สมัยกรุงศรีอยุธยา
ล่วง มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระเจ้าอู่ทองได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ แยกเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงสุโขทัยอีกต่อไป เป็นไทยทางใต้ พระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง ทรงจัดเมืองป้อมปราการขึ้นในทั้งสี่ทิศ คือ ทิศเหนือ ถึงเมืองลพบุรี ทิศตะวันออกเมืองนครนายก ทิศใต้เมืองพระประแดง ทิศตะวันตกเมืองสุพรรณบุรี หัวเมืองชั้นในมีเมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองพรหมบุรี เมืองจันทบุรี เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองใหญ่ที่ห่างออกไปที่เรียกว่า เมืองพระยามหานคร เมืองจันทบุรี อยู่ทางทิศตะวันออก ทางทิศใต้เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และเมืองถลาง ทางทิศตะวันตกมีเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เมืองเชียงกราน จะเห็นได้ว่าในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระราชอาณาเขตกว้างขวางมากและกล่าวกันว่าถึงตลอดแหลมมลายู
ชาว ยุโรปที่เดินเรือเข้ามาค้าขายเป็นชาติแรก ในประเทศสยามได้แก่ ชาติโปรตุเกส เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ หลังจากนั้นมีชาวฮอลันดา ฝรั่งเศส และอังกฤษเข้ามาค้าขายนอกจากการขายสินค้าแล้วจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งก็ คือ การเผยแพร่คริสต์ศาสนาโดยมีพวกบาทหลวงร่วมเดินทางมาด้วย แต่ในสมัยหลังกลายเป็นการแสวงอาณานิคม เพื่อขยายอิทธิพลทางทะเลของชาติตน
จากงานเขียนของ กัลวาโน (Gulvano) ซึ่งตีพิมพ์ประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๐ ได้กล่าวถึงอัลบู๊ก (Albuquerque) ว่าได้ส่งคณะสอนศาสนามายังสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ ผู้ที่เดินทางผ่านเกาะนี้คือ เฟอร์นานเดช (Duarte Fernandes) ได้เรียกเกาะนี้ว่า อุนซาลัม (Iunsalam) ในพ.ศ. ๒๐๘๒ เมนเดช ปินโต (Mandez Pinto) ได้เดินทางผ่านบ้านท่าเรือของเกาะถลาง ซึ่งขณะนั้นพวกโปรตุเกสมีอิทธิพลอยู่ ใน พ.ศ. ๒๑๒๓ นาย ราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch) ได้บันทึกการเดินทางของเขาว่าได้ผ่านเกาะนี้ (Iansalaon) ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๒๖-๒๑๓๕ ลินสโคเตน (Linschoten) ได้กล่าวไว้ว่า ทิศตะวันตกของเมืองเคดะห์ ซึ่งไปตรงทางฝั่งเดียวกันทางใต้ 8 องศาครึ่ง มีเกาะกันสลัน (Gunsalan) ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก ใน พ.ศ. ๒๑๓๕ เอ็ดมันด์ บาร์เกอร์ (Edmund Barker) นายเรือประจำกองเรือของ เซอร์ เจมส์ แลงคัสเตอร์ (Sir James Lancuster) ได้จอดและพักในเกาะนี้ (Junsalaon) ฮักลุยต์ (Hakluyt) ได้เดินทางผ่านเกาะนี้และเรียกเกาะนี้ว่า (Juncalaon) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๑
