การพัฒนามณฑลภูเก็ต
ในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อปรับปรุงพัฒนามณฑลนี้ คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พระยศสมัยนั้น) พระยาสุริยานุวัตร์เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พระยาสุขุมนัยพินิจ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ มิสเตอร์เวสเตนกาด ผู้ช่วยและที่ปรึกษาราชการพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต คณะกรรมการได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพฯ ในเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำนุบำรุงมณฑลภูเก็ตจำแนกได้ ๘ หัวข้อคือ ๑. ภาษีฝิ่น ๒. เรื่องการธนาคาร ๓. เรื่องกุลี ๔. เรื่องจะย้ายที่ว่าการเมืองภูเก็ตให้ที่ทำเหมือง ๕. เรื่องกรมแร่ ๖. เรื่องทำแผนที่ ๗. เรื่องทำถนน ๘. เรื่องสร้างทางรถไฟ
เรื่องภาษีฝิ่น ในมณฑลภูเก็ตแพงกว่าที่ขายในหัวเมืองมลายูของอังกฤษถึง ๒ เท่า ทำให้ค่าโสหุ้ยในการทำเหมืองสูงขึ้น เพราะคนงานต้องเรียกร้องค่าจ้าง จะต้องคิดอ่านทำให้ราคาฝิ่นในมณฑลภูเก็ตลดลงไล่เลี่ยกับหัวเมืองมลายู เพื่อจะได้ใช้ทุนในการทำเหมืองน้อยลง และหาคนมาทำงานได้มากขึ้น ถ้ารัฐบาลต้องการจะลดก็ต้องให้รัฐบาลจัดการผูกขาดทำเองจึงจะได้ จึงให้พระยารัษฎาฯ ไปตรวจตราดูว่า ภาษีฝิ่นในมณฑลภูเก็ต ที่รัฐบาลทำเองจะควรจัดอย่างไร จะขายในราคาเท่าไร ให้พระยารัษฎาฯทำเรื่องเสนอต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
เรื่องการธนาคารหรือแบงค์ ผู้อำนวยการบริษัทชาเตอร์แบงค์ ที่เมืองปีนังได้ยื่นหนังสือต่อพระยารัษฎาฯ ขอจัดตั้งสาขาชาเตอร์แบงค์ที่ภูเก็ต ถ้ารัฐบาลพอใจจะต้องสนับสนุนบริษัท ๒ อย่าง คือ ให้สถานที่จัดตั้งและให้เงินแก่ธนาคารปีละ ๕๐๐ ปอนด์ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี เหมือนกับรัฐบาลมลายูของอังกฤษ ได้อุดหนุนให้ธนาคารจัดตั้งตามหัวเมืองต่าง ๆ เรื่องนี้คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่า บรรดานายเหมืองโดยมากได้ไปกู้ยืมเงินมาจากเมืองปีนังต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๖-๑๘ อันเป็นเป็นภาษีหนักแก่นายเหมือง บริษัทอังกฤษสเตรดดิงกำปะนีได้มาตั้งร้านรับซื้อดีบุกที่ภูเก็ตส่งไปถลุงที่สิงคโปร์ บริษัทได้ทดรองจ่ายให้นายเหมืองแล้วใช้คืนด้วยดีบุกต่อไป ดีบุกก็จะไปตกแก่บริษัทนี้มากขึ้นทุกที เพราะบริษัทใช้วิธีการธนาคารเข้ามาปะปนกับธุรการซื้อแร่ของบริษัท ทำให้บรรดานายเหมืองที่มีทุนน้อยเสียเปรียบมาก ถ้ามีธนาคารเข้ามาตั้ง นายเหมืองหาทุนกู้โดยเสียดอกเบี้ยน้อยลง นับได้ว่าประโยชน์ต่อการทำเหมือง รัฐบาลได้พิจารณาตามคำขอของธนาคารชาเตอร์ และได้เรียกผู้แทนธนาคารดังกล่าวที่อยู่ในกรุงเทพฯตกลงกัน
