถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก ต้องหลบซ่อนลำเลียงด้วยเรือเล็กเลียบฝั่งเวลากลางคืน ข้าวสารในเมืองภูเก็ตจึงขาดแคลนต้องใช้วิธีปันส่วน การซื้อข้าวสารด้วยการใช้ใบสำมะโนครัว ซื้อได้ตามที่ทางการกำหนดว่าครอบครัวหนึ่งมีกี่คนซื้อได้เดือนหนึ่งกี่กิโลกรัม ตามรายชื่อในสำมะโนครัว แล้วคนยากจนจะหาเงินที่ไหนไปซื้อให้ได้ตามที่กำหนด จึงต้องหันเหชีวิตไปอีกทาง บ้างก็ทำไร่ข้าวและหักร้างถางป่าทำนา ต้องใช้หัวเผือกหัวมันปนลงในข้าวที่หุง หรือหาหัวกลอยมากินแทนข้าว เครื่องใช้บริโภคอย่างอื่นแพงและหายาก เช่น เสื้อผ้า ด้าย น้ำมัน ยา เป็นต้น ครอบครัวที่ยากจนต้องใช้กระสอบข้าวสารมาเย็บเป็นผ้าถุง กางเกงใส่กัน ใช้ด้ายทำจากใยสับปะรดที่ปลูกไว้ในสวนข้างบ้าน เสื้อผ้าเหล่านั้นปะชุนจนหาเนื้อผ้าเดิมแทบไม่เห็น ชาวภูเก็ตจำนวนมากจึงสาหัสจากสงครามคราวนั้น
อย่างไรก็ตามพวกพ่อค้าที่ค้าขายกับญี่ปุ่น ปรากฏว่าร่ำรวยกันหลายราย และที่คดโกงญี่ปุ่นจนถูกจับได้และถูกลงโทษด้วยการใช้สบู่สวนทวารก็มี หรือบางพวกใช้ทรายปนข้าวสารเอาไปขายให้คนยากจน คนที่มีฐานะอาจซื้อหาอาหารมารับประทานง่าย เช่น อาหารกระป๋องของญี่ปุ่นเป็นต้น ทางรัฐบาลไทยได้จัดส่งข้าวสารไปช่วยภาคใต้เป็นจำนวนหมื่นกระสอบ โดยบรรทุกเรือสาบไตยและเรือชิงชัย
ในขณะที่ภูเก็ตถูกเครื่องบินสหประชาชาติยิงกราดด้วยปืนกล และตอร์ปิโดเช่นที่สะพานหินและวัดฉลองเป็นต้น คนในตลาดต้องขุดหลุมหลบภัยตามสวนหลังบ้าน หรือบริเวณวัด บางครอบครัวอพยพไปอาศัยตามหมู่บ้านชนบท การแจ้งสัญญาณอันตรายนั้นใช้เสียงหวอของโรงไฟฟ้า กลางคืนห้ามตามตะเกียง หลังจากสงครามสงบแล้วชาวภูเก็ตก็ต้องลำบากยากจนอีกหลายปีโดยเฉพาะขาดแคลนข้าวสาร
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|