บริษัทดัทซ์ อีสต์ อินเดีย (Dutch East India Company) ได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ปัตตาเวีย ต่อมาได้ขยายมายังประเทศสยาม ในปี พ.ศ. ๒๑๔๔ ฮอลันดาได้เริ่มตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ปัตตานีโดยได้รับอนุเคราะห์จากนาง พระยาตานี เช่นเดียวกับชาติโปรตุเกส ญี่ปุ่นและจีน ต่อมา คอร์เนลิส สเป๊ก (Cornelis Specx) ได้เป็นทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทย ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใน พ.ศ. ๒๑๔๗ พระองค์โปรดฯให้ชาวฮอลันดาตั้งสถานีการค้าขายได้ในกรุงศรีอยุธยา และเมืองปัตตานี ต่อมาฮอลันดาได้จัดตั้งสถานีการค้าขึ้นตามเมืองต่างๆ และได้จัดตั้งที่เมืองถลางด้วย ประมาณ พ.ศ. ๒๒๑๓ เพื่อจัดซื้อดีบุก
อันโตนีโย โบคาร์โร (Antonio Bocarro) ได้เดินทางผ่านเกาะนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๙ เขาเรียกเกาะนี้ว่า จังซาเลา (Juncalao) ในปีเดียวกันนี้ พวกบาทหลวงคณะเยซูอิตได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาเป็นคณะแรก โดยมีบาทหลวงชาวโปรตุเกส ชื่อ บัลธาซอ เดอ เซเกอิรา (Balthazar de Sequeira) ล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๑๖๔ บาทหลวงคณะ เซ็นต์โคมินิก และ ฟรานซิสกัน จึงได้เดินทางเข้ามา ในปี พ.ศ. ๒๑๘๒ มันเดลสโล (Mandelslo) ได้กล่าวถึงเกาะนี้ว่า จังซาเลา (Juncalao) แต่เขาเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะมะละกา เดอ บัวส์ (M. De Bourrges) ได้กล่าวถึงเกาะนี้ว่า (Iansalam) เป็นเมืองหนึ่งในสิบเอ็ดหัวเมืองของราชอาณาจักรสยาม ใน พ.ศ. ๒๒๒๐ อังกฤษซึ่งตั้งห้างอยู่ ณ สุรัตได้ติดต่อกับผู้รับผิดชอบทางการค้าของอังกฤษในกรุงศรีอยุธยา กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงเรื่องแร่ดีบุกถูกขโมยที่เมืองถลาง
ใน สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใน พ.ศ. ๒๑๔๗ พระองค์โปรดฯให้ชาวฮอลันดา ตั้งสถานีการค้าขายได้ในกรุงศรีอยุธยา และเมืองปัตตานี ต่อมาฮอลันดาได้จัดตั้งสถานีการค้าขึ้นตามเมืองต่างๆ และได้จัดตั้งที่เมืองถลางด้วย ประมาณ พ.ศ. ๒๒๑๓ เพื่อจัดซื้อดีบุก
ล่วงมาถึงสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นสมัยเฟื่องฟู และรุ่งเรืองมากในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยกาต้อร์ส (ที่ ๑๔) เพื่อประโยชน์ในด้านการค้าขาย จึงได้มีการทำสัญญากันระหว่าง เชวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ตามสัญญาข้อ 6 ได้กล่าวว่า ทางฝรั่งเศสขอค้าขายดีบุกที่เมืองถลาง และเมืองขึ้นของเมืองถลางได้แต่ฝ่ายเดียว โดยห้ามมิให้ประเทศอื่น ๆ ค้าขายที่เมืองนี้ และขออนุญาตตั้งห้างร้านที่ใดที่หนึ่งในเกาะนี้ และทางฝรั่งเศสจะส่งเรือบรรทุกสินค้ามายังเมืองถลางปีละลำทุกปี และขออนุญาตตั้งห้างร้านที่ได้ขอมา แต่การสร้างห้างนั้นจะต้องส่งแบบมาให้เสนาบดีฝ่ายสยามดูก่อน