เรื่องกุลี (กรรมกร) ทำเหมืองมณฑลภูเก็ตนั้น ด้วยในขณะนั้นกุลีไม่พอกับความต้องการของเหมือง จึงเป็นเหตุให้ค่าจ้างแพงกว่าหัวเมืองมลายูของอังกฤษถึง ๒ เท่า เดิมผู้ว่าราชการมณฑล ได้รับผูกขาดทำภาษีอากรผลประโยชน์ทุกๆ อย่างในเมืองนั้นๆ ผู้ว่าราชการเมืองต้องลงทุนของตนเอง ไปรับกุลีมาเข้าเมืองของตน ถึงแม้ว่าจะขาดทุนในการไปรับกุลี แต่ได้ผลประโยชน์อย่างอื่น เพราะมีคนมาทำงานมากขึ้น เมื่อรัฐบาลจัดการเก็บภาษีเสียเองแล้ว การหาคนทางรัฐบาลมิได้จัดหาให้ นายเหมืองจึงต้องหาเอาเองจากปีนัง สิงค์โปร์ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องใช้กุลีมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่มีทางที่จะทำได้คือจัดหาเรือรับกุลีจากเมืองจีนมาโดยตรง โดยไม่ต้องแวะท่าเรือใดๆ ในอาณานิคมของอังกฤษ แต่การหาเรือนั้นทางรัฐบาลควรจัดหาให้ด้วย ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้จัดงบประมาณในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ไว้ ๘๐๐๐๐ บาท สำหรับจัดหากุลีเข้ามามณฑลภูเก็ตให้พระยารัษฎาฯไปจัดดำเนินการ
เกี่ยวกับเรื่องย้ายที่ว่าการเมืองภูเก็ต โดยใช้ที่ดินตรงนั้นทำเหมือง แต่เดิมได้สร้างที่ว่าการตรงบริเวณที่ที่มีการทำเหมืองเปิดโดยรอบ จนบริเวณที่เหล่านั้นได้ขุดเอาแร่หมดแล้ว แต่ยังมีแร่อยู่ตรงที่ที่ตั้งเมืองคือสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมทั้งที่ของราษฎรที่อยู่ติดกับที่ราชการดังกล่าว มีแร่ดีบุกมากและมีคนอยากจะเปิดเป็นเหมือง และจะยอมให้ค่าเสียหายที่รัฐบาลต้องรื้อย้ายที่ทำงานในที่ใหม่ จำนวนเงินประมาณแสนถึงสองแสนเหรียญ และผู้ที่มาขอทำเหมืองได้ข้อร้องให้รัฐบาล ช่วยซื้อที่ดินของราษฎรบริเวณนั้นด้วยหากให้เขาซื้อเองราษฎรอาจโก่งราคา ไม่สามารถจะซื้อได้ แล้วรัฐบาลจึงขายให้พวกเขาทีหลัง คณะกรรมการเห็นว่า ความคิดที่จะย้ายอาคารเมืองภูเก็ตไปตั้งที่อื่นนั้นเป็นการดี เพราะที่เก่าตั้งอยู่ติดตลาด ตึกที่ใช้อยู่เป็นตึกจีนของเก่า หากย้ายไปใหม่ไม่ต้องใช้ราชทรัพย์มากและเป็นสง่าแก่บ้านเมืองยิ่งขึ้น เมื่อขายให้พวกนายเหมืองแล้ว ที่เหล่านั้นก็ตกเป็นของรัฐบาลอีกตามพระราชบัญญัติการทำแร่ และใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปได้
เรื่องการจัดกรมแร่ คณะกรรมการเห็นพ้องกันว่า ต้องจัดวางแผนกรมแร่แก้ไข ให้เหมาะสมแก่ความต้องการของบ้านเมือง แต่ติดขัดด้วย มิสเตอร์สก๊อต เจ้ากรมแร่จะออกจากราชการ และรองเจ้ากรรมก็ถึงแก่กรรม ท่านเสนาบดีได้แจ้งแก่คณะกรรมการว่า ต่อไปเจ้ากรมแร่จะไม่ใช้ชาวต่างประเทศ
เรื่องการทำแผนที่มณฑลภูเก็ต คณะกรรมการเห็นว่าต้องทำแผนที่เฉพาะเกาะภูเก็ตก่อน เพราะรัฐบาลจะทำนุบำรุงเมืองภูเก็ตด้วยการทำถนนหนทางก่อนอื่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้แผนที่จึงจำเป็นต้องย้ายเจ้าพนักงานแผนที่จากมณฑลชุมพร มาทำแผนที่เกาะภูเก็ต
เรื่องการทำถนน การทำท่าเรือและถนน โดยเฉพาะการทำท่าเรือเมืองภูเก็ตได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทำสัญญากับนายเอ็ดเวิร์ด โทมัส ไมล์ ชาวเมืองทัสมาเนียประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ว่า รัฐบาลอนุญาตให้กัปตันไมล์ใช้เรือขุด ขุดแร่ดีบุกในท้องทะเลอ่าวภูเก็ตได้ และทางกัปตันไมล์รับจะขุดร่องน้ำให้เรือใหญ่ เข้าไปจอดบรรทุกได้ถึงท่าหน้าเมืองภูเก็ต กัปตันไมล์ได้ทำการขุดอยู่แล้ว ๒ ลำ เรื่องการทำถนนในมณฑลภูเก็ตนั้น มีปัญหาเรื่องเงินอย่างเดียว เพราะรัฐบาลได้ให้งบประมาณเพียงหนึ่งแสนบาทแต่ยังไม่พอ ควรได้รับสองแสนบาท
จากรายงานนี้เราพอมองเห็นได้ว่า การทะนุบำรุงเมืองภูเก็ตนอกจากพระยารัษฎาฯมีนโยบายเฉียบแหลมแล้ว ทางราชการยังได้ให้ความร่วมมือแก่ประชาชนด้วยดี ดังกรณีย้ายที่ทำการต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจนนโยบายของพระยารัษฎาฯที่ทำสัญญากับกัปตันไมล์ การพัฒนาภูเก็ตจะหวังพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลทั้งหมดย่อมไม่ได้เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายมาก พระยารัษฎาฯจึงต้องใช้นโยบายพึ่งตนเองเสียเป็นส่วนมาก
จากรายงานเสนาบดี เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่๖) ประทับเป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมพระนามและนาม ๑๑ ท่าน เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงษ์วรเดช กรมหลวงเรศร์วรฤทธิ์ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระยาสุขุมนัยวินิต เป็นต้น จากระเบียบวาระการประชุมในข้อ ๒ เรื่องเงินสำหรับบำรุงเมืองภูเก็ตว่าจากหนังสือพระยาสุขุมนัยวินิตทูลเกล้า ฯ ถวายความว่า การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมฯ ไปตรวจราชการเมืองไทรบุรีและเมืองภูเก็ตนั้น ทางเมืองภูเก็ตเกี่ยวแก่การโยธาใครๆ ก็เห็นด้วยกันหมดว่า ควรจะต้องจัดทำโดยเร็วที่สุด ถ้าเสนาบดีโยธาไปตรวจแล้วจะทำสิ่งต่างๆเหล่านั้น ถ้าไม่ได้ทำก็จะเสียพระเกียรติยศ เมืองภูเก็ตนี้ไปตรวจกันมาหลายครั้งแล้วกลับมาก็คงมีความเห็นร่วมกันว่า เป็นเมืองที่สมควรจัดการทำนุบำรุง โดยมากเกี่ยวกับการโยธาบำรุงการไปมาค้าขาย แต่พอพูดกันถึงเรื่องเงินพากันเงียบหมด การไปตรวจจึงต้องกำหนดเรื่องเงินไว้ก่อนที่ประชุมจึงให้พระยาสุขุมฯ รับหน้าที่ด้านโยธาพัฒนาภูเก็ตในวงเงินสองแสนบาท
เกี่ยวกับเรื่องถนนในเมืองภูเก็ต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ขณะที่ประพาสตามถนนในเมืองภูเก็ตทรงตรัสว่า ภูเก็ตนี้เป็นเมืองดีบุกไปทางไหนพบแต่ขุมเหมืองซึ่งทำประโยชน์ให้ภูเก็ตมาก คนทำเหมืองรวยแล้วก็สร้างตึก ถนนดีได้เพราะเหมือง คือเอาก้อนหินจากขุมเหมือง คือพระยารัษฎาฯ สั่งไม่ให้ทิ้งให้เก็บไว้มาโรยทำถนน ใครขอทำเหมืองพระยารัษฎาฯให้ทำสัญญาทำถนนให้ด้วย ในวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้เสด็จไปเปิดถนนเชื่อมถนนเมืองภูเก็ตเมืองถลาง ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระอริยกระวี เจ้าคณะมณฑลเป็นประธาน หม่อมเจ้าประดิพัทธ์ เกษมศรี ปลัดมณฑล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเปิดแล้วพระราชทานนามถนนว่า ถนนเทพกระษัตรี ตามนามท้าวเทพกระษัตรี ถนนนี้ห่างจากริมหัวถนนโรงพยาบาลประสาทมณฑล ไปจนถึงที่ว่าการอำเภอถลางประมาณ ๔๐๐ เส้น ยังตัดไม่ถึงท่ามะพร้าวเพราะสะพานยังทำไม่เสร็จ วันที่ ๒๘ เดือนเดียวกันเสด็จไปเปิด ถนนวิชิตสงคราม ตามนามท่านพระยาวิชิตสงคราม(ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)จางวางเมืองภูเก็ตซึ่งเป็นผู้ตั้งเมืองภูเก็ตใหม่นี้ขึ้นเป็นเมือง ถนนทางไปไปกะทู้นี้ผ่านวัดเก็จ ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองภูเก็ตเก่า เป็นถนนคล้ายบ่วงโอบเหมืองและหมู่บ้านกะทู้ไว้ยาวประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ สำหรับค่าแรงทำถนนนั้นพระยารัษฎาใช้แรงนักโทษทำทั้งนั้น ได้เงินจากค่าป่วยการจากคนทำเหมืองและจากเจ้าของที่ดินที่ถนนตัดผ่าน
เรื่องกรรมกรเหมืองหรือกุลีนั้น ได้เกิดเรื่องทะเลาะกันขึ้นระหว่างนายเหมืองกับกุลีจากหนังสือของพระยารัษฎาฯ มีไปถึงกรมพระยาดำรงฯ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ว่าที่เมืองภูเก็ตนายเหมืองแร่ดีบุกขาดทุนต้องหยุดเสียก็มาก พระยารัษฎาฯคิดว่าหลังตรุษจีนแล้วเหมืองจะต้องหยุดอีก พวกนายเหมืองกับกุลีเวลานั้นทุ่มเถียงกันมาก เพราะนายเหมืองไม่มีเงินตามสัญญาไว้และได้มาร้องต่อพระยารัษฎาฯ วันละหลายร้อยคน พระยารัษฎาฯได้ให้ดูสัญญาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยหลายราย เหตุที่เกิดเรื่องเพราะดีบุกราคาตก จึงทำให้บ้านเมืองพ่อค้าราษฎรทรุดโทรมมาก จากหนังสือตอนหนึ่งกล่าวว่า แต่เมืองภูเก็ตนี้ ธรรมเนียมที่นายเหมืองกับกุลีได้สัญญากันและกันโดยปาก ในเรื่องระเบียบการทำงานกับเงินค่าแรงมาทั้งแต่โบราณไม่เป็นระเบียบอันดี แต่เมืองเอฟเอ็มของอังกฤษ รัฐบาลได้จัดตั้งให้เป็นระเบียบ งานของเขาจึงเดินกว่าเมืองภูเก็ต ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้ามาเมืองภูเก็ต ก็ได้แนะนำนายเหมืองหลายครั้ง จะให้เปลี่ยนธรรมเนียมเสียใหม่นายเหมืองไม่เห็นด้วย ในเวลานี้โอกาสอันดีที่ข้าพระพุทธเจ้าจะได้จัดการวางระเบียบใหม่ให้กับนายเหมืองและกุลีต่อไป นายเหมืองก็ยอมทุกคน ก็ได้เล่าการที่จะจัดขึ้นใหม่ในปีหน้าให้เป็นระเบียบต่อไปให้พวกกุลีฟัง พวกกุลีก็มีความยินดี การที่จะจัดนั้นในใจความก็จะให้กุลีทำงานให้มากขึ้นถึงวันละ ๙ ชั่วโมง ฝ่ายนายเหมืองก็คิดค่าแรงให้มากขึ้นเหมือนกัน พอกุลีจะอยู่ทำได้ พวกกุลีต้องออกเงินเดือนๆ ละ ๕ อัฐ ให้กับโรงพยาบาล โรงพยาบาลจะจัดตั้งหลายแห่งหลายตำบล เมื่อกุลีป่วยไข้จะได้มารักษาโดยไม่ต้องเสียอะไร... จะเห็นได้ว่านโยบายการปกครองระหว่างนายเหมืองกับกุลีกับกุลีของพระยารัษฎาฯ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งคู่กรณีและทางบ้านเมือง เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|