เมื่อได้อนุญาตให้สร้างแล้วจะต้องสร้างตามแบบจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ทางบริษัทฝรั่งเศสจะต้องจัดหาสินค้าต่าง ๆ ที่จำเป็นของชาวเมืองถลางและเมืองขึ้นของเมืองนี้เข้าไปจำหน่ายให้แก่ พลเมืองมิให้ขาดแคลน ถ้าหากบริษัทไม่สามารถจัดหาสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายแล้ว ชาวเมืองถลางและเมืองขึ้นของเมืองถลาง อาจจะไปติดต่อซื้อขายกับชาวประเทศอื่น ๆ ได้ ทางบริษัทจะหาว่าทำผิดสัญญาข้อนี้ไม่ได้ มิเช่นนั้นแล้ว ทางไทยอาจเรียกเก็บภาษีดีบุกในเมืองถลาง และเมืองใกล้เคียงตามธรรมเนียมที่เคยทำมาแล้ว ทางบริษัทจะคัดค้านอย่างใดมิได้ สัญญานี้ทำกันที่เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ทางฝ่ายไทย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นผู้ลงนาม บาทหลวงเดอชัวซี (Abbe de Choisy) ผู้ช่วยทูตได้กล่าวไว้ว่า เกาะถลาง (Joncelang) เป็นท่าเรือที่อุดมด้วยแร่ดีบุกเมืองหนึ่ง ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู
อนึ่ง ต่อมาในพ.ศ. ๒๒๓๐ ไทยได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสใหม่ โดยมี ซีมอง เดอ ลาลูแบร์ (Cemont de La Loubere) เป็นราชทูตเข้ามา สัญญาฉบับนี้มีข้อหนึ่งคล้าย ๆ กับข้อความข้างบน คือ ถ้าบริษัทฝรั่งเศสต้องการซื้อดีบุกที่เมืองถลางบางคลี ก็ให้ซื้อขายกันได้ สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสตั้งร้านซื้อขายกัน มิให้บุคคลอื่นใดซื้อนอกจากบริษัทฝรั่งเศส ถ้าหากใครลักลอบซื้อก็ให้ริบเอาเป็นของหลวง ให้ราษฎรชาวเมืองจัดหาดีบุกมาขายอย่าให้ขาดและห้ามมิให้บริษัทฝรั่งเศส ขึ้นลงราคาซื้อทำให้ราษฎรเดือดร้อน สำหรับส่วยสาอากรดีบุกให้ชาวคลังเรียกเอาตามความเหมาะสม สัญญาฉบับนี้ ลาลูแบร์ เป็นผู้บันทึกไว้เมื่อเดือนสิบ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๒๓๑ นอกจากนี้เขายังได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า เมืองถลาง (Jonsalam) อยู่ในอ่าวเบงกอลมีแร่ดีบุกมาก เกลือแพงต้องสั่งซื้อมาจากเมืองจีน
เกี่ยว กับสภาพของเกาะภูเก็ต ใน พ.ศ. ๒๒๒๙ คอนสแตนตินฟอลคอนได้เขียนเล่าไปให้มองซิเออร์ ฟรังซัว มาแตง ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทฝรั่งเศสที่เมืองปอนดิเชรีว่า ฟอลคอนได้มาอยู่ที่เกาะถลางได้ปีหนึ่ง เกาะวัดโดยรอบยาวประมาณ ๓๕ ไมล์ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกแหลมมะละกา ห่างจากฝั่งระยะประมาณทางปืนสั้น และอยู่ระหว่าง ๖ และ ๘ องศาละติจูดเหนือ มีพลเมืองราว ๖๐๐๐ คน เกาะเต็มไปด้วยป่าไม้ทึบ มีเสือ ช้าง แรด และสัตว์อื่นๆ อาศัยอยู่ บางครั้งต้องรับประทานเนื้อแรดแทนเนื้อโค เกาะถลางไม่เป็นเมือง มีราษฎรอาศัยอยู่เป็นหมู่บ้าน ในระยะที่มองซิเออร์ เรอเน แชร์บอนโน มาเป็นเจ้าเมืองถลางอยู่นั้น (Rene Charbonneau) เป็นคนฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้มาเป็นผู้รักษาเมืองถลาง ได้สร้างป้อมขึ้นมีหอคอย ๔ หอสร้างด้วยไม้ พลเมืองในเกาะนี้เป็นคนป่าคนดง เป็นคนที่ไม่รู้จักกิริยาสุภาพซึ่งในประเทศสยามทั้งพระราชอาณาเขต ไม่มีที่ใดที่จะมีคนเลวทรามเช่นนี้เลย ชาวเกาะไม่ทำการงาน ที่แปลกอย่างใด เพียงตัดฟืน ทำนา และขุดดิน หรือร่อนหาดีบุกซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเมืองนี้ แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้า การค้าดีบุกนี้ได้กำไรมาก บริษัทฮอลันดาเคยตั้งห้างใหญ่ที่นี่มาแต่เดิม ราว ๑๔-๑๕ ปีมาแล้ว เหตุที่เลิกไปเพราะพวกฮอลันดาต้องการเอากำไรฝ่ายเดียว พวกชาวเมืองกับแขกมลายูที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ได้ช่วยกันกำจัดเสียสิ้น บริษัทฮอลันดาก็ยังหาตั้งคนมาอีกไม่ อากาศที่เมืองนี้ไม่ดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับชาวต่างประเทศ ที่ฝั่งใกล้กับเมืองนี้พลเมืองน้อยกว่าบนเกาะ มีเมืองเล็กๆ อยู่ ๔ เมือง ขึ้นตรงต่อเมืองถลาง เมืองหนึ่งมีชาวฝรั่งเศสชื่อ รีวาล เป็นผู้รักษาเมืองอยู่ราว พ.ศ. ๒๒๑๓ ได้มีบาทหลวงโปรตุเกสเข้ามาสอนศาสนาอยู่ได้ ๓ ปี ก็กลับไป มีผู้นับถือราว ๔ - ๕ ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด เป็นพวกคนดำ เที่ยวเร่ร่อนหากินตามเมืองต่างๆ บางคนหากินด้วยการลักขโมย ซึ่งสะดวกกว่าหากินวิธีอื่น ชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาค้าขาย ณ เมืองนี้ ต่างก็ได้เพาะลูกเพาะหลานไว้ในป่าในดง บิดาก็มิได้เอาธุระด้วยได้ทิ้งไว้ให้มารดารับผิดชอบฝ่ายเดียว เมื่อตนหมดธุระแล้ว ก็กลับเมือง เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษาอะไร และไม่ได้มีความเข้าใจในคริสเตียนของบิดาของตัวเองเลย อาชีพของคนเหล่านี้ นอกจากการขุดหาดีบุกแล้ว ก็มีการดำน้ำงมไข่มุกปีหนึ่งได้มากมาย แต่เม็ดค่อนข้างเล็ก และยังมีอำพัน มีคนพบปีหนึ่งราว ๔ - ๕ ปอนด์ โดยเก็บตามชายทะเลในฤดูพายุ คือระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน ตามชายทะเลเหล่านี้มีเจ้าพนักงานของพระเจ้ากรุงสยามคอยเก็บอำพัน เพราะถ้าทิ้งไว้พวก กวาง หมู่ป่ากินหมด การที่เกาะนี้มีดีบุกไข่มุกและอำพัน และเป็นเมืองชายแดน จึงนับได้ว่าเมืองนี้เป็นลูกกุญแจของประเทศสยาม และเป็นเมืองที่สำคัญของพระเจ้ากรุงสยามเมืองหนึ่ง
นิโกลาส์ แชร์แวส ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเมืองท่าของประเทศสยามว่า เมืองท่าที่สำคัญของอาณาจักรนี้ มีเมืองมะริด (Myrguim หรือ Mergui ในปัจจุบัน) กับเมืองโจนซาลาม (Jonsalam) เมืองโจนซาลามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแหลมมะละกา ราวองศาที่ ๘ ระหว่างผืนแผ่นดินใหญ่กับเกาะที่ใช้ชื่อนั้น ห่างกันประมาณสองลี้ แต่มีข้อเสียอย่างเดียว คือน้ำไม่ค่อยลึกพอที่จะให้เรือใหญ่เข้ามาเทียบได้ อย่างไรก็ตามเมืองนี้เป็นท่าเรือที่งดงามมาก และสามารถช่วยขนถ่ายสินค้า หรือเป็นที่หยุดพักของเรือที่จะเดินทางไป โคโรเมนเดล ทั่วราชอาณาจักรมีท่าเรือแห่งนี้ที่สามารถจะพำนักในหน้ามรสุมหรือพายุร้าย ได้ เมืองโจนซาลามมีความสำคัญมากแก่การการค้าของเบงกอล พะโคและอาณาจักรใกล้เคียง นอกจากเมืองท่าทั้งสองแห่งนี้แล้ว เขายังได้กล่าวถึงเมืองท่าทางทะเลด้านตะวันออกอีกที่สำคัญ เช่น เมืองปัตตานีและเมืองนครศรีธรรมราช จะเห็นว่าเมืองถลางหรือเกาะภูเก็ต แซร์แวส ใช้ว่า Jonsalam หรือโจนซาลามส่วนตามจดหมายเหตุของ ลาลูแบร์ ในช่วงระยะไล่เลี่ยกันแผนที่ราชการอาณาจักรสยามเขาใช้ Isle de Jun Calam
จาก จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดลานด์ มีไปถึงมองซิเออร์มารอง ผู้อำนวยการใหญ่ในประเทศสยาม เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๕ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เจ้าเมืองปัตตานีมีหนังสือเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงสยามเพื่อขอพระราชทานเกาะ ถลาง ให้แก่ชาติฮอลันดา และขอทำการค้าขายในเกาะนี้แต่เพียงชาติเดียว เรื่องนี้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เล่าให้เดลานด์ฟังและตนยังไม่ได้ถวายแก่สมเด็จพระนารายณ์ เดลานด์อยากจะได้เกาะนี้ให้กับบริษัทฝรั่งเศส จึงได้ยื่นหนังสือต่อเจ้าพระคลัง ขอให้ไทยยกเกาะถลางให้บริษัทฝรั่งเศส แต่พระยาพระคลังตอบไปว่าฮอลันดาได้ขอเกาะนี้แล้ว และจะเอาให้ได้ ถ้ายกให้ก็จะแตกร้าวกัน ให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนพนักงานของบริษัทด้วย
เมื่อ สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ พระองค์ไม่โปรดพวกฝรั่งเศส จึงให้ทหารจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ฆ่าเสีย ให้จับทหารฝรั่งเศสขังไว้ ส่วนกองทหารนายพลเดฟาซ์ ผู้บัญชาการกองทหารพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ซึ่งประจำอยู่ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ถูกล้อม นายพลจึงต้องทำสัญญาโดยตรงว่า จะยอมกลับเมืองโดยให้ไทยปล่อยคนที่ถูกจับแต่นายพลเดฟาซ์ทำผิดสัญญา คือเอาคนฝรั่งเศสที่เป็นตัวประกันและข้าราชการที่ติดต่อไปด้วย ฝ่ายไทยจึงจับพวกฝรั่งเศสที่ปล่อยไปแล้วกลับมาขังอีก ในขณะที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ทางกรุงปารีสก็ยังไม่ทราบ ฝ่ายนายพลเดฟาซ์ก็แล่นเรือออกอ่าวไทยไปพร้อมกับทหาร ๓๓๐ คน ไปถึงเมืองปอนดิเชอรี่ ม. มาร์แตง ผู้จัดการบริษัทฝรั่งเศสที่เมืองนั้นได้แนะนำให้เขาตีเมืองมะริด แต่เขาไม่เห็นด้วย จึงหลบมาที่เมืองถลาง พร้อมด้วยทหารเขายึดเกาะไว้ในปี พ.ศ. ๒๒๓๒ พร้อมทั้งมีหนังสือไปยังพระยาพระคลัง ทั้งขอให้มอบข้าวของแก่บุคคลนั้นด้วย ฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่านายพลเดฟาซ์แล่นเรือไปแล้ว และได้สอบสวนพวกฝรั่งเศสที่จับไว้ไม่ได้ความอะไรก็ปล่อยตัวไป แต่ทราบตอนหลังว่านายพลหวนกลับยึดเกาะอีก จึงจับพวกฝรั่งเศสขังอีก พร้อมทั้งมีจดหมายไปยังพนักงานที่เมืองถลาง ห้ามมิให้ส่งเสบียงอาหารหรือน้ำให้แก่พวกฝรั่งเศสเด็ดขาด ถ้าพวกฝรั่งเศสขึ้นเกาะให้จับกุมไว้ ต่อมาคนที่ฝรั่งเศสยึดตัวไว้ได้กลับไปกรุงศรีอยุธยา และได้แจ้งให้ทราบว่าฝรั่งเศสได้ออกจากเมืองถลางไปแล้ว ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้ทราบดังนั้นจึงปล่อยตัวชาวฝรั่งเศสที่จับไว้ บุคคลที่ถูกจับขังครั้งนั้นมี สังฆราช เมโตโลโมลิช แห่งวัดเซนต์โยเซฟ รวมทั้งบาทหลวงอื่น ๆ และพ่อค้าฝรั่งเศส
ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๓ - ๒๒๖๒ อเล็กซานเดอร์ แฮมินตัน (Captain Alexander Hamilton) กัปตันเรือได้เดินเรือค้าขายตลอดแหลมมลายู เขาได้บันทึกไว้ว่า เกาะถลาง (Jonkceyloan) อยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ระหว่างเมืองมะริดกับเมืองถลางมีท่าเรือดี ๆ หลายแห่ง แต่มีคนอาศัยอยู่น้อย เพราะมีโจรสลัดคอยรบกวน ด้านตะวันตกของเกาะนี้มี อ่าวป่าตอง (Puton) เหมาะแก่การจอดพักเรือในฤดูมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนระหว่างตัวเกาะกับผืนแผ่นดินใหญ่ เหมาะแก่การจอดเรือในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกาะนี้อุดมด้วยดีบุก มีผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นคนจีน
ใน สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ บ้านเมืองยุ่งเหยิงการปกครองหย่อนยาน แม้ตามหัวเมืองก็ไม่เว้น ดังจดหมายของมองเซนเยอร์ปรีโกต์ ลงวันที่ ๑๕ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๐๕ มีกล่าวไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับชาวถลางปล้นเรือชาติอังกฤษ เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะข้าราชการหัวเมืองที่ห่างพระเนตรพระกรรณ ว่า ข้าราชการที่เมืองถลางได้ปล้นเรืออังกฤษลำหนึ่ง ซึ่งหนีจากเมืองเบงกอลแวะเข้ามาที่เมืองถลางเพื่อหนีท่านเคาน์เตชแตง เรืออังกฤษลำหนึ่งเข้าไปซ่อมแซมที่ฝั่งเมืองแตร์แฟมใกล้กับเมืองโตยอง ซึ่งเป็นเมืองมีคนเข้ารีตมากที่สุดแถบเกาะถลางนี้ ครั้นเรือเข้าไปที่ท่า พวกไทยและมลายูในเมืองนั้นขึ้นปล้นเรือเก็บสินค้าในเรือจนหมด พวกข้าราชการได้ปิดบังความผิดของตน จึงอุบายบอกเล่าพวกเข้ารีตในเมืองโตยองเป็นผู้เข้าปล้น บาทหลวงคณะฟรานซิสกัน ชาติโปรตุเกสรูปหนึ่งถูกทรมานจนตาย ขณะรอการพิจารณาโทษและจดหมายอีกฉบับหนึ่งของมองเซนเยอร์ปรีโกต์ ไปถึงผู้อำนวยการต่างประเทศว่า ตนตั้งใจจะไปเมืองภูเก็ต เพราะคนไทยที่เมืองถลางได้เชิญให้ไปหลายครั้ง ขณะนั้นมีผู้เข้ารีต ๒ คน เข้ามากับเจ้าเมืองถลางและได้ชวนตนไปด้วยเช่นกัน ถ้าหากบ้านเมืองหายวุ่นวายแล้ว ตนก็จะกลับไปสอนศาสนาด้วยภาษาไทยที่เมืองภูเก็ต และกล่าวอีกว่าชาวถลางเหล่านั้นมีอาชีพเป็นชาวประมง จดหมายฉบับนี้เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๕
เกาะ ภูเก็ตนอกจากจะมีทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยุโรปต้องการแล้ว เมืองนี้ยังเป็นทำเลที่เหมาะแก่การจอดพักเรือเพื่อหาเสบียงอาหาร หรือน้ำจืดหรือซ่อมแซมเรือในภูมิภาคแถบนี้ ดังนั้นชาติยุโรปที่เดินทางผ่านมาจึงปรารถนาที่จะได้เป็นเจ้าของ ตั้งสถานีการค้าหรือวัตถุประสงค์สิ่งอื่น การทำสัญญาระหว่างชนชาติเหล่านั้นมักจะระบุถึงเกาะนี้เสมอมา ดังเช่นสัญญาฝรั่งเศส หรือเก่าขึ้นไปกว่านั้นคือ สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฮอลันดา ซึ่งทำกันมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๒๐๗ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับบิเอตเตอร์ เดอ ปิตเตอร์ และแจนเมทไซจ์เกอร์ และ สภาขุนนางอินเดียผู้มีอำนาจเต็ม ในนามประมุขผู้ปกครองสหภาพเนเธอร์แลนด์ ในบริษัทยูไนเต็ดอินเดียแถบย่านตะวันออกไกลได้ระบุข้อหนึ่งว่า บริษัทจะได้รับสิทธิในการค้าขายโดยเสรีปราศจากการรบกวนและข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้นทั้งในกรุงศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช, ถลาง (โอตจันลัง) รวมทั้งที่อื่นๆ ในพระราชอาณาจักรประเทศสยาม
ดัง ได้กล่าวแล้วว่ามีหลายชาติหลายภาษามาตั้งทำมาค้าขายที่เกาะถลาง นอกจากชนยุโรปแล้วยังมีชาวอินเดียแขกดำ ชนมลายู ชาวจีน ตลอดจนชนชาติอื่นๆ ในเอเชีย เมื่อมีบุคคลหลายชาติเช่นนี้ การแย่งทำมาหากิน โดยเฉพาะทางการค้าย่อมมีการทะเลาะกันหรือโกงกัน หรือไม่ก็แย่งกันเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว การรบราฆ่าฟันกัน การปล้นสะดมในเกาะนี้จึงมีเสมอ ถ้าหากฝ่ายใดไม่พอใจกันขึ้นมา ดังตัวอย่างเรืออังกฤษถูกปล้นโดยชนของเกาะนี้ดังกล่าวแล้ว และในสมัยก่อนนอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๔ พ่อค้าชาวดัทซ์ถูกฆ่าที่เมืองนี้ (อูเคียงซาลัง) ทางบ้านเมืองได้ส่งคณะทูตไปชำระความโดยส่งไปจากเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วย ออกญาพระเพชร เจ้าเมืองถลาง และ ชนมลายูอีก ๓ คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร อย่างไรก็ตาม พวกดัทซ์เองก็ได้ก่อความวุ่นวายขึ้นที่เกาะถลาง เช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๗ จากบันทึกของชาวสุรัตที่เคดะห์ โดยฟรานซิส คาเปล และโจชัวเบอร์เรอ มีจดหมายถึง เฟดเดอร์ค เดอ บัวส์ ที่พระนครศรีอยุธยา ว่าทางห้างได้รับความเสียหายจากพวกดัทซ์ที่ถลาง (จันสตาโลน หรือ จั้งซีลอน) โดยพวกนี้ได้ยึดสินค้าของบริษัทไว้ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายดังกล่าวแล้ว
สำหรับ ชนชาติอังกฤษ ได้ไปตั้งสถานีการค้าที่เมืองบันกุลัน ตรงฝั่งตะวันตกของสุมาตราส่วนฝั่งตะวันตก เป็นสถานีการค้าของฮอลันดา อังกฤษได้มาตั้งเมืองนี้ ราว พ.ศ. ๒๒๒๗ แต่เป็นทำเลที่ไม่เหมาะกับที่จอดเรือ และสถานีการค้าเพราะเกี่ยวกับมรสุมตะวันตก การแล่นเรือในฤดูนี้ลำบากมาก แต่อังกฤษก็ยังหาท่าเรือที่ดี ๆ แถบนี้ไม่ได้ เพราะท่าเรือที่ดีๆ ชาติฮอลันดาเข้าไปมีบทบาทหมดแล้ว เช่นเมืองมะละกา เป็นต้น
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
|